แม้ว่าอัตราการส่งออกของเศรษฐกิจโลก โดยภาพรวมอยู่ในภาวะชะลอตัวและมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบและแผ่ขยายเป็นวงกว้าง ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน โดยปกติไทยมีการส่งออกสินค้าไปยังเศรษฐกิจหลัก ๆ คือ ยุโรป สหรัฐและจีน แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน ทำให้อัตราการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวมีอัตราลดลง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มนักธุรกิจชาวจีนบางส่วนที่หันมาเช่า/ซื้อพื้นที่ทางเขตตอนเหนือของประเทศไทยเพื่อทำการเกษตรและส่งออกเอง
ล่าสุดพบว่ากลุ่มนักธุรกิจจีนได้เข้าไปติดต่อซื้อขายทุเรียนแบบเหมาสวนจากชาวสวนทุเรียนตั้งแต่ยังไม่ออกดอกอีกทั้งยังให้เงินแก่ชาวสวนเพื่อนำไปบริหารจัดการล่วงหน้า หากผลผลิตทุเรียนไม่เป็นไปตามมาตรฐาน กลุ่มธุรกิจจีนก็ไม่ขอเงินคืนแต่จะทำการเลื่อนการซื้อทุเรียนเป็นปีถัดไปแทน ทำให้พ่อค้าไทยสู้ไม่ไหวเพราะสภาพคล่องน้อยกว่า และทำให้กลุ่มพ่อค้าไทยไม่สามารถหาทุเรียนมาส่งออกได้ จากสถานการณ์ดังกล่าว คาดว่าในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มพ่อค้าไทยจนอาจจะต้องเลิกกิจการไปในที่สุด
และจากสถานการณ์ราคายางพาราในปัจจุบัน อัตราราคายางพาราแผ่นดิบเฉลี่ย 45-50 บาท/กิโลกรัม ในขณะที่ราคาต้นทุนในการเพาะปลูกยางพาราที่ชาวสวนยางต้องแบกรับเฉลี่ย 65 บาท/กิโลกรัม ทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) จึงได้ให้คำแนะนำแก่ชาวสวนยางพาราตลอดจนถึงผู้ประกอบการ แนะให้หาวิธีเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้ายางพารา เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าจากสถานการณ์ราคายางพารา ณ ปัจจุบันที่ยังทรงตัว จะส่งผลกระทบต่อชาวสวนยางพาราต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปี
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า เกษตรกรควรตื่นตัว เตรียมพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ เนื่องจากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำไปอีก 2-3 ปี และคาดว่าราคาสินค้าเกษตรจะมีราคาต่ำต่อเนื่องไปอีก หากเกษตรกรรอให้รัฐบาลช่วยเหลือ อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาวได้ ดังนั้น เกษตรกรจึงควรนำองค์ความรู้มาพัฒนาเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ไปให้จงได้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไทยได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) จึงส่งผลให้แม้ว่าในช่วง 5 ปี ที่ผ่านนี้เศรษฐกิจโลกมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 3.5% แต่สำหรับกลุ่ม จีเอ็มเอส กลับมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 7% นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าไทยไปยังกลุ่มภูมิภาค CLMV (Cambodia-Laos-Myanmar-Vietnam) ซึ่งประกอบไปด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม ก็ยังคงมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 13% อีกทั้งสัดส่วนการส่งออกยังมีอัตราเพิ่มขึ้นจาก 6% เป็น 10%
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2559 ได้รับอนุมัติการลงทุน 78 โครงการ โดยลงทุนไปกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ราว 27,000 ล้านบาท คาดว่าเมื่อโครงการทั้งหมดเปิดดำเนินการ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดรายได้จากการส่งออกกว่า 62,600 ล้านบาท/ปี
ปัจจุบันได้มีการส่งเสริมการลงทุนเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ซึ่งเชื่อมั่นว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรกรรมจะยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องไปได้อีก
ในส่วนของธุรกิจการส่งออกทางด้านอุตสหกรรมพลาสติกนั้น จากเดิมที่มีอัตราการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 20 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้วางแผนที่จะเพิ่มอัตราการส่งออกภายในระยะเวลา 5 ปี นี้ ให้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 และมีเป้าหมายที่จะให้ธุรกิจอุตสาหกรรมพลาสติกได้เข้าสู่ตลาดโลก ประเทศที่ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และจีน ตามลำดับ
ทาง สศอ.คาดว่า เมื่อยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติก ดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด จากเดิมเทียบกับปี 2557 ที่ประเทศไทย มียอดการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกมูลค่าราว 520,000 ล้านบาท และส่งออกราว 123,000 ล้านบาท จะส่งผลให้การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกในปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 700,000 ล้านบาท และมียอดการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 211,000 ล้านบาท
จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เรื่อง “ค่าครองชีพแพงจริงหรือ ในสถานการณ์ภัยแล้งและยุคเงินเฟ้อติดลบ” ในปี 2558 นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เผยว่าจากการสำรวจพบว่าตัวแทน 1,356 คน มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 27,000 บาท/เดือน รายจ่าย 21,000 บาท/เดือน ร้อยละ 75 มีหนี้สินครัวเรือนประมาณ 157,000 บาท ซึ่งหมายความว่ารายรับไม่พอกับรายจ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเกษตรกร และ ลูกจ้างรายวัน ที่เกิดความรู้สึกว่าสินค้าราคาแพงขึ้นกว่าเดิม จึงมีความเห็นว่าควรมีการปรับค่าแรง 10-15 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่อีกที
ณ เวลานี้ไทยกำลังเข้าสู่ภาวะภัยแล้ง เขื่อนหลายแห่งมีปริมาณน้ำลดลง และบางแห่งน้ำแห้งจนไม่สามารถแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในการใช้อุปโภค บริโภคได้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอาจกระทบไปถึงปริมาณสินค้าเกษตรในการส่งออก ด้วยเหตุที่ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนไม่แน่นอน กอปรกับมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ช่วงเดือนที่ผ่านมา เราจึงควรเฝ้าระวังโดยการหาวิธีการเพิ่มรายรับ ลดรายจ่าย ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า มีการวางแผนการปฏิบัติงานอย่างเป็นขั้นตอน น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เชื่อว่าหากคนในชุมชนเข้มแข็ง สังคมก็จะเข้มแข็ง ประเทศชาติก็จะเข้มแข็ง เราจะต้องร่วมมือกันข้ามผ่านวิกฤตการณ์นี้ไปได้อย่างแน่นอน