ข่าวที่เป็นที่โด่งดังด้านสุขภาพที่มีผลเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจอย่างมากในตอนนี้ก็คงหนีไม่พ้น ข่าวลือของการระงับบัตรทอง 30 บาทของทางภาครัฐที่ค่อนข้างสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนอย่างมากมาย ถึงในที่สุดแล้วจะจบลงด้วยการที่ท่านนายกรัฐมนตรีจะมีการออกประกาศทางสื่อแล้วว่าจะไม่มีการระงับโครงการ 30 บาทแต่อย่างใด เพียงแต่อาจจะต้องหามาตรการในการช่วยเหลือเรื่องของงบประมาณที่เสียไปตรงนี้อย่างมหาศาล เพื่อไม่ให้เรื่องบัตรทองเป็นการผลักภาระมาที่ฝ่ายภาครัฐแค่ฝ่ายเดียว แต่ทางภาคประชาชนก็ต้องมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือบ้างเล็กน้อย ซึ่งก็ถือว่ายังคงเป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเป็นวงกว้าง ที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อแนวความคิดนี้ แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ที่แน่ใจได้คือคนในประเทศจะต้องได้รับสิทธิ์ในการรักษาที่เท่าเทียมและครอบคลุมที่มากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน
อ่านเพิ่มเติม >> ประชาชนเตรียมควัก รัฐแบกรับภาระ บัตรทอง ไม่ไหว <<
ทั้งนี้ในเรื่องของการแบกรับค่าใช้จ่ายในโครงการ 30 บาทและโครงการรักษาฟรีของผู้สูงอายุที่ทางภาครัฐต้องแบกรับค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาล จนทำให้เกิดคำถามจากผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ คนว่า หลัก ประกันสุขภาพ เหล่านี้จะไม่เป็นภาระทางการคลังในอนาคตจริงหรือ เพราะทางภาครัฐจะต้องจัดการทั้งเรื่องที่มางบประมาณ, การขาดทุนของโรงพยาบาลรัฐ, การดำเนินงานของกองทุนประกันสุขภาพ และการวิเคราะห์ทางสถิติโดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ว่ามาจาก สปสช. ซึ่งเงินงบประมาณทั้งหมดที่ สปสช.นำมาใช้จ่ายก็ล้วนแล้วแต่ได้มาจากภาครัฐล้วน ๆ หรือในอีกแง่หนึ่งก็เป็นเงินที่มาจากภาษีของประชาชนที่ภาครัฐนำมาสนับสนุนโครงการประกันสุขภาพต่าง ๆ โดยงบค่าใช้จ่ายที่ สปสช.ได้รับมาจากทางภาครัฐนั้นก็จะถูกแบ่งออกเป็นเงินงบประมาณการบริหารและเงินงบค่ารักษาพยาบาลที่คิดจากค่าใช้จ่ายต่อหัวคูณด้วยผู้ที่มีสิทธิและได้ลงทะเบียนไว้แล้ว
ซึ่งถ้าคิดแล้วเงินงบประมาณในส่วนแรกนั้นจะมีการใช้จ่ายที่น้อยกว่าในส่วนที่สอง ในส่วนงบของค่ารักษาต่อหัวก็มีการเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ทาง สปสช. จึงต้องมีการต่อรองอย่างมาก เพราะในบางปีงบในส่วนนี้ทางรัฐบาลก็ให้โดยจำกัด ซึ่งในโครงการประกันสุขภาพทั้ง 30 บาทและผู้สูงอายุในปี 2558 นั้นยังคงมีแนวโน้มที่ภาครัฐอาจจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นต่อไป จนกว่าทางคณะรัฐมนตรีจะมีนโยบายที่ดี ๆ มาทำให้เรื่องของค่าใช้จ่ายจะบรรเทาลง เพราะค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้จะไปส่งผลกระทบต่อบุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาลต่าง ๆ ให้ทำงานได้ด้อยประสิทธิภาพลง เพราะสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลรัฐบางที่ไม่สามารถที่จะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกินตัวมากจนเกินไปที่จะทำให้เกิดการขาดทุนขึ้นอย่างมากมาย จนเกิดปัญหาบุคลากรทางการรักษาพากันย้ายไปอยู่กับโรงพยาบาลเอกชนที่สามารถจ่ายค่าจ้างได้คุ้มค่ากว่า และเครื่องมือพร้อมทั้งอุปกรณ์ในการรักษาต่าง ๆ ก็มีไม่ครบ หรืออาจจะไม่ได้รับการบำรุงรักษา ซึ่งนั่นก็ยิ่งส่งผลให้เกิดปัญหาในการรักษาอย่างมากมาย
นอกจากนี้ประเทศไทยได้มีการเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงทำให้ต้องมีการส่งเสริมเรื่องสุขภาพของคนในประเทศ ที่เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ เพราะความเข้มแข็งและแข็งแรงของร่างกายคนในประเทศเป็นการบ่งบอกถึงศักยภาพด้านการรักษาและดูแลที่ดี เพราะเมื่อประชาชนภายในประเทศได้รับการดูแลทางการแพทย์ที่ดีพร้อมทั้งมีการส่งเสริมให้มีสุขภาพการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ภาคเศรษฐกิจภายในประเทศก็จะมีความก้าวหน้าไปด้วย ซึ่งถ้าดูให้ดี ๆ ก็สามารถที่เข้าใจได้ว่าประเทศที่มีความเข้าใจในเรื่องของการรักษาที่ดีและส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีนั้น มักจะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจที่ดีด้วย เพราะประเทศไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่อโรคต่าง ๆ มากมายนัก จึงสามารถที่จะนำเอาเงินในส่วนนี้ไปใช้พัฒนาประเทศในด้านอื่น ๆ ต่อไปได้เป็นอย่างดี ซึ่งประเทศที่ถือว่าประชากรมีสุขภาพที่ดี และถือว่าเป็นประเทศแห่งคลังสุขภาพมีอยู่ด้วยกัน 4 ประเทศ คือ สิงคโปร์, บรูไน, มาเลเซียและไทย ที่สามารถพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองจากความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ พร้อมทั้งสามารถที่จะรักษาได้อย่างครอบคลุมถ้วนหน้า โดยในขณะที่หลาย ๆ ประเทศยังประสบปัญหาการขาดแคลนการรักษาพยาบาลจากบุคลากรและตัวแพทย์เอง รวมไปถึงข้อจำกัดของการผลิตบุคคลากรที่มีคุณภาพและเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
ภายใต้เงื่อนไขของการร่วมมือกันของประชาคมอาเซียน จะยิ่งทำให้การรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพของคนในประเทศจะเป็นไปอย่างทั่วถึงและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพราะทางภาครัฐจะมีการหนุนในเรื่องของทางการแพทย์ที่จะทำให้สุขภาพของคนในชาติดีขึ้น ในปี 2559 จึงเป็นอีกปีที่เรื่องปัญหาของการประกันสุขภาพในโครงการต่าง ๆ อาจจะยังมีปัญหา พร้อมทั้งการพัฒนาที่ควบคู่กันไปอย่างแน่นอน ซึ่งก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไป แต่ด้วยความร่วมมือกันของเหล่าประเทศในอาเซียนจะทำให้การรักษาพยาบาลต่าง ๆ เป็นไปอย่างซับซ้อนและพลวัตมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในอาเซียนด้วยกัน จึงสามารถมั่นใจได้ว่าการเสริมสร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนในประเทศน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน แต่ถ้าหากรัฐบาลอยากลดภาระส่วนนี้อย่างจริงจัง คงต้องส่งเสริมการดูแลสุขภาพของคนไทยทั้งระบบ โดยจัดเป็นวาระแห่งชาติ แล้วรณรงค์ให้ผู้คนหันมาดูแลอาหารการกิน การออกกำลังกาย เพราะเมื่อคนเราแข็งแรงแล้ว ก็ทำให้โอกาสเจ็บไข้ได้ป่วยน้อยลง ถ้าคนไทยไม่มีภาวะอ้วน ไขมันสูง เบาหวาน ก็ลดจำนวนผู้ป่วยและค่ายา ค่ารักษาพยาบาลลงได้อีกมาก ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักและต้องรีบทำให้สำเร็จโดยเร็ว เพราะยิ่งปัจจุบันมีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คนไม่ออกกำลังกายมากขึ้นเท่านั้น