หลังจากยื่นเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นประจำ ในช่วงประมาณเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปีผ่านไปแล้ว หลายคนคงใจจดใจจ่ออยู่กับข้อมูลการรับเงินคืนภาษี หรือเช็คเงินคืนภาษีตามสิทธิประโยชน์ที่เราควรจะได้รับ แต่ก็มีข้อสงสัยมากมายที่ไม่อาจหาข้อมูลหรือคำตอบที่กระจ่างชัดได้ อาทิเช่น ยื่นเสียภาษีหรือรับเงินคืนผ่านอินเตอร์เน็ตทำอย่างไร,ต้องติดต่อหน่วยงานไหน,ขั้นตอนการดำเนินการต้องทำอย่างไร วันนี้เรามีคำตอบที่เข้าใจง่ายมาฝากกันค่ะ ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลยดีกว่าค่ะ
อ่านเพิ่มเติม >> เสียภาษี ง่ายๆ ใครว่ายุ่งยาก ? <<
1. ยื่นแบบฟอร์มเสียภาษีทางอินเตอร์เน็ตทำอย่างไร?
ง่ายๆ เพียงคุณเข้า Google แล้วค้นหาคำว่า “ยื่นแบบฟอร์มเสียภาษี” คุณก็จะเจอเว็ปไซต์หลักของกรมสรรพากรก่อนเป็นอันดับต้นๆ หลังจากนั้นคุณก็สามารถดำเนินการตามขั้นตอนแนะนำที่หน้าเพจได้เลยค่ะ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยค่ะ เพราะในเว็บไซต์จะมีระบุขั้นตอนต่างๆ ไว้อย่างละเอียดอยู่แล้ว
ซึ่งทางกรมสรรพากร จะมีกำหนดระยะเวลาในการคืนภาษีเป็นระยะเวลา 15 วันโดยเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่คุณยื่นแบบแสดงรายการภาษี ซึ่งหากติดสถานะกำลังตรวจก่อนคืน ทางกรมสรรพากรก็จะมีระยะเวลาในการดำเนินการภายใน 90 วัน โดยนับวันที่คุณยื่นแบบแสดงรายการภาษีวันแรกเป็นวันเริ่มต้น
2. ยื่นแบบฟอร์มเสียภาษีอากรที่สำนักงานสรรพากรเขตทำอย่างไร?
ก่อนอื่น คุณต้องเช็คข้อมูลของคุณเองก่อน ว่าคุณต้องยื่นเรื่องที่สรรพากรเขตไหน โดยเข้าไปดูข้อมูลผ่านทางอืนเตอร์เน็ตได้ไม่ยาก หลังจากนั้นก็เดินทางไปยังสำนักงานเขตสรรพพากรที่มีรายชื่อคุณบันทึกอยู่ แล้วติดต่อเจ้าหน้าที่ได้เลยค่ะ
ซึ่งเงื่อนไขในการคืนภาษีก็เหมือนกันกับข้อแรก ทั้งในเรื่องของระยะเวลา สถานะ และวิธีนับวันเริ่มต้น
แต่ระยะเวลาที่กำหนดไว้อาจคลาดเคลื่อนไปบ้างเป็นบางปี เพราะทางกรมสรรพากรต้องจัดการตรวจสอบเอกสารและจ่ายเงินคืนตามคิว ดังนั้นหากคุณต้องการรับเงินคืนเร็วกว่าทุกครั้ง คุณก้ต้องรีบไปยื่นเอกสารเป็นคิวแรกๆนั่นเองค่ะ
3. อยากทราบว่า จะได้รับเงินคืนภาษีเมื่อไหร่ และกำลังอยู่ในขั้นตอนไหน ?
ง่ายๆ เพียงเข้าไปในเว็ปไซต์ WWW.RD.GO.TH แล้วเลือกหัวข้อ E-FILING ถัดมาให้เลือกหัวข้อ “ สอบถามการขอคืนภาษี” ซึ่งทุกขั้นตอนการดำเนินการเรื่องเงินคืนภาษีของคุณจะถูกระบุไว้ในหัวข้อนี้ ทีนี้ก็จะรู้แล้วล่ะว่าคุณจะได้เงินคืนภาษีเมื่อไหร่และจำนวนเงินเท่าไหร่นั่นเอง
4. อยากทราบว่า ยื่นภาษีเงินได้ไปสักระยะหนึ่งแล้ว ยังไม่ได้รับเช็ค ต้องทำอย่างไร?
ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เราไม่ได้รับเช็คในช่วงเวลาที่กำหนดนั้น มีมาจากหลายสาเหตุ เช่น คุณอาจเปลี่ยนแปลงที่อยู่โดยไม่แจ้งให้ทางกรมสรรพากรทราบ หรืออาจส่งเอกสารผิดที่อยู่ เป็นต้น หากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นเมื่อไหร่ให้รีบแจ้งกรมสรรพากรทันที เพื่อยื่นคำร้องขอออกเช็คฉบับใหม่
ซึ่งเอกสารที่ใช้ประกอบคำร้อง มีดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน ใช้ทั้งตัวจริงและสำเนา
- หนังสือมอบอำนาจ ในกรณีที่ให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนคุณ,บัตรประจำตัวผู้มอบอำนาจและของผู้รับมอบเอง (ใช้ทั้งตัวจริงและสำเนา)
5. ถ้าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ในกรณีที่เช็คเกิดชำรุด สูญหาย จะแก้ไขได้อย่างไร
ซึ่งสาเหตุในการปฏิเสธการจ่ายเงินของทางธนาคารก็มีหลายสาเหตุ เช่น เช็คมีอายุเกิน6เดือน ,ชื่อ-สกุลผิดอักขระ,คำนำหน้าไม่ถูกต้อง เป็นต้น หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ให้รีบนำเช็คดังกล่าวติดต่อกับทางสรรพากรทันที เพื่อยื่นคำร้องขอออกเช็คสั่งจ่ายฉบับใหม่ขึ้นทดแทน โดยมีเอกสารสำคัญที่ต้องเตรียมไปดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา
- ใบบันทึกประจำวันหรือใบแจ้งความ สำหรับกรณีเช็คสูญหาย
- เอกสารเปลี่ยนชื่อ-สกุล ถ้ามี
- ในกรณีที่มีผู้ดำเนินการแทน ต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมบัตรประชาชนและสำเนาของทั้งคู่แนบไปด้วย
6. หากไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคาร แต่ได้รับเช็ค มีความประสงค์จะขอเปลี่ยนรับเป็นเงินสดจะได้หรือไม่?
ในกรณีที่คุณไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคาร ส่งผลให้คุณทำการขึ้นเช็คไม่ได้ แล้วอยากขอเปลี่ยนเป็นรับเงินสดแทน ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยมีเงื่อนไขต่างๆดังนี้
- สำหรับท่านที่อาศัยอยู่ใน กทม. สามารถนำเช็คมาแลกเป็นเงินสดได้ที่ “ กองคลัง ชั้น7อาคารกรมสรรพากร เลขที่90ถนนพหลโยธิน 7 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม.
- สำหรับท่านที่อาศัยอยู่ตามจังหวัดอื่นๆ สามารถนำเช็คแลกเป็นเงินสดได้ที่ฝ่ายบริหารงานทั่วไป ตามสำนักงานสรรพากรประจำจังหวัดที่ท่านอาศัยอยู่
เอกสารประกอบการแลกเช็คเป็นเงินสด
- บัตรประจำตัวประชาชน,หนังสือเดินทางสำหรับกรณีคนต่างด้าว พร้อมสำเนา
- หนังสือจัดตั้งคณะบุคคล กรณีแลกเช็คในนามคณะบุคคลหรือหน่วยงาน
- หนังสือมอบอำนาจ พร้อมหลักฐานประจำตัวของทั้งสองฝ่าย
การยื่นเสียภาษีถือเป็นหน้าที่หนึ่งของประชาชนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์กำหนดแลยทีเดียว ดังนั้นใครที่รู้ตัวว่าต้องเสียภาษีก็อย่าละเลยเป็นอันขาดนะ ควรยื่นเสียภาษีให้ถูกต้องตามวันเวลาที่กำหนดแล้วจะไม่มีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน
นอกจากนี้อย่าลืมว่าการเสียภาษีควรจะยื่นเสียตั้งแต่มีรายได้ 50,000 บาทต่อปี เพียงแต่ไม่ต้องเสียภาษีนั่นเอง แค่ยื่นแบบฟอร์มการมีรายได้ไปก่อนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อย่าลืมทำให้ถูกต้องตามกฎหมายกันด้วยนะคะ