ธุรกิจ Startup เราได้ยินกันมาหลายปีแล้ว แต่ก็เพิ่งเห็นเป็นรูปเป็นร่างก็เมื่อปีที่ผ่านมา โดยล่าสุด 11 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน นำโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมมือจัดงาน Startup Thailand 2016 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการรวมตัวกันของธุรกิจ Startup ในประเทศไทยกว่า 180 ธุรกิจ เพื่อเป้าหมายในการผลักดันในธุรกิจ Startup เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยงานได้มีการจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 28 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ธุรกิจ Startup ต่างก็มาโชว์ไอเดีย ผลงานของตนเอง ในงานมีเวทีเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน โดยมีผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจ Startup ทั้งในประเทศและจากต่างประเทศกว่า 10 ประเทศ เข้าร่วมการจัดงานเป็นเรื่องเป็นราวเป็นรูปธรรมสำหรับธุรกิจ Startup เช่นนี้ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับ Startup รุ่นใหม่ ๆ ในทุกภาคส่วนทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรือนักธุรกิจ ผู้ที่เริ่มทำงาน เกษตรกร หรือผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายธุรกิจ Startup ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นด้วย
ธุรกิจมือถือที่ได้มาร่วมออกบูธในงาน Startup ครั้งนี้ ก็มากันพร้อมหน้า ทั้งค่าย True, AIS และ DTAC โดยทรู ได้ตั้งชื่อบูธเข้ากับงานว่า True Innopark ก่อนงานได้มีการโฆษณาที่หน้าเว็บให้เสนอไอเดียธุรกิจ Startup ใน 5 นาทีเพื่อลุ้นเข้าร่วมโปรแกรม True Incubator ในงานที่จัดขึ้น ส่วน AIS ก็มีโครงการ AIS The StartUp CONNECT ให้โอกาสในการเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจกับทาง AIS โดยร่วมกับทีมงานผู้เชี่ยวชาญของ AIS ในการวางแผนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน โดยไม่ต้องส่งผลงานเข้าประกวด ในส่วนของ DTAC ก็ได้ประชาสัมพันธ์ให้นักธุรกิจ Startup เข้าร่วมโครงการเพื่อรับข้อเสนอเงินทุนสนับสนุนสูงสุด 1.5 ล้านบาท และมีแถมคอร์สอบรม 4 เดือน เป็นหลักสูตรเดียวกับที่ใช้ใน Silicon Valley
ธนาคารและสถาบันการเงินต่างก็หันมาร่วมสนับสนุนในธุรกิจ StartUp กันมากขึ้น อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ก็ได้จัดให้ธุรกิจ StartUp เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการดำเนินธุรกิจในปี 2559 นี้ด้วย และในช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้มีการลงนามร่วมมือในบันทึกข้อตกลง 4 ฉบับด้วยกัน เป็นการเน้นถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ SME และ StartUp เป็นพลังหลักในการผลักดันเศรษฐกิจไทยต่อไปในอนาคต ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ StartUp โดยเฉพาะก็จะเป็นเรื่องของ SCB Venture Capital วงเงิน 100 ล้านบาท เป็นการเน้นการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจ StartUp และวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยสินเชื่อนี้จะให้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินที่ให้สูงสุดต่อรายก็ให้มากถึง 5 ล้านบาท
ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเองก็ขานรับนโยบายสนับสนุนธุรกิจ SME และ StartUp ของรัฐบาลในทันที ด้วยการเน้นในการให้ความรู้กับผู้ต้องการทำธุรกิจ หลักสูตรแรกใช้ชื่อว่า Startup Fundamental Course ซึ่งเป็นคอร์สที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมมือกับ สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติหรือ สวทช. ในการให้ความรู้กับผู้ที่ต้องการเข้ามาเริ่มทำธุรกิจ Startup โดยในคอร์สจะมีความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนในการดำเนินธุรกิจ สร้างแรงบันดาลใจ แนะนำแนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างมืออาชีพ โดยคอร์สแรกได้จัดไปในวันที่ 24 เมษายน 2559 เวลา 9,00-16.30 น. ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นคอร์สที่ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยในคอร์สแรกนี้ ผู้ที่มาเป็นวิทยากร คือ นายไผท ผดุงถิ่น นายกสมาคม Thailand Tech Startup อีกท่านคือ นายกิตินันท์ อนุพันธ์ ผู้ก่อตั้งแอพ Claim Di หลังจากนี้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ยังมีหลักสูตรที่ต่อเนื่องและเข้มข้นมากยิ่งขึ้นในเรื่องของธุรกิจ Startup ผู้ที่สนใจก็สามารถติดตามได้ที่ www.set.or.th
ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ทางธนาคารออมสินก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ถึงโครงการใหม่ คือ โครงการออมสินสุดยอดแนวคิด พลิกธุรกิจไทย หรือ Startup Thailand by GSB โดยเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่อายุ 16-30 ปี เข้าร่วมประกวดโครงการที่มีความสร้างสรรค์ ไอเดียแตกต่าง มีความโดดเด่น เพื่อช่วยแก้ปัญหาพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยเน้นว่าทำได้จริงและทำได้เร็ว เพื่อชิงเงินรางวัลกว่า 3 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรีของไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการประกาศวิสัยทัศน์ในธุรกิจ Startup Thailand ว่ารัฐบาลจะสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปในอนาคตนั้น ก็ได้ออกมากล่าวเน้นย้ำเพิ่มเติมถึงการที่ให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในนโยบายนี้ว่า เป็นการทำงานร่วมกันเป็นการประยุกต์เพื่อเพิ่มมูลค่าของปัญญาประดิษฐ์ ไม่ได้เน้นที่ผลกำไรในรูปของตัวเงิน การขับเคลื่อนจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น วัตถุประสงค์ในนโยบายนี้เป้าหมายคือเพื่อประชาชน เป็นการสร้างธุรกิจให้กับคนรุ่นใหม่ ทางรัฐบาลเองก็จะสนับสนุนในภาพรวมทั้งเรื่องนโยบายและเงินทุนอย่างเต็มที่ และท่านนายกฯ ได้ย้ำว่านโยบาย Startup Thailand นี้ ทำเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายภาพใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องการปรับเวอร์ชั่นของประเทศไทยให้เป็น ไทยแลนด์ 4.0 โดยใน 2 ปีแรก รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะมีนักธุรกิจ Startup 1 หมื่นรายให้ได้