นักวิเคราะห์หุ้นกับเจ้าหน้าที่การตลาดที่ซื้อขายหุ้นให้เราต้องผ่านอะไรบ้างมาดูกัน
เคยได้ยินกันมาบ้างหรือไม่ว่าคนที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดของบริษัทหลักทรัพย์นั้นถูกเรียกว่า “มนุษย์ทองคำ” ก็เพราะว่าในอดีตก่อนที่จะมีการทำรายการซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ตด้วยตัวเอง ทุกคนจะต้องทำรายการผ่านเจ้าหน้าที่การตลาด และหากมีข่าวสารเกี่ยวกับหุ้น เจ้าหน้าที่การตลาดนี้เองจะเป็นผู้ส่งข่าวแก่ผู้ลงทุน ทำให้ผู้ลงทุนปรับทิศทางการลงทุนได้อย่างทันท่วงที เจ้าหน้าที่การตลาดนี้เองที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ลงทุนเลือกที่จะเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับโบรคเกอร์นั้นๆ และรายได้ส่วนใหญ่ของเจ้าหน้าที่การตลาดก็จะมาจากค่านายหน้าในการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากจำนวนเงินที่มีการซื้อขาย
แต่ในปัจจุบันมีรูปแบบการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านอินเตอร์เน็ต ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ทำรายการด้วยตัวเอง เจ้าหน้าที่การตลาดจึงมีบทบาทในการซื้อขายหลักทรัพย์น้อยลง ที่ดูจะมีบทบาทมากขึ้นนั่นก็คือ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เราจะมาดูกันว่า ถ้าอยากเป็นเจ้าหน้าที่การตลาด หรือนักวิเคราะห์หลักทรัพย์นั้นจะต้องทำอย่างไร
ในวงการตลาดหลักทรัพย์จะเรียกกลุ่มคนทั้งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์และเจ้าหน้าที่การตลาดว่า “ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน” เพื่อทำหน้าที่ตามชื่อเลย คือ เป็นตัวแทนของบริษัทในการติดต่อกับนักลงทุนนั่นเอง ซึ่งจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ ผู้ติดต่อกับนักลงทุนประเภท ก. หรือ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนประเภท ข. หรือ เจ้าหน้าที่การตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งทั้งสองแบบก็ยังแบ่งแยกย่อยไปอีก
เรามาทำความรู้จักกับนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ หรือผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนประเภท ก. กันก่อน โดย วิเคราะห์หลักทรัพย์ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ
- นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านการลงทุน
- นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยทางเทคนิค ที่สามารถเขียนบทวิเคราะห์และแนะนำการลงทุนได้ทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน กองทุน และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
- อีกประเภทหนึ่งคือ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ จะสามารถวิเคราะห์และแนะนำการลงทุนที่เกี่ยวกับตราสารหนี้ ตราสารทุน และกองทุน
- สุดท้ายคือ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสามารถวิเคราะห์และแนะนำการลงทุนได้เฉพาะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเท่านั้น
หากใครสนใจที่จะเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์แล้วล่ะก็นอกจากจะจบปริญญาตรีแล้ว ยังต้องผ่านหลักสูตร Certified Investment and Securities Analysts (CISA) Chartered Financial Analyst (CFA) Certified Financial Planner (CFP) หรือ Financial Risk Manager (FRM) และมีประสบการณ์ในการทำงานในบริษัทหลักทรัพย์อีก 1 ถึง 3 ปี จากนั้นต้องผ่านการทดสอบเกี่ยวกับมาตรฐาน และจรรยาบรรณในการปฏิบัติงาน เมื่อสอบผ่านหมดแล้วก็สามารถขึ้นทะเบียนเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้
ทีนี้ก็มาถึงผู้ติดต่อการลงทุนกันบ้าง ซึ่งจะเป็นคนที่ใกล้ชิดกับนักลงทุนมากกว่านักวิเคราะห์การลงทุน
โดยมีทั้งหมด 7 ประเภท คือ ผู้แนะนำการลงทุนด้านตลาดทุนที่สามารถขายได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ กองทุน และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ถ้าเป็นผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ก็จะขายได้ทุกอย่างเหมือนกันแต่ยกเว้นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และที่เหลืออีก 4 ประเภทก็จะขายได้เฉพาะที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ก็คือ ผู้แนะนำการลงทุนด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ผู้แนะนำการลงทุนด้านตราสารทุน ผู้แนะนำการลงทุนด้านกองทุน ผู้แนะนำการลงทุนด้านตราสารหนี้ และผู้แนะนำการลงทุนด้านโลหะมีค่า
ส่วนใครที่ต้องการเป็นผู้แนะนำการลงทุนนั้นดีตรงที่ไม่ต้องจบปริญญาตรีก็สามารถเป็นผู้แนะนำการลงทุนได้ เพียงแต่ต้องมีประสบการณ์ในการทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทจัดการลงทุนตั้งแต่ 4 – 7 ปี และต้องผ่านการทดสอบหลักสูตรความรู้ทางด้านการลงทุนต่างๆ ตามที่สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยกำหนดก็สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้แนะนำการลงทุนได้ ส่วนผู้ที่จบปริญญา และผู้ที่สอบผ่านหลักสูตร CFP CFA ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ในการทำงาน แต่ต้องผ่านการทดสอบความรู้ตามที่สมาคมฯ กำหนดเช่นกัน
สำหรับผู้ที่สนใจอยากทำงานด้านการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนก็ลองเข้าไปศึกษาข้อมูลกันได้ในเว็บไซต์ของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย หรือ www.ati-asco.org ได้เลย