สำหรับนักลงทุนหรือนักธุรกิจหลายท่านที่ติดตามข่าวสารในเรื่องของค่าเงินบาทแล้วละก็เชื่อว่า ต้องมีความกังวลในเรื่องของค่าเงินบาทไทยที่ดูไม่แน่ไม่นอน มีความผันผวนค่อนข้างมาก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการแข็งค่าและอ่อนตัวลงสลับกันไปมา ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงปีก่อน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสภาวะเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคและของประเทศผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจทั้งหลาย
สำหรับอาทิตย์ที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงภาพรวมของเงินเฟ้อที่คาดว่า จะทรงตัวในระดับไม่เกินร้อยละ 1 ทั้งค่าเงินบาทจะยังคงมั่นคง เพราะทางธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ ธปท. จะยังดูแลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการตั้งเป้าในเรื่องของการสนับสนุนอำนวยความสะดวกให้กับการประกอบธุรกิจ ซึ่งแน่นอนว่า สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงไปอีกหลังช่วงเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ หลังการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและจัดอันดับไทยของธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงค์
ถึงแม้ว่า ค่าเงินบาทไทยจะดูผันผวนแต่หากเทียบกับสกุลเงินอื่นแล้วกลับแสดงถึงความมั่นคงของค่าเงินบาท ทางนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ผู้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า หลังจากที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประเมินสถานการณ์และดูแลอย่างใกล้ชิดแล้วนั้น ความผันผวนของค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมานั้น ถือว่าน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่น ประเทศอินโดนีเซีย โดยปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ไม่ได้มีการรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างที่ควร ทำให้มีเงินทุนจำนวนมากไหลเข้าสู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นต้น
จากการวิเคราะห์สถานการณ์แล้วนั้น มีความเป็นไปได้สูงว่า ค่าเงินบาทของเรานั้นมีความมั่งคงแข็งแรงดี ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลแต่อย่างใด นอกเหนือไปกว่านั้นประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาวะเงินไหลเข้าอย่างแน่นอน เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ล่าช้าของทางสหรัฐอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในเบื้องต้น ซึ่งอีกส่วนหนึ่งที่จะต้องสำหรับนักลงทุน คือ การประเมินสถานการณ์ของประเทศอื่น ๆ เพราะสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้จะส่งผลกระทบไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่หลาย ๆประเทศก็จะประสบภาวะแบบเดียวกัน
ในตอนนี้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยประมาณ 5 – 6 เดือนที่ผ่านมานั้น อัตราเงินเฟ้อติดลบอย่างต่อเนื่อง ทางด้านของภาวะเงินเฟ้อนั้นทางนางอภิศักดิ์กล่าวว่า ในปีนี้คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 1 แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่มีบางช่วงติดลบอยู่บ้าง เนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงเป็นปัจจัยหลัก โดยหากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอีก อัตราเงินเฟ้อก็จะปรับตัวสูงขึ้นตามนั้นเอง
ทางด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และทางกระทรวงการคลัง ยังได้มีการจัดประชุมติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนในด้านของการอำนวยความสะดวกสำหรับการประกอบธุรกิจ หลังเจ้าหน้าที่จากธนาคารโลกเดินทางมาประเทศไทยและติดต่อยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินข้อมูลการจัดอันดับ พร้อมกับหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเน้นที่การติดตามความคืบหน้าในเรื่องของการปรับปรุงขั้นตอนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจของส่วนราชการต่าง ๆ และการลดปัญหาพร้อมกับการอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ
เป้าหมายของทางรัฐบาลในการหารือครั้งนี้ คือ การขยับอันดับของประเทศไทย ในการจัดอันดับเรื่องของความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ จากแต่เดิมที่ได้รับอันดับ 49 ในรายงาน Doing Business ปี 2016 ให้เปลี่ยนเป็นอยู่ในอันดับที่ 28 ในปีข้างหน้า ซึ่งหลังจากนี้ทางธนาคารโลกจะกลับไปประมวลข้อมูลและประกาศผลการจัดอันดับในวันที่ 1 มิถุนายนนี้
นายอภิศักดิ์ ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ทางหน่วยงานราชการได้มีการปรับปรุงการอำนวยความสะดวก โดยการปรับปรุงหลายขั้นตอน จึงคาดว่าจะได้รับการพิจารณาปรับอันดับให้ดียิ่งขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อมีการหันมาใช้ระบบจ่ายเงินออนไลน์ หรือ ระบบ E-Payment ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนในการจัดตั้งธุรกิจ การขอใบอนุญาตต่าง ๆ การปิดกิจการ การขอใบอนุญาตสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือที่เราเรียกย่อ ๆ ว่า อย. รวมทั้งการรับจ่ายเงินของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ มั่นใจว่า ทุกขั้นตอนจะสามารถชำระผ่านระบบอิเล็กทรอนิคส์ภายในสิ้นปีนี้
อีกเรื่องที่น่าสนใจและอาจส่งผลต่อ เศรษฐกิจของประเทศไทยนั้นคือ เรื่องของความคืบหน้าในเรื่องของ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งในขณะนี้นั้นกำลังอยู่ในขั้นตอนของการสอบถามความเห็นของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่า จะนำเข้าสู่การพิจารณาของทางที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ในวันที่ 26 เมษายน ซึ่งสำหรับผู้มีรายได้น้อยนั้นจะไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด เนื่องจากทางรัฐบาลมีนโยบายที่ยึดกับความต้องการดูแลผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว
การจัดอันดับของทางธนาคารโลกย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์และจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนของต่างชาติอีกด้วย อย่างไรก็ตามการลงทุนจะส่งผลต่ออัตราค่าเงินอีกต่อหนึ่ง ดังนั้น อัตราค่าเงินย่อมมีความผันผวนต่อเนื่องไปจนถึงช่วงของการประกาศการจัดอันดับหรือจนกว่าสภาวะเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็มีความมั่นคงขึ้น แน่นอนว่าความผันผวนของค่าเงินบาทอาจส่งผลกระทบด้านลบในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามต้องคำนึงว่า อัตราค่าเงินบาทถือว่า มีความมั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น อย่ามองสถานการณ์ในแง่ลบและรอเพื่อประเมินสถานการณ์ต่อไปในอนาคต