จากประเด็นข่าวกรมสรรพากรเตรียมเก็บดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ 15 สำหรับผู้ที่มีรายได้จากดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทต่อปี โดยให้ผู้ที่มีบัญชีเงินฝากทุกคนไปแสดงความยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้กรมสรรพากรเพื่อยกเว้นภาษี ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวที่จะส่งผลต่อการฝากเงินของประชาชนและปัญหาของธนาคารต่าง ๆ ที่จะไม่สามารถดำเนินการส่งข้อมูลได้ทันกำหนด
เพราะต้องการแก้ไขปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีของผู้ที่มีเงินฝากสูงเกิน 4,000,000 บาท ซึ่งจะทำให้มีรายได้จากดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทต่อปี และที่ผ่านมามีสถาบันการเงินบางแห่งเอื้อประโยชน์ให้ลูกค้ารายใหญ่หลบเลี่ยงภาษี ณ ที่จ่าย ร้อยละ 15 ด้วยการปิดบัญชีเมื่อรายได้จากดอกเบี้ยใกล้ถึง 20,000 บาท ก่อนไปเปิดบัญชีใหม่ และกระจายแยกบัญชีออกจากกัน ส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีไป 1 เท่าตัว ซึ่งปัจจุบันสามารถจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้ 1,000 ล้านบาท กรมสรรพากรจึงออกนโยบายเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ลดปัญหาการหลบเลี่ยงภาษี โดยไม่ได้มุ่งหวังเพิ่มการจัดเก็บภาษีดอกเบี้ยแต่อย่างใด จึงขอให้ประชาชนที่มีบัญชีเงินฝากทุกคนไปแสดงความยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้กรมสรรพากรเพื่อยกเว้นภาษี ตามข่าวที่ออกไปก่อนหน้านี้
ล่าสุด กรมสรรพากร โดย นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร ได้ออกมาเปิดเผย หลังจากได้ร่วมหารือกับสมาคมธนาคารไทย และผู้แทนธนาคารพาณิชย์ ถึงปัญหาเกี่ยวกับการให้เจ้าของบัญชีมาแสดงตัวตนเพื่อยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้กับกรมสรรพากร โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 99 ของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั้งระบบ ซึ่งการดำเนินการเปิดรับคำยินยอมหักภาษีจากผู้ฝากเงินกว่า 80 ล้านบัญชี หรือประมาณ 30 ล้านคนนั้นถือเป็นเรื่องยาก และอาจไม่ทันกำหนดบังคับใช้กฎหมายในวันที่ 15 พ.ค. นี้ ตลอดจนระบบธนาคารอาจไม่พร้อมนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยที่จะจ่ายงวดแรกของปีในเดือน มิ.ย. ที่จะถึงนี้ด้วย จึงเสนอให้เลื่อนการบังคับใช้ประกาศดังกล่าว พร้อมข้อเสนอต่าง ๆ โดยไม่สร้างภาระประชาชนมากเกินไป
จากกรณีนี้ทำให้กรมสรรพากรตัดสินใจให้ประชาชนกลุ่มที่ได้ดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาท ไม่ต้องมาแสดงตัวตน ซึ่งเท่ากับว่าไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก โดยอธิบดีกรมสรรพากรจะเตรียมออกประกาศแก้ไขฉบับใหม่ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อยกเว้นให้ผู้มีเงินฝากไม่ถึง 4,000,000 บาท หรือได้รับดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาท ไม่ต้องทำหนังสือยินยอมแล้ว แต่ยังคงเก็บภาษีผู้ได้รับดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาท หรือมีเงินฝากเกิน 4,000,000 ล้านบาท รวมทั้งผู้เข้าเกณฑ์กำหนดแต่ไม่เซ็นต์ยินยอมหักภาษี
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนที่มีบัญชีเงินฝากคอยติดตามประกาศจากกรมสรรพากร เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป