ในสภาพเศรษฐกิจช่วงปีสองปีนี้ เรียกได้ว่า เป็นช่วงข้าวยากหมากแพง ปลาทูเข่งละ 50 บาท ข้าวสารถังละเกือบ 400 บาท ทำให้ไม่ว่าจะเป็นคนค้าขาย หรือท่านที่ทำงานประจำ กินเงินเดือน หรือที่เรียกกันว่า มนุษย์เงินเดือนนั้น ก็มักมีปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนทำให้เป็นหนี้สินกันถ้วนหน้า การคงสภาพทางการเงินให้พอใช้จ่ายเป็นอะไรที่ยากจริงๆ อย่าว่าแต่จะหาเงินมาใช้หนี้เลยค่ะ แล้วแบบนี้ การบริหารเงินให้พอใช้จ่าย และรวมไปถึงมีเงินใช้หนี้ คงไม่ใช่เรื่องที่เราจะมองผ่านไปแบบไม่สนใจอีกแล้วใช่หรือเปล่าคะ งั้นเรามาเริ่มศึกษาถึงวิธีบริหารการเงินให้หมุนเวียนได้พอกินพอใช้กันในแต่ละเดือนและสามารถเคลียร์หนี้สินให้หมดไปกันเถอะค่ะ
การเริ่มต้นการจัดระเบียบการเงินของตนเอง ควรเริ่มต้นที่ “ทำบัญชี” นี่ก่อนเลยค่ะ เพราะบางทีเรานี่แหละ ที่ทำตนเองจนขาดสภาพคล่องเอง เริ่มจากขอจำลองเหตุการณ์สาวโรงงานนามว่า “น้องก้อย” ให้เป็นตัวแทนมนุษย์เงินเดือนแล้วกันนะคะ(ป.ล.น้องก้อยเป็นแค่ตัวละครที่สมมุติขึ้นมาเท่านั้นค่ะ)
ก้อยได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และมีโอทีด้วย รวมแล้ววันหนึ่งเธอมีรายได้อยู่ที่วันละ 500 บาท แต่โอทีก็ไม่ได้มีทุกวัน เอาเป็นว่า เดือนหนึ่งก้อยมีรายได้ที่หมื่นต้นๆ ที่นี้ก้อยต้องสร้างบัญชีรายจ่ายขึ้นมาแล้วละค่ะ สรุปที่ก้อยมีเงินเข้าบัญชีที่หนึ่งหมื่นสองพันบาทต่อเดือนแน่ๆ แล้วเรามาดูรายจ่ายของเธอกันค่ะ
1.จ่ายค่าผ่อนคอนโด 3500 บาท
- จ่ายค่าน้ำ+ไฟ 1000 บาท
- จ่ายค่าบัตรผ่อนสินค้า 3000 บาท
นี่คือรายจ่ายต่อเดือนที่ก้อยต้องจ่ายเป็นประจำ รวมเป็นเงิน 7500บาท ซึ่งก้อยก็ยังมีเงินเหลืออีก 4500 บาท ที่เงินก้อนนี้แหละที่ก้อยต้องกินต้องใช้ให้ชนเดือน แต่ก้อยก็อยากมีเงินเก็บไว้เผื่อเกิดฉุกเฉินขึ้นถ้าคุณเป็นก้อยจะทำอย่างไรดี…..
สมมุติว่า ดิฉันเป็นน้องก้อย ก็จะคิดและวางแผนการเงินในวงเงินที่เหลืออยู่เพียง 4500บาท เราก็ต้องคิดและวางแผนว่า เดือนนี้ต้องใช้จ่ายอย่างจำกัดวงเงินของตนเองให้อยู่ที่วันละไม่เกิน 100 บาท ซึ่งภายในหนึ่งเดือน (30วัน) เราก็จะใช้เงินไปแค่ 3000 บาท สรุปว่า เดือนนี้ก้อยไม่มีหนี้เพิ่มขึ้น แถมยังมีเงินติดบัญชีอีก 1500 บาท ซึ่งก้อยอาจแบ่งเงินส่วนที่เหลือกลับบ้านได้อีก 500 บาท เงินอีก 1000 บาทที่เหลือ ไม่ควรไปยุ่งกับมันอีก ให้ทำเป็นลืมเงินก้อนนั้นไปเสีย ถ้าก้อยบริหารการเงินแบบมีระเบียบแบบนี้ได้ทุกเดือน ก็จะไม่มีหนี้เพิ่มขึ้นแถมยังมีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉินอีกด้วย
การทำบัญชี ลงบัญชีทุกวัน ก็จะทำให้เราสามารถประเมินได้ว่า รายจ่ายไหนลดลงได้ อันไหนเกินจำเป็น เช่น ลดการซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ หรือลองซื้อของมือสองเพื่อความประหยัด ซื้อเครื่องสำอางทีละชิ้น และที่สำคัญ อย่าซื้อของเพราะเพียงแต่อยากได้ แต่จงซื้อเพราะเราจำเป็นต้องใช้ ให้มีสติ คิดเสมอว่า ถ้าเราไม่จัดระบบระเบียบการใช้จ่ายให้ดี ซื้อของด้วยความอยากได้ เราจะได้เป็นหนี้กันจนแก่ และเพิ่มขึ้นๆ เป็นดินพอกหางหมูไปเรื่อยๆ อย่างแน่นอน นี่คือการวางแผนจัดระเบียบการเงินของมนุษย์เงินเดือน และรู้จักการประมาณกำลังเงินของตนเอง
ทีนี้ในทางตรงกันข้าม ลองมาดูคนอีกกลุ่มซิคะว่าเขาจัดการกับเงินเดือน 12000 บาท อย่างไร สมมุติตัวแทนของคนกลุ่มนี้ชื่อ “น้องนก” นะคะ สมมุติว่า นกทำงานที่เดียวกับก้อย รายรับเท่ากัน ค่าเช่าห้องพักและค่าน้ำค่าไฟเท่ากัน แต่นกไม่เคยจัดระเบียบการเงินเลย พอเงินเดือนออกปุ๊บ นกก็จะไปห้างช็อปกระจาย ทั้งเสื้อผ้าที่ออกใหม่ๆรองเท้า กระเป๋า เครื่องสำอางชุดใหม่ๆ โดยที่เธอยังไม่ได้จ่ายสิ่งที่ควรจ่ายเลย แม้แต่ค่าเช่าห้องที่พักอยู่ ดังนั้น รายจ่ายส่วนที่แตกต่างจากก้อยคือ ค่าบัตรเครดิตที่นกจ่ายเวลาไปซื้อของนั่นเอง ดังนั้น สิ่งที่นกต้องจ่ายประจำคือ
1.ค่าห้องเช่า 3500 บาท
2.ค่าน้ำ+ไฟ 1000 บาท
- ค่าบัตรเครดิตต่างๆ อีกหลายใบ 5500 บาท
รวมรายจ่ายของนกที่ต้องจ่ายประจำคือเดือนละ 10000 บาท ดังนั้น นกจะเหลือเงินให้ใช้ตลอดเดือนเพียง 2000 บาท แล้วต้องทำยังไงดีล่ะคะทีนี้ เพราะเงินเดือนที่ออกมาก็ช็อปแหลกไปซะ 3000 บาท แล้วต้องจ่ายหนี้ประจำไปด้วย เงินที่จะต้องกินต้องใช้ก็ไม่พอ คำถามเดิมค่ะ ถ้าคุณคือนก จะแก้ปัญหายังไงดี?
ปัญหานี้ หลายคนคงคิดได้แบบเดียวกันกับดิฉัน นั่นคือ ทางออกแรกคือใช้บัตรกดเงินสด หรือกดเงินสดจากบัตรเครดิตมาใช้ แต่ในกรณีนี้ ช่างโชคร้ายนักที่วงเงินเต็มไปแล้วทุกบัตร เพราะเธอมีนิสัยการเงินที่ขาดการบริหารจัดการที่ดีมาตลอดนั่นเอง แล้วอาจต้องกู้หนี้นอกระบบ มาถึงตรงนี้แล้ว ทุกคนคงเห็นประโยชน์ของการจัดระเบียบการใช้เงินแล้วนะคะ ว่ายุคนี้เราควรทำตัวอย่างคุณน้องนกหรือแบบน้องก้อยกันดี เราจึงจะมีเงินใช้หนี้ได้ และเหลือไว้ใช้ยามฉุกเฉินอีกด้วย
อนาคตของเราจะเป็นอย่างไร เราทุกคนเลือกได้ค่ะ