การวางแผนเรื่องของภาษีด้วย “ประกันชีวิต” เพื่อช่วยในการประหยัดภาษีและรับผลตอบแทนไปพร้อมๆ กัน วันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษี ด้วยประกันชีวิตนั้น คุณต้องรู้เกี่ยวกับเรื่องไหนบ้าง ลองมาดูรายละเอียดพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
การลดหย่อนภาษีด้วยประกันชีวิตนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประกันชีวิตแบบทั่วไป และประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งมีเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีที่ต่างกัน
ประกันชีวิตแบบธรรมดา
เบี้ยประกันชีวิต รวมทั้งสิ้นจำนวน 100,000 บาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยส่วนแรกสามารถหักได้ 10,000 บาท สำหรับส่วนที่เกิน 10,000 บาทนั้น หักได้ไม่เกินเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 90,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
- ต้องทำกับบริษัทรับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในประเทศไทย
- ถ้ามีการจ่ายเงินคืน เงินปันผล หรือผลตอบแทนระหว่างสัญญา จะต้องมีเงื่อนไขดังนี้
- กรณีได้รับเงินคืนทุกปี ยอดเงินคืนนั้นต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี
- กรณีได้รับเงินคืนตามช่วงระยะเวลา อย่างเช่น 2 ปี, 3 ปี, และ 5 ปี ยอดเงินคืนต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงระยะเวลา
- กรณีอื่น ๆ ผลรวมของเงินคืนตั้งแต่ปีแรก ถึงปีที่มีการจ่ายเงิน หรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน ต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันสะสมในช่วงนั้น ๆ
ประกันชีวิตแบบบำนาญ
เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ การยกเว้นเบี้ยประกันชีวิตในกรณีนี้ เป็นการเพิ่มเติมค่าลดหย่อน เบี้ยประกันชีวิตเพิ่มเติมจากข้อแรก โดยลดหย่อนได้สูงสุดถึง 15% ของเงินได้เป็นจำนวน 200,000 บาท (รวมทั้งหมดทั้ง 1 + 2: 300,000 บาท) ซึ่งประกันชีวิตแบบบำนาญนี้ เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากอองทุนสงเคราะห์ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินค่าซื้อหน่อยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว (RMF) ต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
- ต้องเอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในไทย
- มีการกำหนดการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ จะจ่ายเท่ากันทุกงวด หรือจ่ายในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเอาประกันก็ได้
- มีการกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์ เมื่อผู้มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ถึงอายุ 85 ปี หรือกว่านั้น
- ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้ว ก่อนได้รับผลประโยชน์
หลังจากที่ทำความรู้จักกับประกันชีวิตแต่ละประเภทที่สามารถลดหย่อนภาษีกันไปแล้ว ทีนี้มาถึงเรื่องเกี่ยวกับ สิ่งที่คุณควรรู้ก่อนจะนำเบี้ยประกันชีวิตไปลดหย่อนภาษี ว่าคุณต้องรู้เกี่ยวกับอะไรบ้าง
- การทำ “ประกันชีวิต” เท่านั้น ที่สามารถนำไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งหลาย ๆ คนมักจะเข้าใจผิดว่า การทำประกันแบบไหนก็ตาม อย่าเช่น ประกันสุขภาพ ประกันความเสี่ยง แบบไหนก็สามารถใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีได้ และมีคนเคยเข้าใจว่าประกันรถยนต์สามารถลดหย่อนภาษีได้ แต่ในความเป็นจริงนั้น การทำ “ประกันชีวิต” เท่านั้น ที่มีสิทธิในการลดหย่อนภาษี
- ผลตอบแทนที่แท้จริง ต้องคำนวณด้วยวิธี IRR (Internal Rate of Return) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ ต้องเปรียบเทียบทั้งกรณี ระหว่าง ไม่รวมผลประโยชน์ทางภาษี คิดจากประกันชีวิตเพียงอย่างเดียว ซึ่งปกติผลตอบแทนสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณ 2 – 3% ต่อปี รวมผลประโยชน์ทางภาษีของแต่ละคนเข้าไปด้วย สำหรับส่วนนี้ผลตอบแทนสูงสุดประมาณ 7 – 8% ต่อปี
- มองการประกันเป็นเรื่องของการป้องกันความเสี่ยง ประกันจะคุ้มค่าที่สุดเมื่อเกิดความเสี่ยงที่ไม่คาดคิด อย่างเช่น การเสียชีวิต ดังนั้น คุณค่าของประกันชีวิตอยู่ที่ “ความคุ้มครอง” ไม่ใช่ “ผลตอบแทนทางการลงทุน”
จากข้อมูลข้างต้น คุณจะวางแผนภาษีอย่างไร วันนี้เรามีเคล็ดลับการวางแผนทางด้านภาษีมาฝากด้วย รายละเอียดตามนี้ค่ะ
- ประกันชีวิตได้สิทธิลดหย่อนภาษี รวมทั้งสิ้นสูงสุด 300,000 บาท โดยแบ่งเป็น ประกันชีวิตแบบทั่วไป จำนวน 100,000 บาท และประกันชีวิตแบบบำนาญ จำนวนสูงสุด 15% (ไม่เกิน 200,000 บาท) แต่ในความเป็นจริง คุณสามารถใช้ประกันชีวิตแบบบำนาญได้สูงสุดถึง 300,000 บาท เพราะเงื่อนไขของประกันชีวิตแบบบำนาญถือว่าเข้าเงื่อนไขประกันชีวิตแบบทั่วไปเช่นเดียวกัน (แต่รวมกันทั้งสองประเภทนั้น จำนวนสูงสุดต้องไม่เกิน 300,000 บาท)
- ระวังการยกเว้นเงินได้ และยกเว้นในส่วนของค่าลดหย่อนของประกันชีวิต เนื่องจากเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป รวมทั้งสิ้นจำนวน 100,000 บาท แยกออกเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรก หักได้ 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท หักได้ไม่เกินเงินได้ หลังหักค่าใช้จ่ายแต่ไม่เกิน 90,000 บาท นั่นหมายถึง หากสามีหรือภรรยา “ไม่มีรายได้” แต่มีการจ่าย “ค่าเบี้ยประกัน” และนำมายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้รวมกัน ทำให้สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าประกันชีวิตได้เพียง 10,000 บาทเท่านั้น เพราะส่วนที่เหลืออีก 90,000 บาท นั้นเป็นการยกเว้นจากรายได้ “เมื่อไม่มีรายได้คุณก็ไม่มีสิทธิหักค่าลดหย่อนภาษีได้นั่นเอง”
- เบี้ยประกันชีวิตของบุตร และของพ่อแม่ นำมาหักลดหย่อนไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้หักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตของผู้ที่มีเงินได้ (หรือตัวคุณเอง) เท่านั้น
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + RMF ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับผู้ที่มีรายได้เยอะ การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต้องดูทั้ง 3 ส่วนประกอบด้วยดังนี้
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ 15% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- RMF (กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ) 15% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
ซึ่งทั้ง 3 ตัวนี้รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท จึงจะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ อย่างไรก็ตาม การหักลดหย่อนภาษีด้วยประกันชีวิต คุณควรวางแผนทางด้านภาษีให้ดีเสียก่อน หรือมีความมั่นใจก่อนยื่นเสียภาษี เพราะอาจจะทำให้คุณเสียเงินค่าภาษีมากกว่าเดิมได้ ดังนั้น ก่อนการเสียภาษีทุกครั้งต้องตรวจสอบสิทธิประโยชน์ ค่าลดหย่อนต่าง ๆ ให้ดีเพื่อคุณจะได้ส่วนลดทางภาษีมากขึ้น