ผู้ประสบความสำเร็จ ล้วนมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ “แนวคิดที่เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ” ควรคิดให้ดี วางแผนให้รอบคอบ ก่อนการตัดสินใจทำการงานทุกสิ่ง ตลอดจนวางแผนแก้ไขให้บรรลุตามความต้องการอย่างถูกต้องเหมาะสม ก็จะส่งผลให้เป็นประตูสู่ความสำเร็จต่อไปในอนาคต
หากยึดสูตรสำเร็จตามแนวทางพุทธศาสนา นั่นคือ การใช้สติปัญญาในการทำงานและการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งมีแนวคิดปรัชญามากมายให้เรียนรู้และปฏิบัติอย่างเห็นผลชัดแจ้ง หลักธรรมะสำคัญที่หยิบยกมาใช้ในการทำงานที่อาจเรียกได้ว่าหนทางแห่งความสำเร็จนั้น คือ อิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา ซึ่งนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันอย่างได้ผล ผู้ประกอบอาชีพตลอดจนนักเรียนศึกษาควรอาศัยเป็นแนวทางในการเรียน การทำงานนำไปสู่ประสบความสำเร็จ
อิทธิบาท 4 ตีกรอบการทำงานอย่างเชื่อมโยงกัน 4 ประการ เริ่มจาก
“ฉันทะ คือ รักงานที่ทำ”
ในการทำงานไม่ว่าอาชีพใดคงไม่มีใครสมหวังในสิ่งที่คาดหมายทั้งหมด สังคมการทำงานอาจขัดแย้งขัดขากันบ้าง ถูกบังคับกดดันหรือเจริญก้าวหน้าได้ช้าไม่ทันใจบ้าง แต่ความศรัทธาในอาชีพของตนทำให้มีใจผูกพันกับงาน เอาใจใส่และเข้าใจเนื้อแท้ของงานซึ่งเป็นพื้นฐานของความสำเร็จ หรือมีความศรัทธาในองค์กร ย่อมมีความกระตือรือร้นที่จะก้าวไปข้างหน้า ตั้งใจทำงานทุกอย่างลุล่วงไปได้ด้วยดีและเป็นประโยชน์ตามเป้าหมายขององค์กร และประสบกับความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ในที่สุด
ต่อไปคือ “วิริยะ คือ ความตั้งใจมั่น”
หมายถึงความเพียรพยายามมุ่งมั่นเรียนรู้จนเกิดความเชี่ยวชาญ ควบคู่กับความอดทน ไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรค โดยมีศรัทธาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ตำแหน่งที่สูงขึ้นไปอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ยิ่งขยันเท่าไรก็ได้ผลตอบแทนมากเท่านั้น
“จิตตะ คือ ความมีสติไตร่ตรอง”
ความขยันหมั่นเพียรทำให้กิจการงานแล้วเสร็จ แต่จะไม่สำเร็จสมบูรณ์ถ้าขาด จิตตะ เมื่อมีสติจดจ่ออยู่กับงาน ย่อมเกิดความรอบคอบ และความรับผิดชอบต่อผลงานที่เกิดขึ้น เมื่อใช้ความคิดในเรื่องนั้นบ่อยๆ เสมอๆ จึงมีความรอบรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รู้จักคิดไตร่ตรองอย่างดีก่อนตัดสินใจ ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดน้อยลง
นอกจากต้องความรอบรู้ ความรอบคอบระมัดระวังแล้ว ความรับผิดชอบยังสร้างจิตสำนึกอันดีต่อการทำงานเพื่อให้ผลงานมีคุณภาพสูงสุดและใช้ทรัพยากรได้อย่างคุมค่า รู้จักเสียสละ ร่วมแรงร่วมใจทำงานให้บรรลุเป้าหมายและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
“วิมังสา คือ ใช้ปัญญาพิจารณาและตรวจสอบ”
สุดท้ายคือการทบทวน เพื่อพิจารณาสิ่งที่ได้คิดได้ทำมาทั้งหมด วิเคราะห์ว่าเกิดผลดีผลเสียอย่างไร สำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร เพื่อปรับปรุงปรับแก้ไขให้ดีขึ้น หรือหาทางหลีกเลี่ยงผลเสียที่อาจเกิดขึ้น
“พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส”เป็นแนวคิดที่ตามมากับวิกฤตเศรษฐกิจและสถานการณ์ในตลาดโลกที่มีภาวะขาขึ้นหรือขาลง ผู้ที่ฝ่าฟันช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้คือผู้มองในแง่ดี คิดบวกได้ มองปัญหาเป็นโอกาสดีและท้าทายความสามารถ ทำให้เข้มแข็งและแข็งแกร่งในการต่อสู้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในการลงทุนทางธุรกิจมีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว เตือนตัวเองไว้เสมอว่า ความสำเร็จรอทุกคนอยู่ คนใดที่มองออกและเห็นโอกาสย่อมทุ่มเทลงทุนเวลาและแรงกายบริหารจัดการธุรกิจให้ฟื้นกลับมาดีขึ้นได้
คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินชื่อนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่าง “ตัน ภาสกรนที” แนวคิดหลักของเขาคือความกล้าที่จะทำสิ่งที่แตกต่าง คิดสร้างสรรค์ไม่หยุดนิ่ง กล้าเสี่ยง-กล้าล้มเหลว เนื่องจากหลายคนไม่กล้าเริ่มสิ่งใหม่ๆ จึงไม่เรียนรู้ ไม่เห็นโอกาส สุดท้ายก็ย่ำอยู่กับที่ แต่ด้วยความมุ่งมั่นทะเยอทะยานทำให้นักธุรกิจรายนี้มีความกล้าทำสิ่งใหม่ๆ หลายครั้งที่ล้มเหลวก็ได้ใช้หลักการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสฝ่าฟันจนประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้
“สตีฟ จ็อบ” นักปฏิวัติวงการไอที เป็นบุคคลต้นแบบที่คนทั่วโลกยกย่องในเรื่อง “ความคิดนอกกรอบ” เป็นพลังเปลี่ยนโลกให้ก้าวสู่โลกดิจิตอลอย่างเต็มตัว ชายคนนี้มีข้อคิดดีๆ มากมาย เช่น การเริ่มต้นใหม่โดยไม่กังวลกับสิ่งใดทำให้ไม่รู้สึกกดดันกับความสำเร็จ มีสมองปลอดโปร่ง สามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด นอกจากนั้นยังต้องมีความสนใจใฝ่รู้สิ่งใหม่ สร้างผลงานด้วยใจรัก ด้วยความเชื่อมั่น ไม่ยึดติดกับกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ลำดับความสำคัญอย่างระมัดระวัง และมีความวิริยะอุตสาหะ ทั้งหมดคือพลังที่ผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย
บุคคลมีชื่อเสียง เช่น มหาตมะ คานธี มีแนวคิดดีๆ ที่อาจนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการทำงานได้ เช่น “ถ้าเรามัวแต่คิดถึงความมากมายใหญ่โตของการงาน เราจะเกิดความสับสนและทำอะไรไม่ได้เลย ในทางตรงกันข้าม หากเราไม่มัวผลัดวันประกันพรุ่ง เริ่มทำงานทันที แม้ทำการใหญ่ที่ยากลำบาก ทำทีละน้อย ค่อยเป็นค่อยไป ในที่สุดจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย” เห็นหนทางได้ว่า งานใหญ่ต้องเริ่มทำทีละน้อย เริ่มต้นจากส่วนเล็กไปสู่ส่วนใหญ่ ต้องบังคับตัวเองให้เริ่มต้นเสียที จึงจะเกิดความเชื่อมั่นและรู้สึกโล่งใจเมื่อได้เริ่มทำไปแล้ว อย่าให้คำยากและคำว่าเป็นไปไม่ได้มากปล่อยให้โอกาสความสำเร็จหลุดลอยไป ขอเพียงเดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ ก็จะถึงเป้าหมายเข้าสักวัน
“อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” นักฟิสิกส์อัจฉริยะของโลก เป็นเจ้าของประโยคคำคมที่คนรุ่นหลังนำมาเป็นแนวทางการทำงานเพื่อแสวงหาสิ่งใหม่ๆ ที่มีประโยชน์อยู่เสมอ คำคมของเขาสั้น กระชับ ได้ใจความ เช่น
- “จินตนาการ สำคัญกว่าความรู้ กระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่”
- “คนที่ไม่เคยทำผิดพลาด คือคนที่ไม่เคยทำอะไรใหม่เลย”
- “คนฉลาดแก้ปัญหา คนอัจริยะป้องกันปัญหา”
- “คนที่ทำสิ่งเดิม แต่หวังผลลัพธ์ใหม่ๆ คือคนวิกลจริต”
เห็นได้ว่าการมีไอเดียดีเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม แต่ไอเดียดีๆ ที่ไม่ได้ลงมือทำย่อมไม่มีประโยชน์ ไอเดียแปลกๆ สามารถสร้างรายได้จนเป็นธุรกิจทําเงิน และสุดท้ายคือการคิดรอบคอบ คิดล่วงหน้า ทำให้ทุกอาชีพการงานประสบผลสำเร็จมากที่สุด
“วอลต์ ดีสนีย์” ราชาหนังการ์ตูนของโลก เป็นบุคคลผู้ทำความฝันให้เป็นจริงโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ทั้งยังมีใจหนักแน่นอดทนต่อถ้อยคำวิจารณ์ต่างๆ การมีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีทำให้งานประสบความสำเร็จได้อย่างยอดเยี่ยม อย่าเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ขยันหมั่นเพียรเรียนรู้ตลอดเวลา จึงส่งผลให้ประสบความสำเร็จในอนาคต
“โทมัส เอดิสัน” นักประดิษฐ์ผู้คิดค้นนวัตกรรมมากมาย ผู้คนยกย่องว่าเขามีความคิดสร้างสรรค์ แต่เขากลับบอกว่าความสำเร็จนั้นเกิดจากการทำงานหนักทุกวัน มีความละเอียดรอบคอบในการทำงาน มองทุกนาทีเป็นสิ่งที่มีค่าเสมอ “ผู้คนมากมายต้องล้มเหลวโดยไม่รู้ว่าเข้าใกล้ความสำเร็จเพียงใดแล้ว” ทัศนคติอาจเป็นตัวตัดสินระดับความสำเร็จของเราได้มากกว่าความสามารถ จึงต้องมุ่งมั่นไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคเพื่อไปให้ถึงความฝันอันยิ่งใหญ่
การจะเดินทางไปในสู่ความสำเร็จในชีวิตและการงานได้นั้น จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายชีวิตอย่างมีจุดหมายปลายทาง จะได้รู้จุดยืนว่าอยู่ในด้านประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว เห็นหนทางว่า เส้นทางไหนนำไปสู่ความสำเร็จได้จริง และนำหลักธรรมและแนวคิดต่างๆ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม