ความหวังของภาคการส่งออกที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศของปี 2558 นั้นต้องเจอกับสภาวะวิกฤตและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่แกว่งตัว ทั้งจากภัยแห้งแล้ง สภาวะอากาศแปรปรวน ภัยสงครามและการอพยพย้ายถิ่นฐาน การเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ และอยู่ในระหว่างการต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อต่ำและเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของยุโรป ส่วนทางด้านประเทศจีนเองก็พอใจการขยายตัวทางเศรษฐกิจของตัวเองที่ระดับประมาณร้อยละ 7 ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการเจริญเติบโตในอดีต จึงทำให้เกิดสภาวะวิกฤตของประเทศคู่ค้าของไทยอยู่ในสภาวการณ์ที่ไม่สดใสยิ่งนัก
ภาคการส่งออกของไทยก็เลยต้องพลอยมีปัญหาการชะลอตัวไปด้วย ส่งออกของไทยจึงต้องพยายามอย่างมากที่จะเร่งตัวเลขการส่งออกให้ถึงเป้าหมายที่ประมาณร้อยละ 4 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2558 และยังต้องเจอกับค่าเงินที่กำลังเริ่มที่จะมีปัญหาไปตามสถานการณ์ของประเทศอื่น ๆ ที่พยายามแย่งชิงกันจะให้ค่าเงินของประเทศตัวเองอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในแถบยุโรปด้วยกัน ตั้งแต่ต้นปี 2558 ธนาคารกลางของยุโรปจึงประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายค่าเงิน โดยการอัดฉัดเงินเข้าสู่ระบบเดือนละ 60,000 ล้านยูโรในทุก ๆ เดือนตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2558 ไปจนถึงเดือนกันยายนปี 2559 ซึ่งถ้าหากสภาวะเงินเฟ้อและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจพร้อมค่าเงินบาทยังไม่ดีขึ้น ก็อาจจะต้องมีการขยายมาตรการนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เป็นระยะเวลา 1 ปีครึ่ง ซึ่งจะมีเม็ดเงินอยู่ประมาณ 1.1 ล้านยูโรจากธนาคารกลางยุโรปไหลเข้าสู่ระบบการเงินโลก จึงทำให้ค่าเงินยูโรนั้นอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง
แต่ผลกระทบในการใช้มาตรการนี้กลับไม่ได้เกิดแต่ในประเทศแถบยุโรปเท่านั้น แต่ยังลุกลามและส่งผลกระทบมาถึงการดำเนินงานและนโยบายของเหล่าธนาคารกลางในอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย, จีน หรือแม้กระทั่งไทยก็ถูกกระทบด้วย ซึ่งสาเหตุที่เหล่าประเทศต่าง ๆ ไม่ต้องการที่จะให้ค่าเงินของประเทศตัวเองแข็งค่าขึ้นก็เนื่องมาจากผลกระทบที่มักจะเกิดกับภาคส่งออก ดังเช่นราคาข้าวสารไทยที่สูงขึ้นนี้จะส่งผลให้ข้าวสารไทยในตลาดโลกขายได้ยากขึ้น เมื่อเวลาที่ค่าเงินของทางแถบยุโรปมีค่าที่อ่อนตัวลง แต่ของไทยนั้นกลับแข็งขึ้นก็จะทำให้ราคาข้าวของไทยที่มีราคาไม่สูงมาก กลับไปมีราคาที่สูงเกินไปในประเทศแถบยุโรป เป็นต้น
ทั้งนี้ผลกระทบของค่าเงินต่อขีดของความสามารถในเรื่องของการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในการส่งออกสินค้า แล้วถ้าประเทศเรากลับมีค่าเงินที่แข็งขึ้น แต่ประเทศคู่แข่งกลับมีค่าเงินที่อ่อนกว่า เราก็จะเสียเปรียบเป็นอย่างมาก จึงทำเกิดเป็นปัญหาการส่งออกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ซึ่งในขณะนี้ภาคการส่งออกของไทยในช่วงนี้ก็กำลังเผชิญปัญหากับค่าเงินบาทที่แข็งตัวมากกว่าประเทศอื่น ๆ ถ้าเทียบกับเมื่อต้นปี 2558 ที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 1 ของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และแข็งค่าขึ้นร้อยละ 18 ในเงินยูโร ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเป็นอย่างมาก การแข็งค่าขึ้นในเงินบาทไทย ไม่ได้แข็งค่ากับค่าเงินในยุโรปเท่านั้น แต่กลับแข็งค่าขึ้นกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนด้วย โดยค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นเป็นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับมาเลเซีย และร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับค่าเงินสิงคโปร์ เป็นการแสดงให้เห็นถึงปัญหาภาคการส่งออกของไทย ที่ต้องได้รับผลกระทบไปแบบเต็ม ๆ
ผลกระทบนั้นจะมีผลต่อผู้ผลิตในแต่ละรายแตกต่างกันไป โดยสินค้าส่งออกที่มีการต้องนำเข้าชิ้นส่วนการผลิตจะได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าสินค้าที่มีส่วนประกอบของการนำเข้าต่ำ ซึ่งสินค้าที่มีส่วนของการนำเข้าสูงคือ สินค้าด้านอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องสำอางที่มีการสั่งชิ้นส่วนต่าง ๆ จากภายนอกประเทศ ส่วนสินค้าที่มาจาการนำเข้าต่ำก็คือสินค้าทางการเกษตร เป็นต้น ทั้งนี้การแก้ไขยังคงเป็นภาพรวมที่ทางภาครัฐต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เข้มแข็งและมีการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น, เงินเฟ้อต้องอยู่ในระดับที่ต่ำ, ทุนสำรองประเทศต้องอยู่ในระดับที่สูง และลดอัตราดอกเบี้ยลง
ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นการช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงได้ แต่ก็อาจจะได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะการแก้ไขที่จะให้เป็นไปอย่างยั่งยืนนั้น ไทยต้องมีรากฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและแข็งแรงมาก ๆ ถึงจะสามารถกลับมาอ่อนตัวได้อย่างยาวนาน ซึ่งนั่นก็คงถือว่าทำยากมากในยุคปัจจุบันนี้ ซึ่งสามารถดูได้จากข่าวที่เมื่อประมาณปลายปี 2558 นั้นค่าเงินบาทของไทยทะลุ ไปถึง 35 บาทและอาจจะพุ่งไปที่ 36 บาทกว่า แต่ก็สามารถอ่อนค่าลงมาได้นิดหน่อยจากการประกาศลดดอกเบี้ยและการผ่อนคลายการเคลื่อนย้ายเงินของ กนง. ที่เป็นการอ่อนค่าลงในระยะสั้น ๆ เท่านั้น
ซึ่งก็ถือว่ายังเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกันต่อไปถึงอนาคตของ ค่าเงินบาทไทย และการจัดการจากภาครัฐที่ออกมามีแนวโน้มการจัดการกับเศรษฐกิจในปีหน้าว่าจะมีอะไรที่สามารถมาดึงดูดนักลงทุนหรือสามารถที่จะพยุงภาคการส่งออกที่ครึ่งปี 2559 แรกอาจจะยังไม่สามารถทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวได้ตามความต้องการของผู้ผลิตและนักธุรกิจต่าง ๆ ที่ทำเกี่ยวกับการส่งออก หรือในธุรกิจใกล้เคียงให้สามารถรับต่อผลกระทบเหล่านี้ได้โดยจะไม่เจ็บตัวมากนัก เพราะฉะนั้นสถานการณ์เรื่องค่าเงินบาทจึงเปราะบางพอสมควรในขณะนี้