เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ได้มีการสรุปถึง ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ปี 2559 จากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคโดยทั่วไปของประเทศจะอยู่ที่ 105.62 ลดลงจากเดือนที่แล้ว 0.50% ซึ่งเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่าเป็นการติดลบอย่างยาวนานถึง 14 เดือน นับมาตั้งแต่เดือนมกราคมของปี 2558 เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศยังมีราคาที่ลดต่ำลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ค่าโดยสารรถบริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. และทางรถร่วมเอกชนที่มีการวิ่งระหว่างจังหวัดมีอัตราที่ลดลง จากราคาค่าแก๊สหุงต้มและค่ากระแสไฟฟ้าที่ลดลง
แต่อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ก็เพิ่มขึ้นถึง 0.15% แต่เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2559 ก็ถือว่ากลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 โดยสาเหตุหลักมาจากราคาบุหรี่ที่เพิ่มสูงขึ้น และราคาของผักและผลไม้สดที่มีการปรับตัวสูงขึ้นไปด้วย จากในช่วงของเทศกาลตรุษจีนและตามผลผลิตที่ลดลงจากภัยแล้งที่เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวนในภาคการเกษตร
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคแบบพื้นฐาน ซึ่งตัดเอาราคาน้ำมันและราคาอาหารสดออกแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ 106.37 เพิ่มขึ้นมา 0.68% ที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเมื่อปีที่แล้ว ก็ถือว่าเพิ่มขึ้นมา 0.18% โดยถือว่าดัชนีราคาผู้บริโภคนี้เริ่มที่จะมาเป็นบวก แต่ก็ยืนยันว่าไม่ได้เข้าสู่สภาวะเงินฝืดอย่างแน่นอน ทั้งยังต้องจับตาดูภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้นว่าจะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรมากน้อยเพียงใด และคาดว่าแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้งภายในครึ่งปีหลัง จากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางรัฐบาล ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เองก็ได้มีการปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2559 อยู่ที่ 0-1% เนื่องจากหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจของโลกและหน่วยงานในด้านเศรษฐกิจของไทยได้ปรับลดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ลง การปรับลดก็จะอยู่บนสมมติฐานหลักในอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ที่ 2.8-3.8% ราคาน้ำมันดิบของทางดูไบจะอยู่ที่ 30-40 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และอัตราการแลกเปลี่ยนก็จะอยู่ที่ 36-38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่เดิมปลายปีที่แล้วได้คาดการณ์ไว้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ที่ 1-2% เมื่ออัตราการเจริญเติบโตของธุรกิจไทยอยู่ที่ 3-4% และราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 48-54 เหรียญสหรัฐ
สำหรับผลต่อทิศทางทางการเงิน มีการคาดการณ์ว่าทิศทางเงินเฟ้อของไทยนั้นได้ผ่านในจุดที่วิกฤติไปแล้ว และในช่วงหลังก็เริ่มที่จะทยอยติดลบน้อยลงไปเรื่อยๆ ในช่วงต้นของครึ่งปีหลัง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็เริ่มที่จะกลับมายืนอยู่เหนือระดับร้อยละ 1.0 ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน โดยในช่วงของไตรมาสที่ 4 จะเป็นช่วงที่มีค่าเฉลี่ยในเงินเฟ้อที่สูงที่สุดของปี และมองว่าแนวโน้มเงินเฟ้อที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้นจะเป็นผลมาจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในปีก่อนเป็นหลัก ซึ่งไม่น่าที่จะสามารถมาเป็นเงื่อนไขที่สร้างข้อจำกัดสำหรับการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของทางธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งในปีนี้การคาดเดาของทางธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นจะยังคงให้น้ำหนักกับทางการดูแลโมเมนตัมการฟื้นตัวของทางเศรษฐกิจไทยที่ยังมีสัญญาณที่อ่อนแอในภาคของการส่งออกและการใช้จ่ายในภาคเอกชนเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับทางธนาคารกลางในประเทศอื่นๆ ที่ส่งสัญญาณมาพร้อมการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินรอบใหม่ เพื่อที่จะรับมือกับความเปราะบางของทางเศรษฐกิจโลก
ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์นั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนใช้สอย ครอบคลุมไปจนถึงหมวดของอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ ยาวไปจนถึงเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า บ้านเรือน การตรวจรักษาโรค และการบริการแบบส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่ง การสื่อสาร และบันเทิง เป็นต้น ซึ่งจะมีรายการรวมเบ็ดเสร็จทั้งหมด 450 รายการ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 0 สะท้อนว่าผู้บริโภคสามารถที่จะซื้อสินค้าและบริการเท่าเดิมแต่ได้ในราคาที่ต่ำลง แต่ผลกระทบของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับแต่ละภาคครัวเรือนนั้นก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมและประเภทของตัวสินค้า งานบริการที่แต่ละทางครัวเรือนใช้สอยหรือเลือกที่จะรับไป
ทาง สคส.ได้มีการวิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงเดือนมกราคม 2559 ได้รับปัจจัยการสนับสนุนมาจากการใช้จ่ายของทางภาครัฐ โดยเฉพาะในการลงทุนของรัฐบาลที่ยังสามารถขยายตัวได้ในระดับสูง สะท้อนมาจากการเบิกจ่ายงบประมาณการเงินที่ขยายตัวร้อยละ 20.5 ต่อปี และภาคของการท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีการขยายตัวเป็นอย่างมาก โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาเที่ยวไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์มากถึง 3 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 15.0 ต่อปี ซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนการเติบโตของภาคเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดีและต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าทางภาคเอกชนจะเริ่มที่จะมีการชะลอตัวลง โดยเฉพาะในหมวดเรื่องของการก่อสร้างที่สะท้อนมาจากภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัวเหลืออยู่ร้อยละ -5.6 ต่อปี สำหรับในภาคของการส่งออกก็ยังถือว่าหดตัวไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการส่งออกของตลาดหลักที่มีประเทศในกลุ่มอาเซียนและสหรัฐอเมริกาเป็นสำคัญ การฟื้นตัวอย่างเปราะบางไปตามสภาวะของทางเศรษฐกิจภายในประเทศและความเสี่ยงของสภาวะเศรษฐกิจโลกอีกด้วย