เดิมทีมนุษย์ดำรงชีพด้วยอาศัยหลักปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค สิ่งเหล่านี้มนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์รู้ได้เองโดยไม่ต้องมีใครมาบอกมาสอน เป็นการรู้โดยสัญชาตญาณ ถ้าความต้องการในการดำรงเผ่าพันธุ์มีเพียง ๔ ปัจจัยนี้ มนุษย์ก็คงไม่ได้ต่างจากลิงเท่าไรนัก หากแต่มนุษย์นั้นเหนือกว่าสัตว์ เพราะมนุษย์นั้นสามารถส่งผ่านความรู้จากรุ่นสู่รุ่นได้ ปู่ยาตาทวดสอนพ่อแม่ พ่อแม่สอนลูก และลูกก็สอนลูกของตัวเองอีกทีหนึ่งไม่มีที่สิ้นสุด จากเดิมหาอาหารด้วยการใช้หอก ก็เริ่มพัฒนามาเป็นธนู กับดัก เริ่มรู้จักการเพาะปลูก เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสี่ยงอันตรายจากการล่าสัตว์ และจัดสรรหาอาหารให้ได้อย่างเพียงพอให้กับชุมชนที่ใหญ่ขึ้น เริ่มรู้จักการนำเส้นใยมาทอผ้า เพื่อให้ได้เครื่องนุ่งห่มที่มีความแข็งแรงมากขึ้น
การพัฒนาของมนุษย์ไม่หยุดแค่เพียงนำใยฝ้ายมาทอหยาบ ๆ เพื่อใช้แทนเครื่องนุ่งห่ม แต่รู้จักการมัดย้อมสี และทอผ้าขึ้นลายจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่า อีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนสิ่งของเครื่องใช้ อาหาร ความรู้และวัฒนธรรมข้ามกลุ่มข้ามชนเผ่าด้วย
มาสโลว์นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้จัดลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ไว้เป็นขั้น ๆ ทั้งหมด ๕ ขั้น โดยขั้นพื้นฐานที่สุดคือความต้องการทางกายภาพ และความปลอดภัยเป็นลำดับถัดมา ส่วนความต้องการเป็นที่รัก ความต้องการการเคารพนับถือ และความต้องการความสมบูรณ์แบบของชีวิตเป็นลำดับที่สูงขึ้น (๓, ๔, และ ๕ ตามลำดับ) ทฤษฎีนี้ถูกนำมาใช้อ้างอิงอย่างแพร่หลาย และพบว่าปัจจัย ๔ เป็นเพียงปัจจัยพื้นฐานของความต้องการมนุษย์เท่านั้น
การจะได้รับความรักจากผู้อื่น เป็นที่เคารพ หรือเป็นที่ยอมรับกับคนหมู่มากจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยที่เหนือกว่า เช่นเป็นคนเก่ง เป็นผู้นำ หรืออาจเป็นคนมั่งมี มีบ้านหลังใหญ่ มีรถยนต์หรูและมีบริวารมากมาย ซึ่งต่างก็อาจเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้มนุษย์คนหนึ่งปีนลำดับขั้นของความต้องการตามหลักของมาสโลว์ได้อีกขึ้นหนึ่ง
สิ่งต่าง ๆ รอบกายที่ได้มาล้วนแต่ต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยน สมัยก่อนเราอาจแลกเนื้อหมูด้วยน้ำตาลที่เรามีได้ แต่ด้วยวิวัฒนาการของสังคม การแลกเปลี่ยนเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีตัวกลางในการแลกเปลี่ยนที่เรียกว่าเงิน มีการตีค่าตีราคาให้กับสิ่งของต่าง ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนได้ง่ายขึ้นในรูปแบบของการค้าขายนั่นเอง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ผู้รู้จักแผ่นดินทุกตารางนิ้วของผืนแผ่นดินไทย และรู้จักพสกนิกรพร้อมทั้งความเป็นไปของประเทศไทยเป็นอย่างดี ทรงทราบว่ากระแสโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้โลกหมุนไปอย่างรวดเร็วนั้นอาจสร้างปัญหาให้ประชาชนของพระองค์ พระองค์จึงทรงดำริหลักการเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น เพื่อชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย ไม่ใช่เพื่อทิ้งโลกไว้เบื้องหลังแล้วอยู่กับตัวเองเดี่ยว ๆ แต่เป็นการอยู่เดี่ยว ๆ ได้ด้วยตนเอง โดยกระแสผันผวนของโลกาภิวัฒน์ไม่สามารถสร้างความเดือดร้อนให้เราได้
พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสที่เรียบง่ายเมื่อปี ๒๕๒๙ หรือกว่า ๓๐ ปีมาแล้วว่า …การที่ต้องใช้รถไถนานั้น เราต้องหาเงินไปซื้อรถซื้อน้ำมัน เวลารถไถเก่าก็ต้องซ่อมแซม ก็ต้องใช้เงินอีก รถไถกินน้ำมันเสร็จแล้วคายออกมาเป็นควันพิษให้เราสูดดม สูดเข้าไปมากเข้าก็ปวดหัว ส่วนควายนั้น เราป้อนอาหาร ให้หญ้าเข้าไป คายออกมาเป็นปุ๋ยให้เรา ดินเราก็ไม่เสีย…
ในเนื้อความเรียบง่ายที่แฝงด้วยปรัชญา ใช้ควายที่เรามีไม่ต้องไปหาเงินซื้อน้ำมันและซื้อปุ๋ย แถมดินก็ดี พระราชดำรัสนี้สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ตั้งพระราชหฤทัยจะให้ชาวบ้านและพสกนิกรชาวไทยได้ศึกษาและยึดเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต
หลักการเศรษฐกิจพอเพียงนั้นประกอบด้วย ๓ ส่วน และ ๒ เงื่อนไข คือ
- ความพอประมาณ คือความพอดีไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป เป็นทางสายกลางที่ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น นั่นคือแนวทางที่ไม่ตึงกับตัวเองและไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใครนั่นเอง
- ความมีเหตุผล คือการจะบอกถึงระดับความพอประมาณนั้นต้องมีเหตุผลอย่างรอบคอบ มีที่มาที่ไป ไม่ยับยั้งและขัดความเจริญด้วยเหตุที่ตั้งเป้าหมายต่ำเกินประมาณ
- ภูมิคุ้มกัน คือการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ของโลก
สังเกตว่าส่วนประกอบทั้ง ๓ ส่วนมีความเชื่อมโยงกัน ไม่ได้ทำตัวให้โดดเดี่ยวกับกระแสของโลก และไม่ได้ทำแบบมุทะลุไร้ซึ่งเหตุ พระองค์จึงทรงให้เงื่อนไขประกอบ เพื่อเป็นหลักยึดตามแนวทางการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงอีก ๒ เงื่อนไข คือ
- เงื่อนไขความรู้ คือต้องมีความรู้รอบเกี่ยวกับวิชาการที่เกี่ยวข้องรอบด้าน พิจารณาความรู้ต่าง ๆ ด้วยความรอบคอบและเลือกใช้อย่างระมัดระวัง เช่น หากเราเป็นชาวนา เราก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการทำนาโดยรอบด้าน ทั้งดิน ทั้งน้ำ ทั้งลม ทั้งข้าว หากยังไม่รู้ก็ให้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เมื่อรู้แล้วก็ลงมือทำอย่างรอบคอบและมีสติ เช่นทำนาแบบผสมแบบเกษตรอินทรีย์ เลี้ยงปลาเลี้ยงเป็ดเพิ่มปุ๋ยและกำจัดวัชพืชตามธรรมชาติ แถมยังได้เก็บน้ำไว้ใช้ รวมถึงได้ปุ๋ยและเตรียมดินให้พร้อมต่อไปอีกด้วย ความรู้ต่าง ๆ นั้นเชื่อมโยงสอดประสานกันด้วยเหตุและผลขององค์ความรู้นั่นเอง
- เงื่อนไขคุณธรรม ต้องตระหนักรู้ในเรื่องคุณธรรมเป็นสำคัญ คือซื่อสัตย์สุจริต อดทน และมีความเพียรในการดำรงชีวิต
การศึกษาและเข้าใจในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างลึกซึ้งแล้วก็จะพบว่า สิ่งที่เกินความพอประมาณ อย่างไม่มีเหตุผลนั้น เราล้วนต้องใช้เงินแลกมา และเงินก็เป็นสิ่งที่ต้องหามา ความต้องการในระดับที่เกินกว่าระดับกายภาพตามหลักของมาสโลว์นั้นสามาถลดทอนและแปรเป็นอย่างอื่นได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเพื่อสร้างความยอมรับในสังคม การเป็นเกษตรกรที่เข้มแข็ง ดูแลตัวเองไม่ต้องพึ่งกลไกการตลาดและการช่วยเหลือจากผู้อื่นนั้น น่ายกย่องและเป็นที่ยอมรับด้วยเช่นกัน การเป็นพนักงานเงินเดือนน้อย แต่ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ดำรงชีวิตด้วยความพอประมาณอย่างมีเหตุผล ไม่เห่อตามกระแสสังคมที่เกินกว่าสิ่งที่ตนเองต้องการด้วยสติ ถือพร้อมด้วยคุณธรรมก็ย่อมเป็นผู้ใหญ่ที่น่ายกย่องและเป็นแบบบอย่างให้กับคนรุ่นต่อไปได้อย่างภาคภูมิ
การน้อมรับหลักการเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำรงตน ย่อมทำให้เราแข็งแรงได้ไม่ต้องพึ่งพาใคร เมื่อเราแข็งแรง ครอบครัวก็แข็งแรง คนรอบข้างก็พลอยแข็งแรงเพราะเห็นการใช้ชีวิตของเรา สังคมไทยก็จะแข็งแรง และประเทศชาติก็แข็งแรงในที่สุด และนี่คือสิ่งที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ หากเราคนไทยรักในหลวงและอยากทำดีเพื่อในหลวง ก็สามารถน้อมรับหลักการและเผยแพร่ให้กับคนรอบข้าง ก็ถือเป็นการทำดีเพื่อพ่อของเราได้เป็นอย่างดีที่สุดเช่นกัน