หลังจากที่จุดกระแสกันไปยกใหญ่สำหรับภาพยนตร์ “ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ” ก็คงจะเห็นกันอย่างชัดเจนว่าอาชีพฟรีแลนซ์นี้เป็นที่ถูกกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามสำหรับท่านที่สนใจแต่ยังไม่รู้จักกับกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าฟรีแลนซ์มากนัก วันนี้จะขอเชิญชวนมาทำความรู้จักกันอย่างเจาะลึก ตั้งแต่คำถามที่ว่าฟรีแลนซ์คือใคร ฟรีแลนซ์ทำงานอย่างไร และฟรีแลนซ์จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ถ้าหากพร้อมแล้วก็ขอเชิญติดตามรับชมไปพร้อมกันเลยครับ
คำถามข้อที่ 1 ฟรีแลนซ์คือใคร
ฟรีแลนซ์ หมายถึง กลุ่มคนผู้ประกอบอาชีพอิสระ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน นักออกแบบ ช่างภาพ นักกฎหมาย ผู้ให้คำปรึกษาทางด้านการเงิน นักวิจัย คนขับรถ และอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนี้หากเป็นการทำงานที่ไม่ได้สังกัดเป็นพนักงานประจำกับบริษัทหรือหน่วยงานใดก็สามารถเรียกว่าเป็นฟรีแลนซ์ได้ทั้งหมด ปัจจุบันอาชีพฟรีแลนซ์ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นเนื่องจากค่านิยมที่คนยุคใหม่หันมาใส่ใจกับเรื่องของอิสระในการใช้ชีวิต และไม่ติดอยู่ในกรอบความเชื่อที่ว่างานที่ดีนั้นจะต้องเป็นงานประจำซึ่งมีความมั่นคงอย่างที่คนในยุคก่อนเคยเข้าใจและให้คุณค่า ปรากฏการณ์ที่เราจะเห็นได้ก็คือการลาออกจากงานประจำของกลุ่มพนักงานที่เป็นมนุษย์เงินเดือนเพื่อมาประกอบอาชีพอิสระอย่างฟรีแลนซ์กันมากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่นักศึกษาจบใหม่ก็มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยลง โดยหันมาเริ่มสะสมประสบการณ์จากอาชีพฟรีแลนซ์กันเป็นจำนวนมาก และนับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อนึ่ง ฟรีแลนซ์ยังเป็นอาชีพที่ทำควบคู่ไปกับงานประจำได้อีกด้วย
คำถามข้อที่ 2 ฟรีแลนซ์ทำงานอย่างไร
การทำงานของฟรีแลนซ์มีลักษณะที่ค่อนข้างจะหลากหลาย แต่โดยมากก็จะเป็นการรับงานมาทำที่บ้าน บ้างก็เป็นงานที่ตัวฟรีแลนซ์ติดต่อกับลูกค้าโดยตรงผ่านประกาศเปิดรับงานหรือผ่านคำบอกต่อจากปากต่อปากของคนในแต่ละแวดวง บ้างก็อาจเป็นงานที่ได้รับผ่านนายหน้าที่จัดหางานจากลูกค้าและคอยป้อนมาให้อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีฟรีแลนซ์ที่รับงานประจำจากบริษัท แต่ก็ไม่ได้มีสถานะเป็นพนักงานแต่อย่างใด ซึ่งบางครั้งผู้ที่ทำงานในลักษณะนี้ก็ถูกเรียกว่า เอาท์ซอร์ส
คำถามข้อที่ 3 ฟรีแลนซ์จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
แน่นอนว่าอาชีพฟรีแลนซ์เป็นอาชีพอิสระที่ไม่ได้มีงานประจำและรายได้อย่างคงที่สม่ำเสมอ ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้การทำงานและการบริหารจัดการชีวิตของฟรีแลนซ์มีลักษณะแตกต่างไปจากงานประจำ เช่น ต้องรู้จักสำรองรายได้เผื่อในยามที่งานขาดช่วง ต้องขยันเป็นพิเศษในช่วงที่มีงานล้นมือจนบางครั้งก็ถึงกับต้องอดหลับอดนอนทีเดียว และด้วยลักษณะของการทำงานจึงทำให้พอจะสามารถจำแนกคุณสมบัติของฟรีแลนซ์ที่ดีโดยภาพรวมได้ โดยแบ่งออกเป็น 4 ประการ ดังต่อไปนี้
1.ฟรีแลนซ์ต้องคล่องตัวอยู่เสมอ
เนื่องจากฟรีแลนซ์เป็นอาชีพที่จำเป็นต้องพบปะกับผู้คนหรือลูกค้ารายใหม่อยู่เสมอ ทำให้คุณสมบัติข้อสำคัญ ซึ่งฟรีแลนซ์พึ่งจะต้องมีก็คือเรื่องของความคล่องตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเดินทางไปยังสถานที่นัดหมายกับลูกค้า การลงพื้นที่หากจำเป็นต่อการทำงาน ทั้งยังจะต้องมีทักษะในการสื่อสารที่ดีเพื่อการทำงานที่ราบรื่นอีกด้วย
2.ฟรีแลนซ์ต้องอดทน
ด้วยเหตุผลดังที่เรียนไปแล้วในเบื้องต้นว่า ฟรีแลนซ์เป็นอาชีพที่ไม่ได้มีงานเข้ามาอย่างคงที่เสมือนพนักงานประจำ ทำให้บางครั้งเมื่อเกิดกรณีงานล้นมือก็จำเป็นที่จะต้องมีความอดทนในการทำงานหนักและรักษาไว้ซึ่งมาตรฐาน เพราะการปฏิเสธงานลูกค้าย่อมจะทำให้ขาดเครดิต และต่อไปลูกค้าอาจมองหาและว่าจ้างฟรีแลนซ์รายอื่นแทน
3.ฟรีแลนซ์ต้องรอบคอบ
ด้วยเหตุผลสืบเนื่องกัน เนื่องจากฟรีแลนซ์เป็นอาชีพที่ไม่ได้มีงานเข้ามาอย่างคงที่เสมือนพนักงานประจำ ส่งผลให้รายได้ที่เข้ามาก็มีลักษณะไม่คงที่ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่กระกอบอาชีพในลักษณะฟรีแลนซ์จึงต้องมีความรอบคอบ โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการรายได้ เพื่อที่จะมีเงินสำรองใช้จ่ายในช่วงที่งานสะดุดหรือขาดช่วงไป
4.ฟรีแลนซ์ต้องพัฒนาความสามารถของตนเองอยู่เสมอ
แน่นอนว่าการรับงานอิสระในลักษณะฟรีแลนซ์จำเป็นต้องแข่งขันกันในเรื่องของความสามารถ เนื่องจากผู้ว่าจ้างสามารถเปลี่ยนไปว่าจ้างฟรีแลนซ์รายอื่นได้ง่าย ส่งผลให้ฟรีแลนซ์จะต้องรักษามาตรฐานทางด้านการทำงานและพัฒนาฝีมืออยู่เสมอ เพื่อเป็นที่ประจักษ์และดึงดูดให้ลูกค้ามีความไว้วางใจในผลงาน
หลังจากที่ได้รับชมข้อมูลกันไปแล้วก็คงจะช่วยให้ทุกท่าน รู้จักฟรีแลนซ์ มากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าหากท่านใดที่เป็นพนักงานประจำแต่เริ่มกลับรู้สึกว่าตนไม่เหมาะกับงานที่ทำอยู่ รู้สึกเบื่อกับความซ้ำซากจำเจและกฎระเบียบอันจุกจิกซับซ้อนในที่ทำงาน ก็อาจทดลองรับงานอิสระในลักษณะฟรีแลนซ์มาทำควบคู่กันไปกับงานประจำที่ทำอยู่ได้ โดยไม่ว่าแต่ละท่านจะมีอาชีพหรือความถนัดในด้านใดก็ตาม รับรองว่าตลาดฟรีแลนซ์ก็จะมีลูกค้ารองรับอยู่เสมอ ขอเพียงท่านพิสูจน์ความสามารถจนเป็นที่ประจักษ์และได้รับความเชื่อถือจากลูกค้า หมั่นสร้างเนื้อสร้างตัวและชื่อเสียงในแวดวงสาขางานด้านที่ทำ ไม่แน่ครับ ในอนาคตท่านอาจจะติดใจกับลักษณะการทำงานแบบฟรีแลนซ์และผันตัวมายึดเป็นอาชีพหลักเลยก็เป็นได้
อ่านเพิ่มเติม : 10 เว็บแนะนำที่ควรรู้สำหรับ ชาวฟรีแลนซ์