ตลอดช่วงปีพ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทย ตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาคการผลิต การส่งออกสินค้าและภาคบริการที่หดตัวอย่างเห็นได้ชัดอันเป็นผลกระทบต่อ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ประสบกับภาวะชะลอตัวเช่นกัน ส่งผลทำให้อุปสงค์ต่อความต้องการสินค้าและบริการหดตัวลง นักลงทุนและภาคธุรกิจชะลอการลงทุน สำหรับเกษตรกรมีรายได้น้อยลง ทั้งหมดล้วนเป็นวัฏจักรต่อเนื่องด้วยกันทั้งสิ้น ความเห็นข้างต้นของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มีส่วนสำคัญในการสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมา ซึ่งดร.สมคิด ชี้ว่าสาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยให้น้ำหนักความสำคัญกับภาคการส่งออกค่อนข้างมาก ทำให้อิงกับตลาดต่างประเทศเป็นหลัก เมื่อตลาดต่างประเทศไม่มีศักยภาพพอรองรับสินค้า เศรษฐกิจประเทศไทยจึงประสบกับภาวะชะงักงันตามไปด้วย
ความเห็นข้างต้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา ทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันว่าเศรษฐกิจประเทศไทยประสบกับปัญหาทั้งจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่อิงกับเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่กำลังซื้อตกต่ำลง ภาวการณ์ฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ล่าช้าส่งผลต่อภาคประชาชนและภาคธุรกิจอย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามสัญญาณด้านฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจยังอยู่ในระดับที่ดีกว่า เนื่องจากยังมีมาตรการต่าง ๆ ของรัฐที่เข้ามาช่วยเหลือ และคาดหวังว่าหากการลงทุนจากภาครัฐในโครงการก่อสร้างขั้นพื้นฐานดำเนินการได้ตามเป้าหมาย อาจจะมีส่วนสนับสนุนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคตได้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยเคยประเมินอัตราการเติบโตของ GDP ปีหน้าไว้ที่ร้อยละ 3.8 แต่หากการฟื้นตัวล่าช้าหน่วยงานรัฐควรเตรียมพร้อมในการรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคประชาชน เช่น ครัวเรือนเกษตรกร กลุ่ม SMEs ได้รับผลกระทบต่อเนื่องในลำดับต่อไปจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ
สำหรับอนาคตในปีหน้า พบว่า นอกเหนือจากบทวิเคราะห์ของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ยังมีงานวิเคราะห์ของธนาคารโลก และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจหลายแห่งที่ยืนยันผลความเห็นไปในทางเดียวกัน เช่น การวิเคราะห์ของธนาคารโลกที่เห็นว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตช้ากว่าประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน และประเมินว่า GDP ปีหน้าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี เห็นพ้องว่าอนาคตของปีหน้ายังคงมีแนวโน้มของการฟื้นตัว ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตถึง ร้อยละ 3.5 อันเป็นผลมาจากการลงทุนของโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เช่น โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ที่รวมแล้วมีมูลค่าสูงถึง 30,000 ล้านบาท แรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ และการกลับมาของการลงทุนในภาคเอกชน โดย ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโสของ TMB Analytics ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า
แม้อนาคตเศรษฐกิจในปีหน้าจะค่อย ๆ ฟื้นตัว แต่ยังต้องระวังปัจจัยเสี่ยงจากภาคต่างประเทศที่เป็นตลาดรองรับสินค้าส่งออกหลักของประเทศ เช่น ประเทศจีน ซึ่งพบว่ากำลังซื้อจากประเทศจีนชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาด้วย แต่อย่างช้าที่สุดคาดว่าไม่เกินกลางปีหน้า เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติ เช่นเดียวกับการวิเคราะห์จากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจของมหาวิทยาลัยหอการค้าที่ระบุว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้าคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวรวมประมาณร้อยละ 4.2 พร้อมกับการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.3 และภาวะเงินเฟ้อในที่คาดว่าจะอยู่ระดับต่ำที่ร้อยละ 1.4
อย่างไรก็ตาม ความเห็นในทางบวกต่อเศรษฐกิจไทยปีหน้านั้นอาจจะเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไปบ้างในทรรศนะของผู้ชำนาญการ เช่น ดร. วีรพงษ์ รามางกูร ที่เห็นว่าการวิเคราะห์ยังขาดการพิจารณาเรื่องราคาน้ำมันโลก ซึ่งปีนี้ (2558) ราคาน้ำมันลดต่ำลง จึงส่งผลทำให้การส่งออกของประเทศไทยในเดือนตุลาคมหดตัวเพียง 8% แต่การนำเข้ากลับหดตัว 12% ในปีหน้าคาดว่าหากราคาน้ำมันปรับกลับมาเป็นปกติ สถานการณ์การนำเข้าวัตถุดิบ เช่น น้ำมัน คาดว่าจะรุนแรงมากกว่าปีนี้ และทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ยาก ประกอบกับยังเห็นว่าวิกฤติเศรษฐกิจยังไม่ถือว่าเป็นจุดที่ต่ำสุด โดยทั่วไปแล้วภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจะมีระยะเวลาประมาณ 3-5 ปี ดังนั้นอาจเป็นเพียงการฟื้นตัวชั่วคราวก็เป็นได้ และเช่นเดียวกันความเห็นในด้านหนี้ครัวเรือนระดับสูงที่อาจจะมีผลต่ออำนาจซื้อที่ลดต่ำลงได้ รวมถึงความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อเพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสีย เป็นต้น
ไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเป็นบวกหรือลบ แต่มีข้อเสนอแนะเพื่อเป็นทางออกที่ยั่งยืนสำหรับอนาคตเศรษฐกิจไทยในปีลิงและปีต่อ ๆ ไป คงไม่พ้นไปจากความพยายามของภาครัฐต้องส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศควบคู่กันไปกับการส่งเสริมภาคการส่งออกด้วย ซึ่งความเห็นข้างต้นสอดคล้องกันดีระหว่าง ความเห็นของ ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ทั้งนี้อย่างน้อยที่สุดในปีหน้า รัฐบาลมีความพยายามในการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับรากหญ้าในหลายโครงการ ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนให้สามารถเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาตนเองได้ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และรวมถึงภาคการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ช่วยสร้างรายได้ให้ลงถึงชุมชน สำหรับภาคอุตสาหกรรมเองพบว่า รัฐบาลมีแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมผ่านการสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเด่น ได้แก่ เกษตรแปรรูป กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยนต์ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเทคโนโลยีนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิตัล เป็นต้น และสุดท้ายสำหรับการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ช่วยส่งเสริมภาคการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานช่วยเปิดโอกาสให้เศรษฐกิจในอนาคตเติบโตขึ้นได้