ความนิยมในการบริโภคผักผลไม้ปัจจุบันนี้รวมทั้งผลิตภัณฑ์เกษตรเพื่อสุขภาพเริ่มสูงมากขึ้น และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริในการจัดตั้งโครงการหลวง ทั้งนี้ก็เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวเขา ซึ่งมีการดำเนินงานเพื่อการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชชนิดต่างๆ อีกทั้งมีไม้ยืนต้น ผัก พืชไร่ สมุนไพร ไม้ดอก อีกทั้งยังมีไม้ผลที่สามารถเพาะปลูกบริเวณภาคเหนือตอนบนของไทยอีกไม่น้อย ส่งผลให้มีผลผลิตจากโครงการหลวงเป็นที่แพร่หลาย ซึ่งนอกจากจะกลายเป็นแหล่งอาหารและทำรายได้ให้กับชาว เขาชุมชนต่างๆ ทางภาคเหนือแล้ว ยังส่งผลให้ผลไม้โครงการหลวงได้รับความนิยมมากขึ้นไปทั่วประเทศอีกด้วย มาดูผลไม้ในโครงการหลวงหลากหลายชนิดที่มีคุณค่าทางอาหารและมีผลต่อสุขภาพที่น่าสนใจกันดีกว่า
1.ลูกพีช
เป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัยเกี่ยวกับพันธุ์พืชในเขตหนาวเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งมีการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ต้นพีช มาจากต่างประเทศ รวมทั้งเนคทารีน ซึ่งมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนพีชทุกอย่าง เพียงแต่เนคทารีนจะไม่มีขนที่ผิวผล ซึ่งทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ รสชาติดี สามารถรับประทานสดหรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ทั้งพีชและเนคทารีนอุดมไปด้วยสารกลุ่มโพลีฟีนอล มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะซีทิลโคลีนเอสเทอเรส ซึ่งเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบประสาท
2.พลัม
พลัมมี 2 ชนิด คือ พลัมยุโรป หากนำไปทำให้แห้งจะเรียกว่าพรุน และพลัมญี่ปุ่น เป็นสายพันธุ์ที่ปลูกในไทย บางคนอาจจจะเรียกว่า ลูกไหน ซึ่งเป็นผลสีแดงอมม่วง ประกอบไปด้วยสารกลุ่มแอนโทไซยานิน มีฤทธิ์ลดปริมาณสารพิษมาลอนไดอัลดีไฮด์ มีส่วนช่วยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ซึ่งน้ำคั้นจากลูกพลัมเข้มข้น มีฤทธิ์ต้านการเกิดลิ่มเลือด ช่วยยับยั้งกลไกการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ส่วนพรุนและน้ำพรุนมีประโยชน์ช่วยในเรื่องของการขับถ่าย และมีฤทธิ์ในการป้องกันภาวะกระดูกพรุนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
3.บ๊วย
บ๊วยเป็นผลไม้ตระกูลเดียวกับพีชและพลัม สรรพคุณแผนโบราณตามการแพทย์แผนจีนสามารถใช้ผลบ๊วยในการรักษาอาการไอและลดไข้ สารสกัดบ๊วย MK615 ซึ่งประกอบด้วยสารกลุ่มไตรเตอร์ปีนอยด์ อย่าง กรดโอลีนโนลิก และกรดเออร์โซลิก มีฤทธิ์ป้องกันการทำงานของตับโดยกลไกการต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ ช่วยลดระดับเอนไซม์การทำงานของตับ ฯลฯ ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีและผู้ป่วยภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ฯลฯ
4.ลูกพลับ
ลูกพลับมี 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ พลับหวาน และพลับฝาด พลับรสชาติหวานหอมนิยมรับประทานผลสด และนำไปแปรรูปเป็นพลับแห้ง พลับทั้งผลไม่ปอกเปลือกมีใยอาหารสูง อุดมไปด้วยสาระสำคัญ มีส่วนช่วยในการบำรุงสายตาและผิวพรรณผลพลับอ่อนมีสารแทนนินสูง มีผลช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อัลฟ่า-อะไมเลส ช่วยลดระดับน้ำตาลเพื่อการป้องกันรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
5.สตรอเบอร์รี
เป็นผลไม้ยอดนิยม มีการคัดเลือกสายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ หรือบริโภคผลสด ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์พระราชทาน 80 และพันธุ์พระราชทาน 88 ที่กำลังได้รับความนิยมในการบริโภคสูงมาก ด้วยรสชาติเปรี้ยวจนถึงหวาน กลิ่นหอมถูกใจผู้บริโภค รูปทรงสีสันสวย เป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง รวมทั้งอุดมไปด้วยกรดแกลลิก และกรดเอลลาจิก พบได้มากในพืชตระกูลเบอร์รี ช่วยป้องกันและลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ
6.เคพกูสเบอร์รี
หรือเรียกอีกชื่อว่า “โทงเทงฝรั่ง”เพราะมีลักษณะคล้ายกับโทงเทงไทย มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ระฆังทอง นิยมนำผลสุกสีเหลืองส้มที่ต้มแล้วใส่ในไอศกรีม พาย พุดดิ้ง และแปรรูปเป็นแยมหรือเยลลี่ ซึ่งจะมีกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว มีการนำกลิ่นและน้ำมันจากผลสุกมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และนำผลสุกมาคั้นบรรจุขวดออกจำหน่ายในนามของมูลนิธิโครงการหลวง หรือจะรับประทานผลสด นำมาใส่สลัดบริโภคร่วมกับผักชนิดอื่นๆ ซึ่งจะให้รสชาติหวานอมเปรี้ยว โดยจะให้วิตามินซี วิตามินเอ และวิตามินอี รวมทั้งแคโรทีนอยด์ และสารต่างๆ ที่มีช่วยต้านอนุมูลอิสระ
7.หม่อน หรือ มัลเบอร์รี
นิยมนำมารับประทานผลสด แปรรูปเป็นแยม อบแห้ง และหมักเป็นไวน์ เป็นผลไม้ที่ให้พลังงานต่ำ อุดมไปด้วยสารกลุ่มโพลีฟีนอล ซึ่งช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ สารสกัดผลหม่อนมีฤทธิ์ช่วยในการยับยั้งเซลล์ไขมัน และปกป้องระบบประสาท มีผลต่อการทำหน้าที่ของเซลล์ประสาทซึ่งเป็นสาเหตุของอาการสมองเสื่อม นอกจากนี้ผลหม่อน ยังมีผลช่วยลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานแลช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้
8.เสาวรส
มี 2 ชนิด คือ ชนิดผลสีเหลือง และชนิดผลสีม่วง มีรสชาติเปรี้ยวและกลิ่นหอมเฉพาะตัว โดยเนื้อเสาวรสทั้งสองชนิดอุดมไปด้วยวิตามินต่างๆ นิยมนำมาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ หากดื่มน้ำเสาวรสทั้งชนิดเปลือกสีม่วงและสีเหลือง วันละ 1 แก้ว ติด ต่อกัน 4 สัปดาห์ พบว่าเสาวรสทั้ง 2 ชนิด มีผลช่วยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระและมีฤทธิ์ยับยั้งไซโตไคน์ ซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้มีการอักเสบ แต่ไม่ควรดื่มน้ำเสาวรสที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณสูงเกินไป เพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ
9.อโวคาโด
อะโวคาโดเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการและน้ำตาลน้อย เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลรวม และคอเลสเตอรอลชนิด LDL ไตรกลีเซอร์ไรด์ รวมทั้งมีผลเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลชนิด HDL ซึ่งเป็นผลดีต่อร่างกาย ให้เนื้อสัมผัสที่นุ่มเหมาะสำหรับเป็นอาหารเสริมของเด็กทารก ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านอาหาร สำหรับผู้ใหญ่การรับประทานอะโวคาโดจะช่วยในการดูดซึมวิตามินเอ สามารถรับประทานควบคู่กับผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยแคโรทีนอยด์ อย่างมะเขือเทศ แครอท นอกจากนี้อะโวคาโดเป็นผลไม้ที่มีวิตามินเคสูง ผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟารินไม่ควรทานเยอะเพราะอาจไปยับยั้งการแข็งตัวของเลือดและของยาได้
10.กีวีฟรุต
กีวีฟรุตมีวิตามินซีสูงช่วยในการต้านอนุมูลอิสระของร่างกาย มีกากใยสูงช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ ซึ่งมีอยู่หลายพันธ์ที่เพาะปลูกในไทยและให้ผลผลิตได้ดี เป็นสายพันธุ์จากประเทศนิวซีแลนด์ เหมาะสำหรับผู้ป่วยลำไส้แปรปรวนร่วมกับมีอาการท้องผูก ควรรับประทานกีวีฟรุต 2 ผล/วัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ จะช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบทางเดินอาหารและช่วยลดอาการท้องผูกได้
นอกจากนี้ยังมีผลไม้ในโครงการหลวงอีกหลายชนิด ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกหลายชนิด ไม่ง่าจะเป็น ฟิก สาลี่ มะม่วง มะละกอ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี ฯลฯ การรับประทานผลไม้หลากหลายชนิดจะทำให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามปณิธานของมูลนิธิในโครงการหลวงอีกด้วย