สรรพากรเตือน บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) ปี 2563 ภายใน 30 ก.ย.2563
นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า 30 ก.ย. 2563 เป็นวันที่สิ้นสุดการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) ปี 2563 ซึ่งกรมสรรพากรได้มีมาตรการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีอากร เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งกรมสรรพากรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนิติบุคคลยื่นแบบฯ (ภ.ง.ด.51) ภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 โดยใช้ช่องทางการยื่นแบบทางอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th และชำระภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารที่ร่วมโครงการฯ ซึ่งสะดวกและง่ายสำหรับผู้ประกอบการทุกราย ทั้งนี้ การยื่นแบบฯ เกินระยะเวลา ที่กฎหมายกำหนด จะทำให้ผู้เสียภาษีมีภาระต้องรับผิดชำระค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท และหากมีภาษีต้องชำระจะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตรา 1.5% ต่อเดือน
และนอกเหนือจากนี้ กรมสรรพากรยังแจ้งพ่อค้า – แม่ค้าออนไลน์ ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ได้ถึงวันที่ 8 ต.ค. 63
นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า 30 ก.ย. 2563 เป็นวันที่สิ้นสุดเวลาการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ปี 2563 ซึ่งพ่อค้า – แม่ค้าออนไลน์ เป็นผู้มีรายได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ให้นำรายได้จากการขายสินค้าบนระบบออนไลน์ที่ได้รับระหว่างวันที่ 1 ม.ค. ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 มารวมคำนวณยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) หากใช้ช่องทางการยื่นแบบทางอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th ได้ถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2563 และชำระภาษี (ถ้ามี) ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรักษามาตรฐานการเว้นระยะห่างทางสังคม ร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)
โฆษกกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้เสียภาษีที่มีภาษีต้องชำระ ตั้งแต่ 3,000 บาท ขึ้นไป สามารถแบ่งผ่อนชำระได้ 3 งวดๆ ละเท่าๆ กัน โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มใดๆ และติดต่อขอผ่อนชำระได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา หรือทางอินเทอร์เน็ตที่ www.rd.go.th ทั้งนี้ การยื่นแบบฯ เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จะทำให้ผู้เสียภาษีมีภาระต้องชำระค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท และหากมีภาษีที่ต้องชำระ จะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตรา 1.5% ต่อเดือน
สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศหรือที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161