ข่าวดาราโดนภาษีย้อนหลังมักมีมาเป็นระลอก ๆ ถูกสรรพากรแจ้งให้ไปเสียภาษีเพิ่มและต้องจ่ายเงินเพิ่มกันอีกคนละหลาย ๆ ล้าน หรือข่าวของร้านอาหารชื่อดังหลายร้านก็ถูกแจ้งให้ไปจ่ายภาษีเพิ่มเพราะเข้าข่ายเป็นร้านอาหารที่มีการแสดง และมีลักษณะเป็นผับหรือดิสโก้เธค หรือแม้แต่ผู้ได้รับรางวัลจากการชิงโชค ทายผลฟุตบอลโลกหรือเด็กผู้หญิงที่ได้รับรางวัลจากการประกวดตั้งชื่อลูกหมีแพนด้าเมื่อหลายปีก่อนก็ถูกกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีเพิ่มด้วยทั้งนั้น เห็นอย่างนี้แล้วก็รู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ กันไปตาม ๆ กัน แล้วถ้าเรา โดนภาษีย้อนหลัง ทำยังไงดี ล่ะ ?
การเก็บภาษีย้อนหลัง คืออะไร
การเก็บภาษีย้อนหลังจะเกิดขึ้นหลังจากมีการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ซึ่งจะเป็นการป้องปรามทางภาษีอากร โดยมีการดำเนินการใน 3 หน่วยงาน ที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต แต่ที่โดดเด่นมากที่สุด คือ กรมสรรพากร เพราะจะไปเกี่ยวพันกับภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล อีกทั้งเก็บภาษีทางอ้อม หรือVAT และภาษีธุรกิจเฉพาะ จึงมีฐานกว้างมากครอบคลุมจำนวน ผู้เสียภาษีหลายล้านคนเลยทีเดียว
กรมสรรพากรเขามีวิธีการตรวจสอบได้อย่างไรว่ามีรายได้จากไหนเท่าไหร่
วิธีการของกรมสรรพากรในการตรวจสอบภาษี ได้แก่
- การออกตรวจเยี่ยม และแนะนำผู้ประกอบการต่าง ๆ
- การตรวจการปฏิบัติงานทั่วไปในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
- การตรวจนับสต็อกสินค้า ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะอุดช่องโหว่ ของการหลีกเลี่ยงภาษีอากร
- การสอบยันใบกำกับภาษี เพื่อจะพิสูจน์ว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอมบ้างหรือไม่
- การตรวจคืนภาษี ซึ่งจะทำกับบุคคลธรรมดาในแบบบุคคลทั่วไปที่พบเจอได้บ่อย ๆ ซึ่งจะมีทั้งกรณีที่คืนภาษีก่อนตรวจสอบ และขอตรวจสอบความถูกต้องภายหลังก็ได้
- การออกหมายเรียกตรวจสอบภาษี สำหรับวิธีการนี้กรมสรรพากรอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 23 88/4 และ 123 แห่งประมวลรัษฎากร โดยสั่งให้ผู้เสียภาษีส่งมอบบัญชี และเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้กับเจ้าพนักงานได้ทำการตรวจสอบหรือไต่สวนภาษีอากรทุกประเภท ซึ่งข้อนี้อาจมีสาเหตุมาจากการที่เจ้าพนักงานวิเคราะห์แบบแสดงรายการภาษีแล้วปรากฏว่าบุคคลหรือนิติบุคคลได้ชำระภาษีอากรต่าง ๆ ไม่ถูกต้องครบถ้วน
- การตรวจค้น ทำการยึด และอายัดบัญชีรวมถึงเอกสาร อันนี้ร้ายแรงที่สุด เพราะกรมสรรพากรจะส่งเจ้าพนักงานเข้าตรวจค้นรื้อเอกสารและสามารถยึด อายัดเอกสารต่าง ๆ ที่มีการหลีกเลี่ยงภาษี จึงมักเป็นรายที่มีการหนีภาษีอย่างมากมายและชัดเจน
อายุความของการตรวจสอบย้อนหลัง
สำหรับผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ เจ้าพนักงานจะประเมินและออกหมายเรียกภายใน 2 ปี นับจากวันที่ยื่นรายการ เว้นแต่มีหลักฐานหรือสงสัยว่าผู้ยื่นรายการจะมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษี ทั้งนี้อธิบดี จะอนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกเกินกว่า 2 ปีได้ แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี นับจากวันที่ยื่นรายการ ส่วนท่านที่ไม่ได้ยื่นแบบและแสดงรายการ ประมวลรัษฎากรไม่ได้ระบุระยะเวลาการออกหมายเรียกไว้ จึงใช้กำหนดระยะเวลาตามอายุความ ทั่วไปจากเจ้าพนักงานที่มีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีได้ภายใน 10 ปีนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการนั้น ๆ
ภาษีธุรกิจเฉพาะสามารถย้อนได้ถึง 10 ปี
สำหรับธุรกิจประเภทต่าง ๆ เจ้าพนักงานประเมินจะมีอำนาจประเมินภาษีได้ภายในระยะเวลา 10 ปี ตามมาตรา 193/31 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกแต่อย่างใด ซึ่งอายุความเรียกเอาหนี้ภาษีอากรคืนนับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาที่ยื่นแบบแสดงรายการเป็นเวลา 10 ปี
สรุป
- ผู้ที่ทำงานให้บริษัทหรือห้างร้าน ที่เวลาเรารับเงินแล้วได้รับการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตรงนี้เองที่สรรพากร จะมีชื่อเข้าไปโชว์ว่า ยอดที่รวมกันต่อปีจะเกิน1,800,000 (เป็นรายได้ที่ไม่หักค่าใช้จ่าย) หรือไม่ และ ตามกฎหมายภาษีจะต้องจดทะเบียนมูลค่าเพิ่ม เพื่อออก Vat อีก 7 % ถ้าไม่ทำตามนี้ หากสรรพากรเรียกตรวจ Vat 7% ที่เราไม่ได้เก็บกับลูกค้าทั้งหมด เราเองจะต้องเป็นคนจ่ายให้สรรพากรเองทั้งหมด รวมถึงเงินเพิ่ม และค่าเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าตัวและถ้ามีรายได้ที่ย้อนหลังไปได้ 3 ปี ยิ่งต้องเตรียมตัว โดยทำการปรึกษาสำนักงานบัญชีไว้เลย เพราะถ้าไม่เตรียมไว้อาจโดนแบบจัดหนักได้ คราวนี้มีบ้านหรือมีที่ดิน สรรพากรก็สามารถยึดได้ทันที โดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล
- สิ่งที่ต้องใส่ใจมากที่สุด คือ กฎหมายภาษีอากรจะกำหนดไว้ว่าหากไม่ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในเวลาที่กำหนดก็จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน นับตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันที่ชำระภาษี ส่วนกรณีที่ไม่ยอมยื่นแบบแสดงรายการหรือยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไว้แต่ชำระภาษีขาดหรือน้อยไป นอกจากจะเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนแล้ว อาจยังต้องเสียค่าปรับอีก 1 หรือ 2 เท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียอีกด้วย
การเข้าพบเจ้าหน้าที่
- เมื่อได้รับหนังสือจากสรรพากร การไปต้องแน่ใจว่าได้จ่ายภาษีมาก่อนหน้านี้ ซึ่งหากจ่ายแล้วก็อาจแก้ต่างหรือขอลดหย่อนภาษีได้ แต่หากไม่ได้จ่ายภาษีเลยก็อาจจะต้องจ่ายตามยอดที่เจ้าหน้าที่บอก แต่ทางที่ดีควรหาสำนักบัญชีไปฟังด้วย ให้พูดเท่าที่พูดได้แล้วค่อยให้เรียกคุยอีกทีเมื่อผลการตรวจ statement เสร็จ
- เราสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ โดยปกติจะหักลดหย่อนได้ คนละ 30,000 บาท หากแต่งงานก็ได้ของภรรยาด้วย รวมเป็น 60,000 บาท นอกจากนี้ การดูแลพ่อแม่ที่อายุเกิน 60 ปี ก็ ลดหย่อนได้เหมือนกัน ซึ่งจะมีหลายแนวทางด้วยกัน ทางที่ดีก็ควรสอบถามเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมเผื่อจะได้มีการลดหย่อนค่าอะไรอีก
เรื่องภาษีไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ หากเรามีรายได้เข้าเกณฑ์ก็ควรไปจ่ายภาษีทุกปี เพื่อจะได้ไม่เป็นปัญหาปวดหัวปวดใจทีหลัง
อ่านเพิ่มเติม : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธี ประหยัดภาษี