ไปอ่านเจอข่าวเกี่ยวกับประกันสังคมเข้าเมื่อ 2-3 วันก่อน เป็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องที่ประกันสังคมกำลังเร่งศึกษาเพื่อเตรียมวางแผนขยายเวลาในการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตน จากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี เชื่อว่าความรู้สึกแรกของทุกคนที่ได้อ่านข่าวนี้ถ้าเป็นผู้ประกันตนก็จะคิดเหมือน ๆ กันว่า โห! ขยายเวลาออกไปอีก นี่อยากจะให้ลดเวลาเข้ามา ถ้ารับเงินชราภาพได้ตั้งแต่อายุ 50 เลยจะดีกว่าไหม
ยังไม่ทันได้อ่านรายละเอียดเนื้อหาในข่าว ก็มีคำถามผุดขึ้นมาในหัวมากมาย ไม่ใช่ทุกคนจะอายุยืน ถ้าเสียชีวิตก่อนล่ะ ก็ไม่ได้ใช้เงินที่สะสมมาเลยสิ ที่จริงอยากจะได้เงินออกมาใช้ตั้งแต่ตอนนี้ แต่ก็คิดเอาน่ารอถึงอายุ 55 ก็ได้ แต่นี่อะไร! ต้องรอต่อไปอีก 5 ปีเหรอนี่ โอว! รอไม่ไหว คร่ำครวญเสร็จก็เรียกสติให้หันมาอ่านรายละเอียดเนื้อข่าวสักหน่อยค่ะ
ที่มาของแนวคิดมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่มีคำสั่งให้สำนักงานประกันสังคมไปทำการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายเวลารับเงินชราภาพของผู้ประกันตนออกไปจากเดิม 55 ปี เป็น 60 ปี โดยให้เหตุผลว่าเป็นการสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตของแรงงานในยามเกษียณอายุ โดยกฎหมายที่จะต้องมีการแก้ไขก็คือ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 การขยายเวลารับเงินชราภาพออกไปอีก 5 ปี ยังมีข้อดีตรงที่ผู้ประกันตนมีโอกาสอยู่ในระบบนานขึ้นเพื่อได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ จากประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าอายุถึงและต้องการรับเงินชราภาพจะต้องลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนเท่านั้น
อ่านไปอ่านมาก็ดูมีเหตุผล รัฐบาลกับประกันสังคมก็คงมีเหตุผลของเขา แต่เรายังไม่ค่อยเข้าใจ เอาเป็นว่าเงินที่จ่ายสมทบทุกเดือน ๆ ละ 750 บาท ส่วนที่เป็น 450 บาท กับอีกครึ่งหนึ่ง 450 บาท รวมเป็นเดือนละ 900 บาทสมทบเข้าในส่วนของเงินชราภาพเพื่อรอรับเป็นบำเหน็จก้อนเดียวกรณีที่ส่งเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน แต่ถ้าส่งครบ 180 เดือนก็จะได้รับเป็นเงินบำนาญรายเดือนสูงสุดเดือนละ 3,000 บาทไปจนตลอดชีวิต ไม่รู้ไม่สนเพราะเราอยากได้เงินเราคืนเร็ว ๆ เท่านั้น
อ่านต่อกันดีกว่าค่ะ มีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกหรือไม่
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ได้ออกมากล่าวเพิ่มเติมว่าเรื่องการดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทยจะต้องมีการดูแลกันทั้งระบบ อย่างกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานก็มีการแก้กฎหมายเพื่อให้จ้างงานผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปได้ ทั้งนี้เพื่อรองรับกับการที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ประกันสังคมก็เช่นเดียวกันต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกันไปทั้งระบบ ด้วยการขยายเวลารับเงินชราภาพออกไปจาก 55 ปี เป็น 60 ปี
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษารูปแบบอยู่ สำนักงานประกันสังคมได้ให้ทีมวิชาการศึกษาข้อมูลของผู้ที่กำลังจะเกษียณอายุในอีก 7 ปีข้างหน้า อาจมีการเสนอทางเลือกให้รับเงินชราภาพในรูปแบบเดิมถ้าผู้ประกันตนต้องการ หรือหากผู้ประกันตนต้องการอยู่ในระบบประกันสังคมต่อไป ก็จะมีสิ่งจูงใจเช่น ได้รับเงินเป็นเปอร์เซ็นต์ของเงินบำนาญที่ได้รับไปก่อน การคำนวณจะเป็นขั้นบันไดตามอายุที่เลือกเกษียณ เช่น 58 หรือ 59 ปี แต่แผนในระยะยาวจะกำหนดให้ผู้ประกันตนเกษียณอายุที่อายุ 60 ปี และรับบำนาญที่อายุ 60 ปีเท่า ๆ กัน ถ้าข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเสร็จสิ้นก็จะมีการนำเสนอให้บอร์ด สปส.อนุมัติ และทำการประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นในวงกว้างกันต่อไป เราคงต้องรอฟังข่าวความคืบหน้าในเรื่องนี้กันอย่างใกล้ชิด
นพ. สุรเดช ยังได้บอกอีกว่าเข้าใจว่าต้องมีคนไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ จริงอยู่ในช่วง 15-20 ปี กองทุนประกันสังคมยังไม่มีปัญหาอะไร แต่อีก 30 ปีข้างหน้าเราต้องเจอปัญหาแน่ เราไม่ควรรอให้ถึงเวลานั้นแล้วค่อยมาเปลี่ยนแปลงอะไรทีเดียว แต่การค่อย ๆ ปรับและเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยตั้งแต่ตอนนี้ที่เราเริ่มรู้ปัญหาว่าจะเกิดขึ้นแน่ ๆ ย่อมดีกว่า หลายคนมองว่าการขยายเวลารับเงินชราภาพออกไปทำเพื่อประโยชน์ของกองทุนเอง ซึ่งก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง แต่ต้องอย่าลืมว่าความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมก็คือความมั่นคงของผู้ประกันตนทุกคน
มีการประมาณการว่าในอีก 27 ปีข้างหน้ากองทุนชราภาพของประกันสังคมจะอยู่ในภาวะติดลบ ในปีนั้นจะมีผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 42,800 คน เป็นเงิน 26,330 ล้านบาท และเงินบำนาญชราภาพอีก 6,274,960 คน เป็นเงิน 1,842,440 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่กองทุนชราภาพต้องจ่ายทั้งสิ้น 1,868,770 ล้านบาท และด้วยเหตุผลนี้เองที่จำเป็นต้องมีการกำหนดแนวทางเพื่อสร้างความมั่นคงให้กองทุนในระยะยาวต่อไป ซึ่งเป็นที่มาของแนวทางในการขยายเวลาในการรับเงินชราภาพออกไปจาก 55 ปี เป็น 60 ปี โดยมาตรการนี้จะช่วยยืดอายุกองทุนชราภาพออกไปได้อีกถึง 38 ปีทีเดียว
คราวนี้เรามาลองฟังในส่วนของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการขยายเวลาการรับเงินชราภาพจาก 55 ปี ไปเป็น 60 ปีกันบ้างค่ะ ว่าเพราะอะไรถึงไม่เห็นด้วย
นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้ออกมาเปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่ามีผลกระทบกับผู้ประกันตนอย่างแน่นอน ถ้ากองทุนประกันสังคมจะมีปัญหาในวันข้างหน้า ทางออกที่น่าจะดีกว่าก็ควรให้ผู้ประกันตนปัจจุบันทั้งหมด 11 ล้านคนได้สิทธิประโยชน์จากเงินชราภาพเมื่ออายุ 55 ปีแบบเดิม แต่คนรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้าสู่ระบบแรงงานนั้นก็ค่อยแยกไปรับเงินชราภาพตอนอายุ 60 ปี เพราะแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมมีทั้งแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับสารเคมีต่าง ๆ เขาเหล่านั้นก็อยากมีโอกาสที่จะได้รับเงินชราภาพเมื่ออายุ 55 ปี และกลับไปใช้ชีวิตในบั้นปลายที่บ้านเกิดเมืองนอน เรื่องการขยายเวลารับเงินชราภาพถือเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบกับผู้ประกันตนหลายล้านคน ดังนั้นควรให้ผู้ประกันตนและนายจ้างมีส่วนในการร่วมกำหนดมาตรการดังกล่าวด้วย
เข้าใจทุกฝ่ายเลยค่ะ เข้าใจว่ากองทุนประกันสังคมตั้งขึ้นเพื่อเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของผู้ประกันตนที่เป็นประชาชนในประเทศ และถ้าไม่แก้ปัญหาวันหนึ่งกองทุนจะมีสถานะเป็นติดลบ แต่ในอีกแง่หนึ่งในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ประกันตนก็อดเป็นห่วงชีวิตของตัวเองในอนาคตเมื่อถึงวัยเกษียณไม่ได้เหมือนกัน ทุกวันนี้ก็ต้องก้มหน้าส่งเงินประกันสังคมอยู่ทุกเดือน ด้วยความหวังว่าเงินส่วนหนึ่งจะสร้างความมั่นคงเป็นเงินบำเหน็จบำนาญให้กับเราในวันข้างหน้าได้ แต่จู่ ๆ ก็จะต้องรอต่อไปอีก 5 ปีโดยไม่มีปี่มีขลุ่ยแบบนี้ บอกตรง ๆ ว่าทำใจยากเหมือนกันค่ะ อย่างไรก็ตามเราคงต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดว่าจะมีความคืบหน้าอย่างไรต่อไป
ขอบคุณข้อมูล