เดือนธันวาคมของทุกปี คนทำงานประจำหลายๆคนกำลังวุ่ยวายกับการวางแผนภาษี เตรียมตัวเลขหาค่าลดหย่อน บางคนก็ลังเลใจว่าจะซื้อกองทุนอะไรดี ที่จะได้ทั้งการลดหย่อนภาษี และมีกำไรจากการลงทุนด้วย คนที่เคยมีประสบการณ์ คงไม่ค่อยมีปัญหา ส่วนใหญ่จะทำคล้ายๆในปีที่แล้ว สำหรับคนที่จบใหม่ๆ เพิ่งเริ่มต้นทำงาน และต้องทำรายการเสียภาษีเป็นครั้งแรก คงต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ครบถ้วน หากทำอะไรผิดพลาด อาจเสียผลประโยชน์ได้ในภายหลัง เพราะเรื่องของภาษี มีการกำหนดโทษไว้อย่างชัดเจน ส่วนไหนไม่แน่ใจต้องถามผู้รู้ เพื่อจะได้ไม่กรอกข้อมูลผิดพลาด
สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของผู้เสียภาษีและจะลืมไม่ได้คือ ค่าใช้จ่ายต่างๆที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ มีหลายข้อด้วยกันดังนี้
- ค่าใช้จ่ายส่วนตัว สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30000 บาท
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส หากคู่สมรสของเราไม่มีรายได้ จะนำมาลดหย่อนได้ 30000 บาท
- ค่าลดหย่อนเกี่ยวกับบุตร ได้ 15000 บาท และอย่าลืมค่าลดหย่อนด้านการศึกษาของบุตร ได้อีก 2000 บาท
- ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30000 บาท
- ดอกเบี้ยจากการกู้ยืม เช่น ถ้าเราเสียดอกเบี้ยไปในการกู้ซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามตัวเลขที่จ่ายจริง แต่สูงสุดได้ไม่เกิน 100000 บาท
- ค่าลดหย่อนจากการมีภาระต้องเลี้ยงดูคนพิการ หรือทุพพลภาพ จะได้ 60000 บาท
- ค่าเบี้ยประกันชีวิต ถ้าเป็นประกันชีวิตแบบทั่วไป ลดหย่อนได้ไม่เกิน 100000 บาท ถ้าเป็นประกันชีวิตแบบบำนาญ จะนำมาลดหย่อนภาษีได้ 15% และสูงสุดไม่เกิน 200000 บาท
- ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของพ่อแม่ มีเงื่อนไขว่า พ่อแม่ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30000 บาทต่อปี หากเราซื้อประกันให้พ่อแม่ ก็สามารถนำเบี้ยประกันมาลดหย่อนได้ 15000 บาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเงินสมทบ กบข. สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงหรือสูงสุดไม่เกิน 500000 บาท
- กองทุน LTF นำมาลดหย่อนภาษีได้ 15% สูงสุดไม่เกิน 500000 บาท
- กองทุน RMF ลดหย่อนได้ 15% เช่นกัน สูงสุดไม่เกิน 50000 บาท
- เงินประกันสังคม สามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 9000 บาท
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา นำมาหักลดหย่อนได้ 2 เท่าแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมิน
ทั้ง 13 ข้อนี้เป็นรายการหลักๆที่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ หลายๆข้อๆทำแล้วเป็นผลดีมีประโยชน์ต่อตนเองและคนรอบข้าง เช่น การซื้อประกันต่างๆ ให้ตัวเองและพ่อแม่ นอกจากจะถือเป็นการออมเงินรูปแบบหนึ่ง ยังถือเป็นการลดความเสี่ยงทางการเงินได้ และยังนำมาลดหย่อนภาษีได้ ถือว่าได้ประโยชน์หลายต่อ แต่บางข้อก็มีความเสี่ยง เช่น เงินที่นำไปซื้อกองทุนรวม เพราะการซื้อกองทุน หากเราเลือกกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง แล้วเกิดขาดทุน ก็อาจเข้าข่ายได้ไม่คุ้มเสีย คือหวังซื้อกองทุนเพื่อนำมาลดหย่อนภาษี ได้ผลประโยชน์นิดหน่อย แต่กลับขาดทุนมากมายจากกองทุนที่ซื้อไว้
ดังนั้น การเลือกซื้อกองทุนจึงต้องพิจารณาให้ดี ให้รอบคอบ ถ้ายังไม่มีประสบการณ์ ควรเลือกกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือซื้อในจำนวนไม่มาก คือไม่ต้องซื้อเต็มที่ตามข้อกำหนดของฐานรายได้ก็ได้ ไว้ปีต่อๆไปถ้ามีความรู้และมีประสบการณ์มากขึ้น สามารถเลือกกองทุนประเภทที่เหมาะสมกับตัวเอง และยอมรับความเสี่ยงได้อย่างสบายใจ ถึงเวลานั้นค่อยซื้อเพิ่มเติมก็ยังไม่สาย
ท้ายที่สุดนี้ จะชี้ให้เห็นว่า การวางแผนภาษี เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเสมอ ถ้ายังไม่มีความรู้ก็ต้องขวนขวายหาความรู้ การวางแผนภาษีเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนทางการเงิน หากเราวางแผนได้ดี ก็ทำให้เรื่องของการเสียภาษีไม่ได้น่ากลัว หรือต้องเสียเงินอะไรมากมาย และมีผลพลอยได้เรื่องการเงินและการดำเนินชีวิตได้อีกด้วย ปลายปีแล้ว วางแผนภาษีกันหรือยัง ถ้ายังต้องรีบกันหน่อยแล้ว