ข่าว ภัยแล้ง ในปีนี้ถือว่ามีความหนักหนามากพอสมควร เพราะแม้กระทั่งแผนที่โลกจาก Google ก็ยังมีการแสดงให้เห็นถึงพื้นที่หัวล้าน หรือพื้นที่โล่งที่ปราศจากต้นไม้ของประเทศไทยที่มีเพิ่มสูงขึ้น และยังมีพื้นที่ป่าสีเขียวที่ลดลงอย่างน่าใจหาย แม้กระทั่งนักวิชาการของทางกรมชลประทานเองยังออกมายอมรับว่าประเทศไทยต่อจากนี้อาจจะต้องประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงหนักยาวนานไปถึงสิ้นปี 2560 ถ้าฝนยังไม่ยอมตกลงมาใต้เขื่อนตามฤดูกาล เพราะในปัจจุบันมีถึง 10 เขื่อนในประเทศไทยที่กำลังเจอวิกฤตขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาก็มีการระบุว่าทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของทางประเทศยังคงมีอากาศที่ร้อนจัด โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนานในหลายพื้นที่ โดยที่อุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ที่ 45 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว
เมื่อภัยแล้ง เริ่มทำให้เกิดปัญหากระทบกับทั้งทางภาคการเกษตรและครัวเรือน ทั้ง 2 เรื่องนี้ ถือว่าเป็นปัญหาในระดับประเทศและคุกคามไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และนอกจากการใช้ประโยชน์น้ำในการทำกินและใช้ในครัวเรือนแล้ว ก็ยังมีประโยชน์ในหน้าเทศกาลดับร้อนอย่างสงกรานต์ ที่จะต้องมีการสาดน้ำเพื่อคลายร้อนกัน 3 วันเต็ม ๆ ก็แน่นอนว่าการใช้น้ำภายในประเทศในวันสงกรานต์นั้น จะมียอดที่พุ่งสูงอย่างแน่นอน ซึ่งน้ำที่ใช้ไป ก็คือน้ำในส่วนที่เสียเปล่าไปกับ การสาดใส่กันโดยเฉพาะ และที่ที่ถูกจับตามองกันอย่างมากก็คงหนีไม่พ้นจังหวัดที่ได้รับความนิยมในการเล่นน้ำสงกรานต์ คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่และจังหวัดใหญ่ในภาคอีสาน
เมื่อภัยแล้งคุกคามประชากรและเกษตรกรส่วนใหญ่ที่อยู่ต่างจังหวัด แต่ในขณะเดียวกันกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ กลับมีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ และสนุกสนานไปกับการเล่นน้ำสาดใส่กันที่เสียเปล่าไปโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร จึงทำให้ประเด็นนี้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นที่พูดถึงกันอย่างแพร่หลาย ดังนั้น ทางภาครัฐ และภาคเอกชนบางส่วน จึงได้เริ่มมีนโยบาย จากเดิม ที่จะมีการจัดเตรียมงานเทศกาลสงกรานต์ ก็มีการกำหนดแผนอย่างรัดกุม เพื่อที่จะจัดงานสงกรานต์ได้ แบบประหยัดน้ำที่สุด ซึ่งการจัดงานมหาสงกรานต์ภายในกรุงเทพฯปีนี้ ทางหน่วยงานของ กทม. ยังคงเป็นเจ้าภาพ 2 จุดเดิมเหมือนกับทุกปี คือ ถนนข้าวสารและถนนสีลม แต่ในปีนี้จะมีการควบคุมการเล่นสาดน้ำ จากที่ทุกปีทาง กทม.จะมีแท็งค์เติมน้ำ 24 จุด รวมไปถึงการจัดตั้งอุโมงค์น้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่สีลม เพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนโดยทั่วไปอย่างไร้ขีดจำกัด แต่ในครั้งนี้ทาง กทม.จะยกเลิกกิจกรรมเหล่านี้ทั้งหมด โดยที่จะมีการจัดกิจกรรมที่จะเน้นไปทางขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทยที่ถูกต้อง เพื่อที่จะเน้นเรื่องการประหยัดน้ำเป็นหลักนั่นเอง
โดยทางกรมประปานครหลวง ได้มีการเปิดเผยเรื่องการใช้น้ำในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ที่ค่อนข้างรุนแรง แต่ประชาชนในกรุงเทพฯ ก็ยังคงมีการใช้น้ำที่มากถึงวันละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งการใช้น้ำของคนตามปกติจะอยู่ที่วันละ 200 ลิตร และถ้ารวมไปกับหน้าเทศกาลสงกรานต์แล้วด้วย จะใช้น้ำกันมากกว่าเดิมถึง 3 เท่าต่อคน
ถึงแม้ว่าภาพรวมของทางกรุงเทพฯ จะมีการใช้น้ำที่ลดลง แต่เมื่อประชาชนเดินทางออกไปต่างจังหวัด ก็จะมีการใช้น้ำเพิ่มเป็น 3 เท่าอยู่ดี จึงได้มีการรณรงค์ในเรื่องของการเล่นน้ำแบบสืบสานประเพณีไทย โดยร่วมกันประหยัดน้ำไปด้วย พร้อมทั้ง ลดจุดบริการน้ำลงและให้บริการในบางช่วงเวลาเท่านั้น ส่วนเรื่องเวลาในการเล่นน้ำของทาง กทม. ก็จะโดนลดเวลาลงอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการออกประกาศจากทางภาครัฐขอความร่วมมือให้ประชาชนทั่วประเทศ ลดปริมาณการใช้น้ำลงเพื่อที่จะปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ ภัยแล้ง ที่กำลังจะรุนแรงขึ้น ซึ่งผู้ที่มีการเล่นน้ำด้วยวิธีการขับรถตระเวนไปตามท้องถนน ก็ให้เปลี่ยนมาเป็นการเล่นน้ำในสถานที่ที่จัดให้โดยเฉพาะแทน และเปลี่ยนจากการใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงทั้งหลายให้กลายมาเป็นขันแบบไทยๆ แทน และการใช้ขันใหญ่สาดน้ำหรือการใช้ปืนฉีดน้ำที่ต้องใช้ปริมาณน้ำเยอะก็ให้ปรับมาเป็นแบบธรรมเนียมไทยดั้งเดิม คือ การใช้ขันเล็กที่จะกวักน้ำใส่กันเล็กน้อยและมีการปะแป้งแต่พอประมาณ หันมาเน้นในเรื่องของการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในครอบครัว พาครอบครัวไปเที่ยวในวันหยุดยาว พร้อมทั้งการกลับบ้านเพื่อไปพบปะสังสรรค์ภายในครอบครัวให้มากขึ้น
นอกจากนี้ จะมีการอนุญาตให้เล่นน้ำสงกรานต์ในปีนี้เพียง 2 วันเท่านั้น คือ 13 และ 14 ส่วนในวันที่ 15 จะขอความร่วมมือจากประชาชนให้เป็นวันพักผ่อนและกลับไปอยู่กับครอบครัว และพากันออกไปทำบุญในหน้าเทศกาลที่เป็นมหามงคลนี้แทน ซึ่งการขอความร่วมมือนี้จะเป็นจริงได้ ประชาชนทั่วไปต้องร่วมมือกัน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤต ภัยแล้ง นี้ไปให้ได้
การรณรงค์และเผยแพร่ประเพณีสงกรานต์ย้อนยุค ก็เริ่มมีการออกประกาศอย่างชัดเจนแล้ว ทั้งทางสื่อต่างๆและแผ่นพับ เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รู้และเตรียมตัวที่จะเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างประหยัดอีกด้วย