ภาวะเศรษฐกิจของไทยที่มีการผันผวนอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ภาคการส่งออกสินค้าในปี 2558 ที่ผ่านมานั้น ไม่ค่อยแจ่มใสนัก โดยติดลบอย่างต่อเนื่องเข้าเป็นปีที่ 3 เนื่องจากมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนการส่งออกทางภาคเกษตร ซึ่งจีพีดีทางภาคเกษตรปี 2558 ได้ถูกคาดว่าจะมีมูลค่า 4.06 แสนล้านบาท โดยขยายตัวลดลงจากปี 2557 ที่มีมูลค่า 4.22 แสนล้านบาท (ลดลง 3.80%) ซึ่งผลคาดการณ์ดังกล่าวได้มาจากการพิจารณาถึงปัจจัยหลักที่ทำให้ภาคเกษตรหดตัวค่อนข้างมาก นั่นคือ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 และต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปี 2558 จึงทำให้มีการคาดคะเนว่า จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการปลูกข้าวนาปรังในช่วงปลายปี 2558 (พ.ย.58 – เม.ย.59) ยาวต่อเนื่องไปจนถึงปี 2559 ทำให้ผลผลิตสินค้าทางการเกษตรมีแนวโน้มที่ลดลง ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรลดลงตามไปด้วย
ปัญหาดังกล่าวจึงมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แต่อย่างไรก็ดีด้วยหลาย ๆ ปัจจัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมทั้งเศรษฐกิจของไทยเอง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2559 เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 3.7-4.7% โดยพิจารณาจากโครงสร้าง ขั้นตอน และวิธีการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งหมด ของรัฐที่พยายามเดินหน้าควบคู่ไปกับเอกชนให้ได้ ตลอดจนคาดว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะปรับตัวดีขึ้น และส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการประชุมของคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ขึ้นใน วันที่ 4 ธ.ค.2558 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้กำหนดเป้าการส่งออกของไทยในปี 2559 ให้เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบจากปี 2558 ด้วยเป้าที่กำหนดนี้ได้มีการพิจารณาจากภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนความต้องการของประเทศคู่ค้าและศักยภาพของผู้ส่งออกไทย
นอกจากนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2559 ได้ถูกคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายค่อนข้างต่ำประมาณ 1.1-2.1% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี และถ้าประเทศไทยสามารถรักษามูลค่าการส่งออกให้ไม่ต่ำกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนได้ จะทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ 5% ตามเป้าหมาย เพราะการส่งออกไทยนั้นคิดเป็น 70% ของจีดีพีเลยทีเดียว ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมาก ดังนั้นต้องทำให้การส่งออกเดินหน้าให้ได้ ดังนั้นจึงมีการกำหนดยุทธศาสตร์ออกมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ซึ่ง 7 ยุทธศาสตร์สำคัญที่ใช้ผลักดันการส่งออกปี 2559 ประกอบด้วย
- ยุทธศาสตร์ที่ 1 เปิดประตูการค้า พร้อมขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความตกลงในกลุ่มต่อไปนี้ TPP RCEP EU และ ASEAN
- ยุทธศาสตร์ที่ 2 มีมาตรการเร่งรัดขยายตลาดส่งออกในเชิงรุก โดยใช้ยึดเอาความต้องการตลาดเป็นตัวนำการผลิต
- ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการค้าบริเวณแถบชายแดน เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทั้งด้านการลงทุน เศรษฐกิจ และการค้า
- ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ไปดำเนินธุรกิจและลงทุนยังต่างประเทศ
- ยุทธศาสตร์ที่ 5 ปรับโครงสร้างการค้าสู่การค้าด้านบริการ เพื่อเป็นจักรกลใหม่ในการขับเคลื่อนการค้า โดยมีธุรกิจบริการที่ให้ความสำคัญ 6 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจโลจิสติกส์ (ขนส่ง) ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจบริการการต้อนรับ และธุรกิจบริการวิชาชีพ
- ยุทธศาสตร์ที่ 6 ส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs รายย่อย ให้สามารถเป็นตัวแทนที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
- ยุทธศาสตร์ที่ 7 สร้างมูลค่าเพิ่มการส่งออกให้แก่ภาคอุตสาหกรรม
จากยุทธศาสตร์ทั้งหมดนี้จึงทำให้เห็นได้ถึงแนวโน้มของการ ส่งออกไทย ปี 2559 ว่า ค่อนข้างดุเดือดและเป็นฝ่ายรุกกว่าในปีที่ผ่าน ๆ มา อาจด้วยไทยได้เข้าสู่ประชาคมอาเซียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้ต้องผลักดันตนเองเพิ่มขึ้น เพราะด้วยตลาดของผู้ซื้อที่กว้าง มีกำลังมากขึ้น กอปรกับการแข่งขันเกิดขึ้นในสมรภูมิการส่งออกสินค้าระหว่างประเทศในเขตอาเซียนนั้นเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นที่น่าจับตา เพราะถ้าหากใครสามารถกุมอำนาจทางเศรษฐกิจ และมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเป็นอันดับต้น ๆ ในทุกด้าน ย่อมทำให้ประเทศนั้นเจริญรุดหน้าอย่างไม่ยากเย็น
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศไทยเองก็เตรียมการเพื่อความพร้อมอยู่ตลอดเวลา และเมื่อพิจารณาข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยในปีที่ผ่านมา พบว่า ลำดับการส่งออกของสินค้าตัวหลักจากไทยสู่ตลาดโลกประจำปี พ.ศ. 2558 โดยเรียงจากมูลค่าสูงสุดไปหาต่ำสุดได้ดังนี้
-
รถยนต์ และอุปกรณ์/ส่วนประกอบ
-
เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์/ส่วนประกอบ
-
อัญมณีและเครื่องประดับ
-
เม็ดพลาสติก
-
น้ำมันสำเร็จรูป
-
แผงวงจรไฟฟ้า
-
ผลิตภัณฑ์ยาง
-
เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล
-
เคมีภัณฑ์
-
เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
เป็นข้อมูลที่ได้มาจากกรมการค้าไทย สำหรับประเทศคู่ค้าสำคัญ (การส่งออก และการนำเข้าสินค้า) ของไทย ประจำปี พ.ศ. 2558 โดยเรียงจากมูลค่าการซื้อขายสูงสุดไปหาต่ำสุดคือ
-
จีน
-
ญี่ปุ่น
-
สหรัฐอเมริกา
-
มาเลเซีย
-
สิงคโปร์
-
อินโดนีเซีย
-
ออสเตรเลีย
-
ฮ่องกง
-
เวียดนาม
-
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ซึ่งจะเห็นได้ว่า จีนเป็นตลาดใหญ่ และเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของไทย โดยในปี 2558 นั้น ด้วยจีดีพีของประเทศจีนลดลง เศรษฐกิจโดยรวมมีความผันผวน
และถึงแม้ผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของจีนจะพยายามรักษาบรรยากาศรวมทางเศรษฐกิจ แต่ด้วยภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มเย็นตัว ระดับหนี้สินเพิ่มสูง ตลอดจนปริมาณการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมที่ล้นเกิน มีผลทำให้ปริมาณการส่งสินค้าของไทยออกสู่จีนยังไม่สูงมากตามเป้าที่ต้องการ อันเป็นผลมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจของคู่ค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลง และราคาส่งออกสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์หลายชนิดของไทยนั้นสูงกว่าประเทศคู่แข่งขันอื่น จึงทำให้ประเทศคู่ค้าหันไปนำเข้าจากประเทศเหล่านั้นแทน แต่หลังจากนี้มีการคาดการณ์ว่า ประเทศจีนจะมีการปรับกลยุทธ์ใหม่โดยการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมการบริโภค การใช้จ่ายในภาคการส่งออก และการลงทุน เพื่อเศรษฐกิจในระยะยาว จึงทำให้ประเทศไทยอาจได้รับอานิสงค์จากการปรับนโยบายใหม่ครั้งนี้
แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการส่งออกของไทยจะมีแนวโน้มที่ดี และเอื้อให้เกิดปริมาณการส่งออกที่มากขึ้น แต่ก็ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ควรพิจารณาประกอบคือ ราคาน้ำมันที่น่าจะปรับตัวสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลง และหากค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นก็จะทำให้การส่งออกลดลงเช่นกัน ดังนั้น ถ้าจะทำให้การที่ส่งออกของไทยจะเติบโตได้เพิ่มขึ้น ภาคเอกชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยจะมีการเน้น และปรับกลยุทธ์การส่งออกโดยเพิ่มประเทศคู่ค้า คือ อาเซียน 9 ประเทศเข้ามา และด้วยสัญญาณที่ดีของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม จากช่วงเดือน ก.ย. ถึง ต.ค. และ พ.ย. ถึง ธ.ค. 58 ทำให้มองเห็นทิศทางที่ดีว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าน่าจะขยายตัวได้ 3.8% เพราะหัวเรือหลักทางเศรษฐกิจของไทย อัน ได้แก่ การบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และการส่งออก ได้กลับมาเข้าสู่ระดับปกติแล้ว จึงทำให้ ปีหน้าเป็นปีแห่งการลงทุนอย่างแน่นอน