สำหรับครอบครัวไหนที่มีบุตรวัยกำลังโตที่พอสอนได้นั้น การปลูกฝังเรื่องการเงินให้เด็กตั้งแต่เล็ก ๆ ย่อมเป็นผลดีและเป็นการป้องกันไม่ให้มีการใช้เงินแบบไม่คิดในตอนโต เพราะเรื่องการเงินมีความสำคัญในทุกระดับ จะเห็นได้จากหลายครอบครัวที่พังไม่เป็นท่าก็เพราะไม่รู้จักการบริหารเงินให้ดีนั่นเอง ดังนั้น เพื่อให้เห็นความสำคัญในเรื่องการเงินของเด็ก ๆ วันนี้เรามีวิธีการง่ายๆ ที่จะช่วย สอนลูกเรื่องเงิน ให้เข้าใจมากขึ้น และพร้อมที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจเรื่องการเงินกันค่ะ
1. เมื่อลูกถูกเพื่อนยืมเงินจะสอนลูกอย่างไรดี?
ในวันหนึ่งช่วงลูกอยู่ประถมหลังจากเลิกเรียนตอนเย็นแล้ว คุณอาจจะได้ยินลูกพูดว่า วันนี้เพื่อนมาขอยืมเงิน ซึ่งคุณคงถามกลับไปทันทีว่า แล้วให้ยืมหรือเปล่า ซึ่งถ้าคำตอบของลูกเป็น ก็หนูให้ไปสิบบาท คุณก็ควรถามต่อว่าแล้วเพื่อนจะนำมาคืนเมื่อไรและเพื่อนพูดว่าจะคืนเงินเมื่อไร หลังจากได้คำตอบแล้วสมมุติว่า ลูกบอกว่าเพื่อนจะคืนให้พรุ่งนี้ คุณก็จะต้องติดตามถามลูกอย่างจริงจัง พออีกวันหนึ่งคุณจึงถามลูกอีกครั้ง ว่าได้เงินคืนมาจากเพื่อนที่ยืมเงินไปหรือไม่
- หากคำตอบว่าได้คืน ก็ควรชี้แนะให้ลูกเห็นว่านี่ แสดงถึงผู้ยืมรักษาคำพูดและนำเงินมาคืน และหนูก็ไม่เสียเงินนั่นไป
- แต่ถ้าหากเพื่อนไม่นำมาคืนตามที่รับปากหรือลูกไปทวงถามแล้วเพื่อนบอกว่ายังไม่มีให้ คุณควรจะสอนลูกว่า การให้เงินคนอื่นยืมแล้วเขาไม่คืนตามกำหนดนั้น คนที่ทุกข์ใจก็คือผู้ให้ยืม ซึ่งก็จะต้องคอยติดในใจและอาจเสียมิตรภาพไป ทางที่ดีหนูต้องปฏิเสธการถูกเพื่อนยืมเงินด้วยคำพูดว่า ไม่ได้ เพื่อนก็จะไม่กล้ามารบกวน ซึ่งอาจจะดูเหมือนไม่มีน้ำใจแต่เพื่อป้องกันลูกของเราที่จะปกป้องการเงินของตนมิให้ใครมายืมง่าย ๆ ก็จะทำให้เขาเป็นคนที่กล้าที่จะปฏิเสธ ซึ่งเป็นการปลูกฝังที่ไม่ควรมองข้าม
2. สอนลูกเรื่องเงิน ในทุกๆครั้งที่มีโอกาส (ตามสถานการณ์)
การปลูกฝังให้ลูกตระหนักในคุณค่าของเงินตั้งแต่วัยเยาว์ จะทำให้เขาเป็นคนที่คิดรอบคอบเรื่องการเงินเสมอ การไม่บอกลูกเรื่องการเงินจะทำให้เมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่จะทำให้เกิดการซื้อแหลกและเป็นหนี้เป็นสินตามมา ดังนั้น เราควร สอนลูกเรื่องเงิน ในชีวิตประจำวัน เช่น พาลูกไปร้านสะดวกซื้อ แล้วให้ลูกเลือกของกินที่ลูกชอบ หากลูกหยิบของที่ไม่มีประโยชน์ก็ต้องสอนลูกทันทีว่า ลูกกำลังจะใช้เงินซื้อของที่ทำลายสุขภาพและมีราคาที่ไม่สมน้ำสมเนื้อ เช่น น้ำอัดลม ลูกอม เป็นต้น ซึ่งการบอกกล่าวถึงการใช้เงินซื้อของที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในขณะที่ลูกกำลังตัดสินใจและคุณอยู่ด้วยและสอนด้วยคำแนะนำเล็กน้อยจะช่วยให้เด็กตระหนัก เมื่อทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง ลูกก็จะเริ่มเข้าใจเลือกสินค้าที่มีประโยชน์เท่านั้น ซึ่งจะเป็นนิสัยในตอนโตทำให้เขารู้จักใช้เงินไปกับสิ่งที่เป็นประโยชน์นั่นเอง
3. สอนลูกให้เห็นถึงความสำคัญของการออมเงิน
การออมเงินยังมีบทบาทสำคัญไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด คุณควรให้ลูกน้อยเห็นคุณค่าของการออมว่าลูกออมแล้วจะได้อะไรและดีอย่างไร โดยชี้แจงให้ลูกเข้าใจว่า การที่ลูกนำเงินไปโรงเรียนวันละ 60 บาท และใช้กินขนมไป 40 บาท ลูกจะเหลือกลับบ้าน 20 บาท แล้วนำเงินที่เหลือไปใส่กระปุกออมสินไว้ หากลูกทำแบบนี้ทุกวันเงินออมก็จะมากขึ้น ซึ่งลูกสามารถนำเงินออมนี้ไปใช้ซื้อของที่ตนเองอยากได้ เช่น จักรยาน หรือหนังสือดีดีสักเล่ม เป็นต้น จากนั้น ให้พาลูกน้อยไปเปิดบัญชีธนาคารไว้ แล้วนำเงินออมของเขาฝากธนาคารให้ลูกดูทุกขั้นตอนในการทำธุรกรรมกับธนาคาร ตั้งแต่กรอกชื่อเขียนใบสมัคร การเซ็นชื่อ จะทำให้เด็กเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมและเริ่มเข้าใจวิธีการออมอย่างแท้จริงในชีวิตประจำวัน และจะทำให้ลูกน้อยเข้าใจรูปแบบการออมได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ควรหมั่นถามลูกเสมอว่าเดือนนี้หนูอยากออมเท่าไร และเมื่อได้คำตอบให้คุณชมเชยลูก เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการรักการออมตั้งแต่ในวัยเยาว์
4. สอนลูกเรื่องดอกเบี้ยรับ
ลูกน้อยสามารถเข้าใจเรื่องดอกเบี้ยรับได้อย่างง่าย ๆ จากการพาพวกเขาไปที่ธนาคารเพื่อซื้อสลากที่จะทำให้เด็กเข้าใจเรื่องดอกเบี้ยได้เป็นอย่างดี การซื้อสลากออมสินนับว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีการออมและการลงทุนไปพร้อม ๆ กัน อีกทั้งยังมีโอกาสถูกรางวัลอีกด้วย คุณลองพาลูกไปซื้อสลากออมสินสัก 2 หน่วย ปัจจุบันหน่วยละ 50 บาท แล้วสอนลูกเรื่องสลากออมสินให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ ว่า หากลูกซื้อสลากออมสินแล้วไม่ถอนเงินออกมาจนครบ 3 ปี ลูกก็จะได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนตามอัตราที่ธนาคารกำหนด แต่ถ้าลูกจะถอนเงินก็ต้องไม่ต่ำกว่าสามเดือนและจะได้ดอกเบี้ยเล็กน้อยตามอายุ พูดง่าย ๆ ว่ายิ่งไม่ถอนสลากเร็วโอกาสที่จะได้รับดอกเบี้ยก็สูงตามลำดับ เด็กก็สามารถเข้าใจเรื่องดอกเบี้ยอย่างง่าย ๆ ซึ่งถ้าหากคุณพ่อคุณแม่เริ่มสอนลูกตั้งแต่เล็ก ๆ ด้วยการพาไปหาประสบการณ์จริงเลย ก็เชื่อว่าเมื่อเด็กค่อย ๆ โตขึ้นพวกเขาก็จะเข้าใจวิธีการมากขึ้นเพราะได้พาตัวเองไปซื้อสลากจริง ๆ ทำให้เห็นภาพและจดจำได้อย่างดีไปจนโต