ครอบครัวหนึ่ง จะมีความสมบูรณ์แบบได้นั้น จำต้องมีบุตร เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของคนเป็นพ่อและแม่ต่อไป การที่คุณเป็นคุณแม่มือใหม่ มีงานประจำและส่งประกันสังคม สิ่งหนึ่งที่คุณควรรู้ก็คือ หากคุณคลอดบุตร คุณจะต้องทำเรื่องขอเงินสงเคราะห์บุตรอย่างไรบ้าง ซึ่งวันนี้เราขอช่วยเหลือคุณแม่มือใหม่ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเงินสงเคราะห์จากประกันสังคม ที่คุณควรได้ มีขั้นตอนการดำเนินงานอย่างไร และคุณจะได้รับเงินเท่าใด ลองอ่านรายละเอียดตามนี้ค่ะ
เอกสารประกอบการยื่นเพื่อขอเงินทดแทน กรณีคลอดบุตร มีดังนี้
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2 – 01 ผู้ประกันตนกรอกข้อความครบถ้วน พร้อมลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอ
- กรณีผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิ ให้นำสูติบัตรต้นฉบับของบุตรพร้อมสำเนา 1 ชุด (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)
- กรณีผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ ให้นำสูติบัตรต้นฉบับของบุตรพร้อมสำเนา 1 ชุด สำเนาทะเบียนสมรส กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรส ให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรส
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ประกันตน หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ หน้าแรก (กรุงไทย, กรงศรีฯ, ธนชาต, กรุงเทพ, กสิกรไทย, ไทยพาณิชย์, ทหารไทย, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และซีไอเอ็มบีไทย)
สิทธิในการรับเงินชดเชย
- กรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบครบ 7 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนคลอดบุตร จึงมีสิทธิเบิกค่าคลอดบุตรได้ เป็นแบบเหมาจ่ายครั้งละ 13,000 บาทต่อบัตร 1 คน
- กรณีเงินสงเคราะห์บุตร ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน สิทธิที่คุณจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเป็นแบบเหมาจ่ายเดือนละ 400 บาทต่อบุตรหนึ่งคน
- กรณีเงินชดเชยการหยุดงานเนื่องจากครอดบุตรเพิ่มอีก เป็นแบบเหมาจ่ายในอัตรา 50% ของค่าเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน
การยื่นเรื่อง คุณสามารถเบิกสิทธิได้หากยื่นเรื่องภายในเวลา 1 ปี นับจากวันที่บุตรเกิด ส่วนสิทธิสงเคราะห์บุตรนั้น เมื่อผู้ประกันตนส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ที่ผ่านมาก็สามารถยื่นเรื่องขอรับสิทธิได้ โดยเตรียมสูติบัตรบุตร สำเนาบัตรประชาชน สำเนาบัญชีธนาคาร ยื่นเรื่องที่สำนักงานประกันสังคมที่รับผิดชอบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบและสั่งจ่ายสิทธิผ่านทางบัญชีธนาคารของคุณได้อย่างถูกต้องตามเงื่อนไข
กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ ให้ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรรวมกัน ไม่เกิน 4 ครั้ง (ได้รับสิทธิไม่จำกัดจำนวนครั้งตาม พระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558 เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 20 ต.ค.2558 ส่วนเงินสงเคราะห์บุตรสามารถยื่นได้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น) โดยบัตรที่นำมาใช้สิทธิเบิกค่าคลอดบุตรแล้วไม่สามารถนำมาขอรับค่าคลอดบุตรได้อีก สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ 13,000 บาทต่อบุตร 1 คน
คุณแม่ที่เป็นข้าราชการ
- มีสิทธิ์ลาคลอดได้ 90 วัน โดยไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ และยังได้รับเงินเดือนตามปกติจากส่วนราชการ
- มีสิทธิ์ลากิจต่อเนื่องเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ไม่เกิน 150 วันทำการ โดยไม่ได้รับเงินเดือน
- สามารถเบิกเงินช่วยเหลือการคลอดบุตรได้ครั้งละ 400 บาท โดยไม่รวมค่ารักษาพยาบาล ซึ่งคุณแม่สามารถเบิกแยกได้ต่างหาก
- ได้รับเงินสวัสดีการสำหรับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเดือนละ 50 บาทต่อบุตร 1 คน แต่ไม่เกิน 3 คน จนกว่าบุตรจะมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์
- ในกรณีที่คุณพ่อ คุณแม่ท่านใด ท่านหนึ่งเป็นข้าราชการ สามารถใช้สิทธิ์สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการในกรณีคลอดบุตรได้ โดยเบิกจ่ายเงินส่วนเกินจากประกันสังคม แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นการคลอดบุตรในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น การเบิกส่วนเกินจากสิทธิประกันสังคมจะต้องเบิกผ่านระบบเบิกจ่าย ตรงสิทธิ์สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยสอบถามจากหน่วยที่คุณสังกัดอยู่ และเมื่อคลอดบุตรในโรงพยาบาลแล้ว จะต้องแจ้งขอใช้สิทธิ์รับเงินค่ารักษาพยาบาลเฉพาะส่วนเกิน ประโยชน์ทดแทนฯ (แบบ 7106)
- ในกรณีที่ภรรยาเป็นผู้ประกันตน (ทำงานเอกชน) ส่วนสามีทำงานข้าราชการ จะต้องเบิกตามสิทธิ์ของภรรยาก่อน ส่วนที่เกินจากประกันสังคม สามารถใช้สิทธิ์สามารถในการเบิกได้ แต่ต้องเป็นโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น
- ในกรณีที่ภรรยาเป็นข้าราชการ ส่วนสามีเป็นผู้ประกันตน (ทำงานเอกชน) จะได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง เนื่องจากภรรยาสามารถใช้สิทธิ์เบิกค่าคลอดจากหน่วยงานต้นสังกัดได้ ส่วนสามีก็สามารถเบิกค่าคลอดบุตรจากประกันสังคมได้ด้วยเช่นกัน เบิกจากต้นสังกัดได้
- ในกรณีที่สามีภรรยาเป็นข้าราชการ แต่สามีมียศสูงกว่า ภรรยาจะเบิกจ่ายได้ตามสิทธิ์ข้าราชการของตัวเอง จะใช้สิทธิ์ที่มากกว่าของสามีไม่ได้ และในทางตรงข้ามหากสามีเป็นข้าราชการยศสูง และภรรยาไม่ได้ทำงาน ในกรณีนี้ภรรยาสามารถใช้สิทธิของสามีซึ่งเป็นข้าราชการได้
คุณแม่ที่ประกอบอาชีพอิสระ
- สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคได้ โดยในส่วนของการฝากครรภ์การสร้างภูมิคุ้มกันโรคของเด็ก คุณแม่สามารถเข้ารับบริการได้ฟรี และชำระ 30 บาท สำหรับการคลอดบุตรไม่เกิน 2 ครั้ง พร้อมการตรวจรักษารวมถึงค่าห้องและค่ายา (เฉพาะในกรณีการฝากครรภ์ สามารถใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง)
- คุณแม่ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตน หรือเป็นข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ หากไม่มีบัตรทองก็สามารถไปทำได้ที่สถานีอนามัย โรงพยาบาลของรัฐ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านที่ผู้ขอทำบัตรมีชื่ออยู่ (ในกรณีที่ที่พักอาศัยอยู่จริงไม่ตรงทะเบียนบ้านให้นำสำเนาทะเบียนบ้านที่พักอาศัยอยู่ซึ่งมีลายมือชื่อเจ้าของบ้าน หรือหนังสือรับรองผู้นำชุมชนรับรองว่าได้พักอาศัยอยู่จริงไปด้วย)
หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด
- กรณีที่คุณเกิดแท้ง หรือคลอดแล้วลูกเสียชีวิต ได้ประมาณ 28 สัปดาห์ แต่บุตรจะต้องออกจากครรภ์มารดา คุณถึงสามารถเบิกค่าคลอด และเบิกกรณีทดแทนการหยุดงาน ค่าคลอดบุตรได้ อย่างไรก็ตามควรติดต่อกับสำนักงานประกันสังคมเพื่อตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้ง
- กรณีที่คุณออกจากงาน หากคุณต้องการใช้สิทธิเบิกกรณีคลอดบุตร คุณต้องจ่ายเงินสมทบครบ 7 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนคลอดบุตรจึงจะมีสิทธิเบิกค่าคลอดบุตรได้ หากเป็นกรณีเงินสงเคราะห์บุตร คุณก็จะต้องจ่ายเงิมสบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
- ในกรณีไม่จดทะเบียนสมรส ผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิสามารถตรวจสอบชื่อมารดาของบุตร ในสูติบัตรว่าถูกต้องตรงกับชื่อ – นามสกุล ของผู้ประกันตนหรือไม่ แต่หากเป็นผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ ให้ตรวจสอบชื่อบิดาของบุตรในสูติบัตรว่าถูกต้อง ตรงกับชื่อ – นามสกุลของผู้ประกันตนหรือไม่ และตรวจสอบชื่อมารดาของบุตรในสูติบัตรว่าถูกต้องตรงกับ ชื่อ – นามสกุลของคู่สมรส หรือหญิงซึ่งอยู่กินฉันสามีภรรยากับผู้ประกันตนตามทะเบียนสมรส หรือหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรสหรือไม่
หมายเหตุ : ข้อมูลทั้งหมดเรานำมาจากประกันสังคม เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 ทั้งนี้หากคุณมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามไปยังสำนักงานประกันสังคมโดยตรงได้ทุกวันทำการ