การเลี้ยงเด็กในยุคปัจจุบันมีความแตกต่างกันกับแต่ก่อนเนื่องด้วยบริบททางสภาพแวดล้อม และโลกที่เปลี่ยนไป ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่นสมัยก่อนปู่ย่าตายายมักจะให้กินอาหารหรือป้อนกล้วยได้เมื่ออายุ 3 เดือน แต่ในปัจจุบันต้องรอให้ครบ 6 เดือนถึงจะกินอาหารหรือกล้วยได้ ต้องรอให้กระเพาะเด็กพร้อมก่อน ต้องกินนมแม่ล้วนเป็นระยะเวลา 6 เดือนเป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม : ความเชื่อคุณแม่ยุคเก่า vs. คุณแม่ยุคใหม่ ปรับตัวอย่างไรให้อยู่ด้วยกันได้
ความขัดแย้งทางด้านทฤษฎีผู้เขียนมองว่าเป็นการมองความรักคนละแบบ หมายถึงแต่ละฝ่ายต่างมีความรักให้กับเด็กน้อย ความหวังดีมากให้กับเด็กน้อย จนเกิดความขัดแย้งกัน ทั้งเรื่องการใส่ถุงเท้า การแปรงฟัน อาหารการกินของเด็ก ความแตกต่างทางความคิดควรอยู่ตรงกลางในความพอดี อีกฝ่ายต้องรู้จักผ่อนปรนเพื่อไม่ให้เกิดอาการฟิวส์ขาด หรือทะเลาะกันรุนแรงต่อหน้าเด็ก ความรักที่มีมากเกินไปมักจะทำลายทุกอย่าง
การดูแลและให้ความรักเด็กควรอยู่ในทางสายกลางไม่ใช่ตึงหรือระเบียบจัดจนเกินไป และก็ไม่ใช่หย่อนจนเกินไป ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเป็นหลักด้วย
หลังจากที่มีความขัดแย้งกัน อยากให้แต่ละฝ่ายถอยออกมาคนละก้าว นอกจากนี้ขอนำเสนอ วิธีช่วยลดความขัดแย้งระหว่างกัน เผื่อว่าจะช่วยได้บ้างจากหนักให้เป็นเบาขึ้นดังนี้
-
คุยกันต่อหน้า
เมื่อคุณมีปัญหาขัดแย้งกับผู้อื่น ควรพูดคุยกันต่อหน้า ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงการเข้าใจผิดกันได้เป็นอย่างดี ไม่ควรใช้วิธีส่งข้อความผ่านทางอีเมล จดหมาย โทรศัพท์ หรือพูดผ่านบุคคลที่สาม ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากการส่งข้อความหรือพูดคุยกัน โดยอีกฝ่ายไม่เห็นสีหน้าท่าทางของคุณ ที่บ่งบอกถึงความเห็นอกเห็นใจหรือความเข้าใจนั้น อาจยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิม -
เจรจาในที่ส่วนตัว
การเจรจาข้อพิพาทในสถานที่เปิด อาจมีตัวแปรอื่นๆยั่วยุให้เกิดข้อขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ทางที่ดีควรหาสถานที่ที่เป็นส่วนตัว ที่คู่กรณีสามารถพูดคุยกันได้อย่างเต็มที่ เพราะบ่อยครั้งที่ความคิดเห็นจากบรรดาเพื่อนร่วมงาน เพื่อนฝูง หรือคนรอบข้าง ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับความขัดแย้ง อาจทำให้บรรยากาศในการแก้ไขปัญหา แย่ลงกว่าเดิม
-
ปลดปล่อยอารมณ์
เปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้แสดงอารมณ์ความรู้สึกในเรื่องที่ขัดแย้งอย่างเต็มที่ แต่ต้องเป็นไปด้วยความสงบ และหากฝ่ายหนึ่งไม่อยากพูด ขอให้เขียนจุดสำคัญๆ 2-3 เรื่อง เพื่อให้อีกฝ่ายได้อ่านและเข้าใจความรู้สึกนั้น เนื่องจากการปลดปล่อยอารมณ์ที่แท้จริงออกมา จะช่วยบรรเทาความคับข้องใจของตัวเอง อีกทั้งทำให้เข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่าย ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ง่ายขึ้น
-
รู้จักประนีประนอม
จำไว้ว่า หากคุณต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้งใดๆก็ตาม อย่ายึดติดกับความคิดเห็นของตัวเองเป็นใหญ่ ควรมีความยืดหยุ่น รับฟังความคิดของผู้อื่น และยอมรับว่า บางครั้งคุณอาจต้องล้มเลิกแผนการหรือความต้องการเดิมที่วางไว้ เพื่อให้ได้ข้อยุติในการขจัดความขัดแย้งโดยสันติ
-
มีเป้าหมายร่วมกัน
การให้คู่พิพาทร่วมกันทำงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างได้ผล โดยเฉพาะในที่ทำงาน ซึ่งเมื่อต่างคนต่างทำตามวิธีของตัวเอง อาจเกิดข้อขัดแย้งและในที่สุดก็ไปไม่ถึงจุดหมายเพราะฉะนั้น วิธีจัดการกับเรื่องนี้คือ ระดมความคิดทั้งสองฝ่าย และเลือกวิธีที่ดีที่สุดที่เห็นตรงกัน เพื่อนำไปปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งในการทำงานได้
-
เขาคิดถูก ก็ต้องยอมรับ
ระหว่างการเจรจา หากคุณเห็นด้วยกับข้อโต้แย้งบางเรื่องของคู่กรณีที่มีเหตุผลดี คุณต้องรู้จักยอมรับ ไม่ต้องอายหรือกลัวเสียหน้าเสียศักดิ์ศรีแต่ประการใด เพราะการยอมรับความคิดเห็นของอีกฝ่ายโดยปราศจากอคติ จะช่วยให้การสนทนามีทางออก และลดทอนความรู้สึกไม่เป็นมิตรลงได้
-
เครียดนัก ก็พักก่อน
หากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มีมากเกินกว่าจะคุยกันด้วยเหตุด้วยผลละก็ ขอให้หาเวลานอก แล้วออกจากสถานการณ์ที่ตึงเครียด และเมื่อจิตใจสงบลง ค่อยกลับมาเจรจากันใหม่ในภายหลังเพราะการแตะเบรก จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายมีเวลาทบทวนในเรื่องที่โต้เถียงกันได้อย่างกระจ่างและมีเหตุผลยิ่งขึ้น
-
สอดแทรกอารมณ์ขัน
การคลี่คลายสถานการณ์ขัดแย้งที่ดูตึงเครียด ด้วยเรื่องตลกหรือขำขัน อาจเป็นวิธีง่ายๆที่ช่วยให้อีกฝ่ายเข้าใจถึงสาเหตุที่คุณไม่เห็นด้วยกับความคิดของเขา อีกทั้งยังช่วยให้บรรยากาศที่มึนตึง ดูผ่อนคลายลง แต่ควรหลีกเลี่ยงเรื่องตลกที่อาจทำให้คู่กรณีไม่พอใจหรือเป็นการดูถูก ที่สำคัญ ต้องพยายามมิให้เรื่องขำขันของคุณกลายเป็นตลกฝืด ที่ดูยังไงก็ไม่สนุกไปด้วย
-
ขอความช่วยเหลือ
เมื่อการพยายามแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเกิดบานปลาย มีความรุนแรง ข่มขู่ ด่าทอ หรือใช้กำลังเข้าร่วม โปรดอย่ารีรอที่จะขอความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอก
-
ให้เวลาเยียวยา
หากไม่มีฝ่ายใดยอมลดราวาศอกให้กัน ควรเจรจาเพื่อหาข้อยุติที่เป็นกลาง ไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้ชนะ และหยุดปัญหาพิพาทไว้ชั่วคราว เพราะบ่อยครั้งที่กาลเวลาสามารถเยียวยาความขัดแย้งได้อย่างเห็นผลแต่หากเรื่องขัดแย้งดังกล่าวยังคงค้างคาใจ แม้เวลาจะผ่านไปนานเพียงใด คุณคงต้องหวนกลับไปพูดคุยกับคู่กรณีใหม่ เพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์แย่ลงไปกว่าเดิม
(ที่มาจาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 155 พฤศจิกายน 2556 โดย ประกายรุ้ง)
หลังจากที่ทะเลาะกันควรแยกย้ายให้แต่ละฝ่ายได้เบาอารมณ์ลงก่อน ให้ระยะเวลาได้เยียวยาความรู้สึก เมื่อเวลาผ่านไปทำให้ทุกอย่างดีขึ้นเอง ขอให้ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดและก้าวต่อไปในการดูแลเด็กน้อย ถอยคนละก้าวท่องไว้ในใจแล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง เทคนิคของผู้เขียนคือพยายามทำตัวเองให้ยุ่งเข้าไว้ เช่นกวาดบ้านถูกบ้านซักผ้ารีดผ้า เล่นกับลูก พาลูกไปเดินเล่น เมื่อเราทำตัวยุ่งเราจะลืมเรื่องความทุกข์ และทำหน้าที่ของตัวเองไปได้ ไม่ต้องคิดมากอย่าคิดถึงอดีตหรืออนาคต พยายามทำปัจจุบันให้ดีที่สุดก็พอแล้ว