ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เป็นดัชนีที่ใช้วัดหรือประเมินค่าความรู้สึกของผู้บริโภคเกี่ยวกับหลาย ๆ สภาวะเข้ามากระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างสภาวะการจ้างงานในปัจจุบันและในอนาคต รายได้จากการจ้างงานที่อาจจะได้รับอนาคต สภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันและอนาคต เป็นต้น เป็นการประเมินความรู้สึกของประชาชนหรือที่เรียกว่าผู้บริโภคถึงผลกระทบทางด้านต่าง ๆ ของระบบเศรษฐกิจ สามารถบ่งบอกถึงความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อหรือเงินฝืด รวมไปถึงรายได้ที่แท้จริงทั้งหมดที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาทำการช่วยเหลือ ซึ่งผลของการตรวจสอบดัชนีเหล่านี้จะทำให้ทางภาครัฐสามารถเข้าถึงปัญหาต่าง ๆ ของผู้บริโภค และสามารถแก้ไขระบบเศรษฐกิจได้ใกล้เคียงต่อความจริงมากที่สุดอีกด้วย
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปีที่ผ่านมา ซึ่งในช่วง 3 เดือนหลังก่อนสิ้นปี เริ่มมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังปรับขึ้นมาสูงสุดในรอบ 8 เดือน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการช้อปช่วยชาติ ที่ทำให้เงินในช่วงปีใหม่และต้นปี 2559 มีเงินที่สะพัดราว ๆ 139,000 ล้านบาท ทำให้จีดีพีเติบโตถึง 3.5%
- โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคโดยรวมแล้วอยู่ที่ 65.1
- ส่วนดัชนีในเรื่องของโอกาสในการหางานอยู่ที่ 70.9
- ความเชื่อมั่นที่เกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 92.4 ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีเพราะปรับตัวสูงมากที่สุดทุกรายการในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมา
- ในขณะที่ดัชนีความเห็นชอบในเรื่องของทางการเมือง ที่เกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองทั้งหมดอยู่ที่ 94.2 ซึ่งก็ถือว่าเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 10 เดือนเลยทีเดียว
เมื่อดูโดยรวมแล้วดัชนีความเชื่อมั่นในขณะนี้ถือว่าปรับตัวดีขึ้น ทั้งยังดีดขึ้นมาอย่างมาก พร้อมไปด้วยปัจจัยบวกจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในหลาย ๆ โครงการที่ถูกทยอยออกมาเพื่อให้ผู้บริโภคทั้งหลายได้รับสิทธิประโยชน์ที่คุ้มค่า โดยเฉพาะในโครงการช้อปช่วยชาติที่ให้นำเงินค่าใช้จ่ายที่ไม่เกิน 15,000 บาท สามารถไปหักลดหย่อนภาษีได้ และมีปัจจัยที่เป็นน่าพึงพอใจจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ซึ่งทำให้สภาวะค่าครองชีพปรับตัวดีขึ้น
โดยเฉพาะในเดือนธันวาคมปี 2558 ได้มีการชี้วัดถึงดัชนีความสุขในหลาย ๆ เรื่องของคนไทยปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ทำการสำรวจมา หรือดีขึ้นในรอบ 116 เดือนนับจากปี 2549 รวมไปถึงมุมมองในเรื่องของแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากการที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำการปรับลด GDP ให้เป็น 2.8% ที่จากเดิม 2.7% อีกด้วย
แต่ก่อนหน้านั้นในเดือนสิ่งหาคมและกันยายนปี 2558 กลับมีดัชนีผู้บริโภคที่ถือว่ามีค่าต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2557 เนื่องจากเกิดสภาวะความกังวลของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ค่อยมีความแน่นอน รวมไปถึงสภาวะทางเศรษฐกิจโลกและภาคการส่งออกที่มีปัญหา ทั้งยังไม่มีข่าวว่าจะฟื้นตัวขึ้น ซึ่งในขณะที่ภาคสินค้าทางการเกษตรก็ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับที่ต่ำทำให้กำลังซื้อลดลงไปอย่างมาก และการที่ช่วงนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือ GDP ลดลงเหลือเพียง 2.7% ลดลงจากเดิมถึง 3% เพราะด้วยความที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน จึงทำให้เกิดเป็นความไม่ไว้วางใจในเรื่องของเศรษฐกิจ ดัชนีผู้บริโภคจึงเกิดความผันผวนและทำให้ความพึงพอใจต่อทุกสิ่งน้อยลงไปด้วย แต่อย่างไรก็ดีเมื่อเข้าสู่เดือนตุลาคม 2558 เรื่อยมาจนถึงต้นปี 2559 ดัชนีความพึงพอใจของผู้บริโภคเริ่มสูงขึ้น ด้วยวิธีการกระตุ้นของทางภาครัฐที่ถือว่าได้ผลเป็นอย่างมาก เพราะดัชนีในทุกด้านพุ่งขึ้นสูงอย่างน่าพอใจ
ด้านนักวิชาการต่างก็พากันชี้ว่าเหตุการณ์นี้ส่งผลที่ดี และประเมินมาแล้วว่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวสูงขึ้นในทุกรายการ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังจะฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง และคาดว่าตลอดทั้งปี 2559 เศรษฐกิจไทยจะมีการขยายตัวมากถึง 3.5-4% จากปัจจัยในเรื่องของการท่องเที่ยว การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐต่อโครงการในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ และการส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงของไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ แต่ทั้งนี้เรื่องของปัจจัยเสี่ยงก็ยังคงมีและยังคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด เกี่ยวกับปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศและปัญหาการก่อร้ายข้ามชาติ ที่อาจจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อทิศทางของการฟื้นตัวเศรษฐกิจของโลก ซึ่งก็อาจจะพ่วงปัญหามาสู่เศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของภัยแล้งส่งผลทำให้รายได้ของทางภาคเกษตรลดลงอย่างมากและเป็นผลกระทบต่อกำลังซื้อภายในประเทศอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคนั้นมีความสำคัญต่อสภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เพราะกำลังซื้อและความไว้วางใจเศรษฐกิจในแต่ละด้าน พร้อมการลงทุนจากภาคธุรกิจทั้งขนาดกลางและขนาดย่อมล้วนแล้วแต่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจชาติ ถ้าดัชนีเหล่านี้ต่ำลงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่ำ การใช้จ่ายภายในประเทศก็จะลดต่ำลงไปด้วย เพราะผู้คนไม่กล้าใช้เงิน ก็จะเกิดเป็นปัญหาที่กระทบต่อกันไปจนกลายเป็นปัญหาของเศรษฐกิจชาติไปโดยปริยาย แต่อย่างไรก็ตามผู้บริโภคเองยังคงต้องติดตามเศรษฐกิจของประเทศและทั่วโลกต่อไป เพราะในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจของประเทศยังไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้สักเท่าไหร่นัก จึงต้องรอดูว่าทางรัฐบาลจะมีนโยบายอะไรเข้ามากระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนอีกครั้ง และจะมีการเอาโครงการช้อปช่วยชาติกลับมาใช้อีกครั้งหรือไม่ เพื่อได้เป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง