เราอาจจะเคยได้ยินคนแนะนำว่าให้นำเงินไปลงทุนและปล่อยให้เงินทำงานแทนเรา เรานั่งอมยิ้มและนึกถึงภาพของเงินที่กำลังทำงานและผลิตเงินให้เราใช้อยู่เรื่อยๆ แต่เมื่อมองกลับมาดูพอร์ตหรือบัญชีกองทุนรวมของเราเองที่แดงเหลือเกิน ฝันหวานของเราก็สลายไป
การลงทุนจะว่ายากก็ไม่ยาก จะว่าง่ายก็ไม่ง่าย ยิ่งเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีมืออาชีพคอยช่วยบริหารแล้วนั้น เราแทบจะไม่ต้องทำอะไรมากเลย ในหนังสือ “โต้คลื่นโลกด้วยกองทุนรวม” คุณณัฐนันท์ บ่างสมบูรณ์ ได้ปูพื้นฐานให้ผู้อ่านเข้าใจกองทุนรวมและจิตใจของตนเอง พร้อมทั้งแนะนำการอ่านข่าวให้เป็นและวิเคราะห์ให้ได้ว่าตลาดมีแนวโน้มจะเป็นอย่างไรต่อไป เมื่อเรา “เข้าใจกลไกของตลาดและหาทางป้องกัน” ได้แล้ว เราก็จะ “ให้เงินลงทุนนั้นทำงานอย่างสบายใจ” ได้
ในบทความนี้ขอสรุปความรู้บางส่วนจากหนังสือเล่มนี้มาแบ่งปันกัน
5 ข้อควรรู้ก่อนลงทุนในกองทุนรวม
- NAV หรือมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวมทั้งหมด คำนวณจากราคาตลาดของสินทรัพย์ต่างๆ ณ สิ้นวันนั้น บวกด้วยกำไรสะสม บวกดอกเบี้ยที่กำลังจะรับ และหักด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่หารเฉลี่ยออกมา กองทุนที่ราคา NAV ต่ำๆ ไม่ได้แปลว่ากองทุนนั้นถูก
- ผลตอบแทนกองทุนมี 2 รูปแบบ ได้แก่ กำไรจากเงินต้น และเงินปันผล นอกจากนี้ยังมีกองทุนที่ขายหน่วยลงทุนคืนให้อัตโนมัติ เราควรเลือกกองทุนที่ให้ผลตอบแทนตรงตามวัตถุประสงค์ของเรา
- สิ่งที่ต้องตรวจสอบจาก Fund Fact Sheet คือ เอกสารนั้นลงวันที่เท่าไร ข้อมูลล่าสุดแล้วหรือยัง (ปกติ Fund Fact Sheet จะออกเดือนละครั้ง) กองทุนนั้นมีนโยบายการลงทุน กลยุทธ์การลงทุน และนโยบายการจ่ายเงินปันผลเหมาะสมกับเราหรือไม่ กองทุนมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใดและมีการป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่อย่างไร ผลการดำเนินงานของกองทุนเป็นอย่างไร และเมื่อเทียบกับดัชนีเปรียบเทียบหรือกองทุนอื่นเป็นอย่างไร กองทุนลงทุนในอะไรบ้าง มีค่าธรรมเนียมเท่าไร
- กองทุนรวมแบบ Active ตั้งใจบริหารให้ได้ผลตอบแทนสูงกว่า Benchmark ส่วนกองทุนรวมแบบ Passive ตั้งใจบริหารให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับ Benchmark หลายคนนิยมซื้อกองทุน Passive เพื่อเก็งกำไรระยะสั้นเนื่องจากเราสามารถดูดัชนีอ้างอิงได้ง่าย อีกทั้งยังมีค่าธรรมเนียมต่ำกว่า ส่วนคนที่สนใจลงทุนระยะยาวสามารถพิจารณากองทุนรวมทั้งแบบ Passive และแบบ Active เพื่อหาโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว
- ค่าสถิติที่ต้องรู้สามอย่าง คือ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ถ้าค่านี้ต่ำแสดงว่ากองทุนรวมนั้นจัดการความเสี่ยงได้ดี ค่าจุดขาดทุนต่อเนื่องสูงสุด (Maximum Drawdown) บอกว่ากองทุนนั้นเคยขาดทุนสูงสุดเท่าไร ให้ดูว่าเรารับได้ไหม ค่านี้ยิ่งลบน้อยยิ่งดี และค่าอัตราผลตอบแทนต่อความเสี่ยง (Sharpe Ratio) บอกความคุ้มค่าจากการลงทุนในกองทุนนั้นเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่ต้องรับ ค่านี้ยิ่งมากยิ่งดี
แนวทางการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง
แนวทางการลงทุนมีมากมาย แต่หลักๆ แล้วอาจจะแบ่งได้เป็น 2 ด้าน คือ ด้านที่เชื่อมั่นในระบบ และด้านที่เชื่อมั่นในตนเอง คนที่เชื่อมั่นในระบบมักเชื่อว่าประวัติศาสตร์มีโอกาสซ้ำรอย ส่วนคนที่เชื่อมั่นในตนเองมักมั่นใจในความสามารถของตนเองว่าจะสามารถเอาชนะตลาดได้ แนวทางการลงทุนสำหรับคนที่เชื่อมั่นในตนเองสูง เช่น Value Investor, Contrarian Investor มักติดตามข่าวสารการลงทุนอยู่เสมอ มีความกล้าแต่ก็รอบคอบ แนวทางการลงทุนอื่นๆ เช่น Dollar Cost Average (DCA) หรือการทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เหมาะสำหรับคนที่มีรายได้สม่ำเสมอ ยังไม่มีเงินลงทุนเป็นก้อนใหญ่ หรือมีเงินก้อนใหญ่แต่ไม่อยากรับความเสี่ยงสูง หัวใจสำคัญคือการเลือกสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตสูงในระยะยาว หรือกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์เพื่อลดความเสี่ยงหากสินทรัพย์ใดที่ลงทุนมีการเติบโตต่ำ
แนวคิดของจอร์จ โซรอส
การลงทุนเป็นเกมที่เราเล่นได้เรื่อยๆ ไม่ต้องยอมแพ้ออกจากเกม และการขาดทุนก็เป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้นเราควรมีจิตใจที่มั่นคง มั่นใจว่าการลงทุนที่เราได้ศึกษามาอย่างดีแล้วจะชนะในที่สุด อย่างไรก็ตาม หากเราพบว่าการลงทุนของเรามีข้อผิดพลาดหรือสถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ เราก็ต้องพร้อมที่จะจำกัดความเสียหายนั้น การมีความรู้และอยู่ในแวดวงความรู้เสมอนั้นจะช่วยให้เราพัฒนาความสามารถและเห็นโอกาสในการทำกำไรได้ เราต้องรู้ลึกรู้จริง มองให้ต่าง มองให้ไกล และไม่กลัวที่จะใช้บริการจากผู้เชี่ยวชาญ
ในส่วนแรกของหนังสือ “โต้คลื่นโลกด้วยกองทุนรวม” ยังมีคำแนะนำอีกมากมายที่เป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุน รวมทั้งตัวอย่างที่ให้เห็นภาพมากขึ้น หากมีโอกาสอยากแนะนำให้หาหนังสือเล่มนี้มาอ่านดู
อ้างอิง: หนังสือ “โต้คลื่นโลกด้วยกองทุนรวม” เขียนโดย ณัฐนันท์ บ่างสมบูรณ์
เขียนโดย มานี ปิติ