เป็นที่ฮือฮาไปทั้งประเทศ เมื่อธนาคารทหารไทย หรือ TMB ที่มีสโลแกนประจำองค์กรว่า “Make The Different” ได้สร้างความแตกต่างแบบช็อกวงการด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไปเหลือ 0.00% จาก 0.125% ในวันที่ 1 มิ.ย. 59 ที่ผ่านมา
เกิดอะไรขึ้นกับ TMB หรือเกิดอะไรขึ้นกับระบบธนาคารของไทย…
หลากหลายคำถามต่างผุดขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วน จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์แชร์กระหน่ำในโลกโซเชียลตลอดทั้งวันว่า ประเทศเรามาถึงจุดที่ดอกเบี้ยมีค่าเพียง 0.00% แล้วหรือ นับเป็นประวัติศาสตร์ทางการเงินที่ต้องจารึกไว้อีกครั้ง เพราะคนไทยไม่เคยพบวิกฤตการณ์เช่นนี้มาก่อน แต่อีกไม่กี่วันต่อมา ผู้บริหาร TMB ก็ออกมาตั้งโต๊ะแถลงถึงสาเหตุที่ธนาคารต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ลงดังที่เป็นข่าว พร้อมกับขอปรับดอกเบี้ยกลับไปเป็น 0.125% ดังเดิม เพื่อไม่ให้ลูกค้าเกิดความกังวลใจ
เหตุผลที่ TMB ปรับดอกเบี้ยลงเหลือ 0.00%
จากเหตุการณ์ช็อกวงการนี้เอง ทำให้เหล่าบรรดานักเศรษฐศาสตร์ นักบริหารการเงิน รวมทั้งผู้บริหารธนาคารต่างๆ ออกมาให้ความเห็นเป็นไปในแนวทางเดียวกันว่า การที่ TMB ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเหลือ 0.00% นั้น น่าจะเป็นกลยุทธ์ในการบริหารต้นทุนเงินฝาก เนื่องจากมีสภาพคล่องในระบบมากเกินไป และต้องการผลักดันให้ลูกค้าเปิดบัญชีธุรกรรมทางออนไลน์มากขึ้น หลังจากยอดกู้น้อยลง ซึ่งถ้าไปเช็คระบบการเงินโดยรวมแล้วไม่ได้มีปัญหาอะไร ฐานะของธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ยังคงแข็งแกร่งสามารถบริหารต้นทุนทางการเงินกันได้ ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยเป็น 0.00% แต่อย่างใด เพราะอาจมีผลกระทบต่อการออม และห่วงว่าจะมีการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง หรืออาจมีการเก็งกำไรได้ รวมถึงขณะนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแล้ว น่าจะส่งผลให้ประชาชนมีความต้องการใช้บริการด้านสินเชื่อมากขึ้นด้วย
ด้านประธานกรรมการ และผู้บริหารระดับสูงของ TMB ได้ออกมายอมรับว่า การประกาศลดดอกเบี้ยเหลือ 0.00% นั้น เป็นกลยุทธ์การบริหารจัดการระยะสั้นของธนาคาร เพียงแต่ขาดการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ผนวกกับประเทศไทยไม่เคยเกิดปรากฏการณ์ดอกเบี้ย 0.00% มาก่อน จึงทำให้ประชาชนตกใจและเกิดกระแสต่อต้าน แต่ถ้าเป็นลูกค้าที่ใช้บริการของธนาคารจริงๆ จะเข้าใจว่า ธนาคารมีผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าเลือกหลากหลาย และมีบัญชีที่มีดอกเบี้ย 0.00% มากว่า 4 ปีแล้ว นั่นก็คือ TMB All Free ที่เหมาะสำหรับลูกค้าที่ต้องทำธุรกรรมบ่อยๆ เช่น การโอนเงินข้ามเขต หรือการโอนเงินข้ามธนาคาร ที่ธนาคารอื่นต้องเสียค่าธรรมเนียม 30 บาท แต่บัญชีนี้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ และกดเงินฟรีทุกตู้ แต่ต้องเปิดคู่กับบัตรเดบิต TMB All Free เท่านั้น ซึ่งมีค่าธรรมเนียมแรกเข้า 500 บาท/ปี ปีต่อไปปีละ 350 บาท
แต่สำหรับลูกค้าที่ต้องการใช้บริการเงินฝากออมทรัพย์ประเภทอื่นก็จะได้ดอกเบี้ยสูงกว่า เช่น TMB No Fixed ที่มีอัตราดอกเบี้ย 1.4% แต่สามารถถอนหรือโอนเงินที่สาขาได้ 2 ครั้งต่อเดือน ต่อไปเสียค่าธรรมเนียมครั้งละ 50 บาท หรือ ME by TMB ซึ่งเป็นดิจิตอลแบงกิ้ง ที่มีอัตราดอกเบี้ย 1.8% ตั้งแต่ 1 บาทแรกที่ฝาก และสามารถถอนได้ตลอดเวลา โดยไม่จำกัดระยะเวลาการฝากเงิน และฟรีค่าธรรมเนียมการโอนระหว่างบัญชี TMB ส่วนต่างธนาคารเสียค่าธรรมเนียมครั้งละ 25-35 บาท
สำหรับอนาคตจะมีโอกาสปรับดอกเบี้ยออมทรัพย์ทั่วไปเหลือ 0.00% ดังที่เป็นมาอีกหรือไม่
ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ว่า จำนวนเงินฝากไหลมาที่ TMB มากจนทำให้สภาพคล่องล้นเกินไปหรือเปล่าด้วย แต่คงไม่ถึงกับทำให้ดอกเบี้ยติดลบเหมือนธนาคารในญี่ปุ่น ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ธนาคารจะต้องทำความเข้าใจกับลูกค้าและคนทั่วไปให้กระจ่างชัด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่เป็นในครั้งนี้แน่นอน พร้อมกันนั้นธนาคารจึงขอปรับดอกเบี้ย 0.00% มาอยู่ที่ 0.125% เหมือนเดิม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า TMB ไม่ได้มีปัญหา และไม่ได้ต้องการชี้นำให้ธนาคารอื่นดำเนินการตามแต่อย่างใด
ถึงแม้เหตุการณ์นี้จะยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หรือระบบการเงินการธนาคารของไทย แต่น่าจะกระทบต่อสภาพจิตใจ และความรู้สึกของคนไทยไม่น้อย ทั้งยังเป็นสัญญาณที่บอกให้รู้ว่า สถานการณ์เช่นนี้อาจเกิดซ้ำรอยขึ้นได้อีก ถ้าหากสินเชื่อยังไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้น การลงทุนเอกชนยังไม่ฟื้นตัวดีนักในช่วงครึ่งปีหลังที่เหลือ ท่ามกลางสภาพคล่องในระบบการเงินที่ยังคงสูงมากอยู่ ถึงตอนนั้นคนไทยอาจต้องตกใจอีกครั้งแต่น้อยลงกว่าครั้งนี้ หรือไม่ตกใจเลย เพราะเคยรับรู้รสชาติความรู้สึกของดอกเบี้ย 0.00% มาแล้ว
…และคำถาม เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร อาจไม่ดราม่าอีกต่อไป
ที่มา