ไม่พกเงินสด! คนไทยเกินครึ่งใช้ชีวิต Cashless นิยมจ่ายเงินผ่านดิจิทัล
-
57% ของคนไทย นิยมทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล
-
78% ของคนไทย พยายามใช้เงินผ่านช่องทางดิจิทัลเพียงอย่างเดียวในชีวิตประจำวัน
-
42% ของคนไทย พกเงินสดน้อยลงในช่วงสองปีที่ผ่านมา
นี่คือข้อมูลจริงจากผลสำรวจเกี่ยวกับทัศนคติและพฤติกรรมการชำระเงินระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเทรนด์สำคัญของผู้บริโภคประจำปี 2561 จัดทำโดยวีซ่า ที่พบว่า คนไทยเกินครึ่งนิยมทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น บัตรเดบิต บัตรเครดิต แอปพลิเคชันการชำระเงินบนสมาร์ทโฟน และคิวอาร์โค้ด ขณะที่มีเพียง 43% ที่ยังนิยมใช้เงินสดอยู่
นอกจากนั้น ข้อมูลยังระบุอีกว่า คนไทย 78% ซึ่งถือเป็น 4 ใน 5 พยายามใช้เงินผ่านช่องทางดิจิทัลเพียงอย่างเดียวในชีวิตประจำวัน ซึ่งสูงขึ้นกว่าปี 2560 ที่มีเพียง 50% และคนที่พยายามใช้เงินผ่านช่องทางดิจิทัลเพียงอย่างเดียวนั้น กว่า 60% สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้หนึ่งวันโดยไม่ใช้เงินสด และมีจำนวนถึง 45% ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินสดเลยได้นานกว่าสามวันเนื่องจากเทคโนโลยีการชำระเงินในปัจจุบันที่ก้าวล้ำ มีหลากหลายรูปแบบ สร้างความสะดวกสบาย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งร้านค้าต่าง ๆ ก็ปรับตัวมารับชำระเงินดิจิทัลมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ที่ระบุว่า อัตราการเติบโตของ B2C (Business to Consumer) ของประเทศไทยสูงเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน เมื่อเทียบมูลค่าระหว่างปี 2559 กับปี 2560 พบว่า เพิ่มถึงกว่า 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี ระบบ e-Payment ที่สะดวกมากขึ้น
ด้วยเหตุผลนี้เองจึงทำให้คนไทยกว่า 98% รู้จักการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟน และใช้ประโยชน์จากช่องทางนี้มากขึ้น จากปี 2560 ที่ 90% เป็น 94% ในปี 2561 โดยเฉพาะการชอปปิ้งออนไลน์ที่มีค่าใช้จ่ายอยู่ประมาณ 1,500 บาทต่อเดือน ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก
สำหรับเหตุผลที่คนไทยนิยมพกเงินสดน้อยลง ก็คือ
- 65% คิดว่าการพกเงินสดจะไม่ปลอดภัย
- 65% มีการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น
- 39% ไม่สะดวกใช้เงินสด
เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของคนไทยที่มีต่อความก้าวหน้าของประเทศที่จะพัฒนาเป็นสังคมไร้เงินสดในอนาคต พบว่า
- 29% มีความมั่นใจว่าจะสามารถปรับตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้ภายใน 3 ปี ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2560 มีเพียง 11% เท่านั้น
- 39% เชื่อว่าจะใช้เวลา 4-7 ปี เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่สังคมไร้เงินสด
- 6% เชื่อว่าจะใช้เวลามากกว่า 15 ปี
พฤติกรรมของคนไทยที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแต่ร้านค้าที่ปรับตัว ธุรกิจต่าง ๆ ก็ตระหนักและปรับกลยุทธ์เพื่อตอบสนองและรองรับความต้องการของผู้บริโภคเช่นกัน ทั้งขยายการรองรับการชำระค่าสินค้าและบริการอีคอมเมิร์ซผ่านบัตรเดบิตไทยให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น หรือการเชื่อมต่อช่องทางการชำระเงินออนไลน์บน Google Play กับแอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet เพื่อให้ผู้ใช้มือถือระบบแอนดรอยด์สามารถซื้อดิจิทัลคอนเทนต์ก็ตาม
นับเป็นสัญญาณที่ดีที่สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนสู่สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society อย่างเต็มรูปแบบ เพื่ออำนวยความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตควบคู่ไปกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่นับวันจะพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง