การดำเนินชีวิตในทุก ๆ วันของเรามีความเกี่ยวพันกับระบบเศรษฐกิจอย่างแยกไม่ออก เพราะเศรษฐกิจมีความหมายถึงกิจกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าและบริการทุกอย่างที่อยู่รอบตัว ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวที่เราจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับสภาวะของเศรษฐกิจในปัจจุบันและที่กำลังจะมาถึงในปีหน้า พ.ศ. 2559 เพื่อให้สามารถเตรียมตัวรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพราะไม่ว่าจะดีหรือมีปัญหา เศรษฐกิจก็มีผลกระทบต่อทุก ๆ คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สภาวะเศรษฐกิจไทย ที่ค่อนข้างอ่อนแอในช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2558 จากการเผชิญกับปัญหาที่รุมล้อมรอบด้านและการฟื้นตัวที่ล่าช้ากว่าที่ประมาณการณ์เอาไว้ เพราะการส่งออกที่มีมูลค่าลดลงในขณะที่ประเทศคู่ค้าก็มีการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ส่วนการลงทุนจากภาครัฐที่ยังมีความล่าช้าในหลายโครงการ เมื่อเข้าสู่ครึ่งปีหลังในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีพ.ศ. 2558 สภาวะเศรษฐกิจไทย เริ่มปรับตัวดีขึ้น เพราะการลงทุนจากภาครัฐหลายโครงการเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นบวกกับมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจหลายอย่างที่ช่วยส่งแรงเสริมให้กับภาคธุรกิจในด้านที่ดี
ดังนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2559 ก็ได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากข้อมูลของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ที่คาดการณ์เอาไว้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงมาตรฐานการครองชีพของประชากรในประเทศจะมีโอกาสโตถึงร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2558 ที่ถูกคาดการณ์เอาไว้ว่า GDP อยู่ที่ร้อยละ 2.9 ถือว่าเป็นแนวโน้มเศรษฐกิจที่สดใส เพราะมีการลงทุนจากภาครัฐและมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่ช่วยหนุน นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกที่มีเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว บวกกับแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงจะส่งผลดีต่อการส่งออก และคาดว่าผู้ประกอบการจะมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มที่ดีและสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเป็นแหล่งรายได้หลักอีกทางหนึ่งของประเทศ
แต่แม้ว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2559 จะมีแนวโน้มที่สดใสกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายอย่างที่อาจฉุดภาวะเศรษฐกิจให้ถดถอยลงมาได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ภาคธุรกิจขาดสภาพคล่อง ผลกระทบต่าง ๆ จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลิกจ้าง ขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย และอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตของคุณและครอบครัว ด้วยแนวทางการใช้ชีวิตดังต่อไปนี้
- หมั่นติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ เศรษฐกิจทั้งในประเทศและทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงต้องมีการติดตามและอัพเดทข่าวสารต่าง ๆ ให้ทันกับเหตุการณ์อยู่เสมอ ในปัจจุบันมีช่องทางการติดตามข่าวสารอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสารธุรกิจ โทรทัศน์ วิทยุหรือแม้แต่อินเทอร์เน็ต ที่ทำให้คุณสามารถติดตามข่าวสารด้านเศรษฐกิจผ่านทางเพจหรือบล็อกได้อย่างง่ายดายทุกที่ทุกเวลา
- ติดตามความมั่นคงของแหล่งรายได้อย่างใกล้ชิด หากรายได้หลักของคุณมาจากการทำงานบริษัท ควรหมั่นติดตามข่าวสารและความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะบริษัทหรือกิจการต่าง ๆ มีสิทธิขาดสภาพคล่อง ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานได้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นหากมีแนวโน้มว่าบริษัทที่ทำอยู่เริ่มไม่มีความมั่นคง รีบหางานใหม่หรือหางานเสริมที่มีรายได้สำรองเอาไว้ เพราะหากวันไหนที่บริษัทปิดตัวหรือถูกเลิกจ้าง คุณก็จะยังมีรายได้เข้ามาโดยไม่เดือดร้อน หรือหากแหล่งรายได้ของคุณคือกิจการส่วนตัว ต้องรีบปรับตัวด้วยการควบคุมต้นทุนให้ต่ำลง สำรองเงินทุนและรักษาสภาพคล่องในบริษัทให้มั่นคง อีกทั้งต้องระวังการให้เครดิตในระยะยาวแก่คู่ค้า เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน อาจทำให้มีปัญหาในการชำระเงินจนทำให้กิจการของคุณขาดสภาพคล่องได้
- ให้ความสำคัญกับการออมเงิน และพยายามลดหนี้ให้เหลือน้อยที่สุด เมื่อต้องถูกเลิกจ้างกะทันหันหรือกิจการมีปัญหา เงินสำรองที่คุณออมไว้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนลงไปได้ และการปิดบัญชีหนี้ให้เหลือแต่ส่วนที่สามารถบริหารจัดการได้ จะทำให้ภาระทางการเงินของคุณเบาลงได้อีกมาก คุณจึงมีเวลาแก้ไขปัญหาและหาเงินเพิ่ม หลีกเลี่ยงการใช้บัตรเครดิตโดยไม่จำเป็น หรือถ้าหากใช้ก็ควรชำระเต็มจำนวนแทนการจ่ายขั้นต่ำ เพราะจะทำให้คุณมีหนี้และยังต้องเสียดอกเบี้ยรวมถึงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกต่างหาก และที่สำคัญอย่าลืมติดตามความมั่นคงของสถาบันการเงินที่คุณฝากเงินเอาไว้ให้ดี เพราะหากเกิดการทุจริตหรือมีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้น อาจทำให้คุณสูญเสียผลประโยชน์ในเงินฝากหรือสินทรัพย์ที่มีได้
- ลดค่าใช้จ่าย หารายได้เพิ่ม ลดทอนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอย่างเช่น การซื้อสินค้าอิเล็คทรอนิคส์ใหม่ ๆ หรือโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ที่ไม่จำเป็น ซื้อรถยนต์ใหม่ทั้งที่คันเก่ายังใช้ได้ เป็นต้น หากของที่มีอยู่ยังใช้ได้ก็ไม่ควรซื้อใหม่ และการกู้เงินเพื่อมาซื้อก็เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะจะเป็นการสร้างภาระหนี้สินให้กับตัวเอง หาวิธีลดค่าใช้จ่ายในบ้านอย่างการประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ ลดการไปรับประทานอาหารนอกบ้านและทำอาหารกินเอง รวมทั้งหาช่องทางใหม่ ๆ ในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
แนวทางอย่างง่าย ๆ ในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนเหล่านี้ จะช่วยให้คุณผ่านพ้นวิกฤตทางการเงิน และช่วยสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจและสถานภาพทางการเงินของคุณได้เป็นอย่างดี