ข่าวอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ในภาคใต้สร้างความทุกข์ใจเดือดร้อนให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัยอย่างใหญ่หลวง ทั้งนี้ ได้มีประชาชนจากภาคอื่นๆ รวมถึงภาครัฐและเอกชน ต่างก็รวมใจให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวใต้กันอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องเงินบริจาค อาหาร และสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เพื่อบรรเทาทุกข์ให้ทุเลาเบาบางลง
ล่าสุด ครม. ไฟเขียวอนุมัติมาตรการภาษีช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยมุ่งหวังจูงใจให้ประชาชนบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือชาวใต้มากขึ้น ซึ่งสามารถนำเงินบริจาคหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. 60 มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีในปี 61 ได้ถึง 1.5 เท่า โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ใครสามารถลดหย่อนภาษีได้บ้าง
- บุคคลธรรมดาที่เสียภาษีเงินได้ สามารถนำเงินที่บริจาคไปหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมิน
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล สามารถนำเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาคไปหักเป็นรายจ่ายได้ 1.5 เท่า แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์แล้วต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ
ต้องบริจาคที่ไหนถึงจะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
สำหรับผู้ที่ต้องการนำเงินบริจาคหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาคไปลดหย่อนภาษี จะต้องไปบริจาคกับสถานที่ดังต่อไปนี้
- ส่วนราชการ มูลนิธิ องค์การหรือสถานสาธารณกุศลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ที่ได้ขึ้นทะเบียนแจ้งขอเป็นตัวแทนรับบริจาคกับกรมสรรพากร เช่น สถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุต่างๆ
หลักฐานในการบริจาคมีอะไรบ้าง
ในส่วนของหลักฐานการบริจาคเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่สามารถนำมาแสดงเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีได้นั้น จะต้องเป็นหลักฐานที่ระบุวันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. 60 โดยเป็น
- หลักฐานการรับเงิน หรือทรัพย์สิน ที่มีข้อความระบุว่าเป็นโครงการหรือเป็นการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ โดยอาจระบุช่วงเวลาที่เกิดอุทกภัยไว้ด้วย
- หลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารในช่วงระยะเวลาที่เกิดอุทกภัย ซึ่งพิสูจน์ผู้โอนและผู้รับโอนได้
นอกจากมาตรการลดหย่อนภาษีนี้แล้ว ครม.ยังได้อนุมัติให้ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีอากรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สามารถขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีอากร สำหรับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ ที่จะต้องยื่นภายในเดือน ม.ค.-ก.พ. 60 ให้ไปยื่นภายในวันที่ 31 มี.ค. 60 ได้ โดยไม่เสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าปรับสัญญาแต่อย่างใดอีกด้วย
จากมาตรการดังกล่าว ภาครัฐเล็งเห็นว่า นอกจากจะช่วยบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยแล้ว ยังจะช่วยบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้บริจาคอีกด้วย แต่เหนือสิ่งอื่นใด การร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือซึ่งกันและกันของประชาชนในทุกภาคส่วนครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นน้ำใจดีๆ จากคนไทยที่พร้อมจะหยิบยื่นให้กันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ภาคไหน ส่วนไหนของประเทศ ความอบอุ่นและมิตรไมตรีก็พร้อมจะส่งต่อให้ทันทีแม้มวลน้ำก้อนใหญ่ที่เป็นอุปสรรคก็ไม่สามารถกั้นขวางได้
…นี่แหละคือน้ำใจคนไทย ที่ไม่ทิ้งกันอย่างแท้จริง…
ที่มา