ผ่อนรถ คำนวณ วางแผนอย่างไร ให้ผ่อนสำเร็จได้จริง
ยานพาหนะนั้นนับว่าเป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเรามากขึ้นกว่าเดิม เราสามารถไปไหนมาไหนก็ได้ตามความต้องการทุกเวลา บางคนก็สามารถใช้ยานพาหนะในการเป็นเครื่องมือทำมาหากินได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงมีความฝันว่าอยากจะมีรถยนต์เป็นของตัวเองสักคันหนึ่ง
แต่รถยนต์นั้นเป็นสินทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มาพร้อมกับราคาแพง ดังนั้นก่อนเราจะออกรถยนต์เราต้องปรึกษากับเจ้าหน้าที่ทางธนาคาร และพิจารณาเกี่ยวกับ การผ่อนรถ พร้อมวางแผนว่าการออกรถของเรานั้นจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ไม่กระทบกับสภาพคล่องทางการเงิน และเสี่ยงจะโดนยึดรถในภายหลัง ด้วยเหตุนี้ เราจึงจะพาทุกคนมาดูกันว่า ก่อนออกรถคันหนึ่งมีอะไรที่เราควรรู้ ผ่อนรถ คำนวณ วางแผนอย่างไร เพื่อพิจารณาว่าเรามีความพร้อมในการออกรถหรือไม่
ผ่อนรถ คำนวณ วางแผนอย่างไร?
สูตรคำนวณการผ่อนรถยนต์มี ดังนี้
- ราคาเต็มของรถยนต์ – จำนวนเงินดาวน์ = ยอดไฟแนนซ์
- ยอดไฟแนนซ์ x เปอร์เซ็นต์อัตราดอกเบี้ย ซึ่งเปอร์เซ็นต์อัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินแต่ละแห่งก็จะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและระยะเวลาในการผ่อนชำระ
- ยอดรวมดอกเบี้ยและยอดไฟแนนซ์ / จำนวนปีที่เราต้องการผ่อน = จำนวนดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายทั้งหมด
- ดอกเบี้ยทั้งหมดที่ต้องจ่าย + ยอดไฟแนนซ์ = ยอดหนี้ทั้งหมดที่ต้องจ่ายจริง
- ยอดหนี้ทั้งหมดที่ต้องจ่ายจริง / จำนวนงวดที่ผ่อน = ค่างวดชำระที่เราต้องจ่ายในแต่ละเดือน
ตัวอย่าง เราต้องการจะซื้อรถราคา 1 ล้านบาทโดยวางเงินดาวน์ 20% ผ่อนชำระเป็นเวลา 4 ปีทั้งหมด 48 งวด อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ปีละ 5% วิธีการคำนวณจะมีดังนี้
- คำนวณยอดไฟแนนซ์ 1,000,000 – 200,000 = 800,000 บาท
- คำนวณดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในแต่ละปี 800,000 x 5% = 40,000 บาทต่อปี
- คำนวณยอดดอกเบี้ยรวมตลอดระยะเวลาการผ่อนชำระ 40,000 x 4 = 160,000 บาท
- คำนวณยอดหนี้ทั้งหมดที่ต้องจ่ายจริง 800,000 + 160,000 = 960,000 บาท
- คำนวณค่างวดชำระที่เราต้องจ่ายในแต่ละเดือน 960,000 / 48 = 20,000 บาท
ค่าใช้จ่าย และสิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจผ่อนรถยนต์
การมีรถยนต์ 1 คันนั้นค่าใช้จ่ายที่ตามมาไม่ได้มีเพียงแค่ค่างวดรถแต่อย่างใด แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นอีกมากมายที่ตามมาเป็นหางว่าวเลยทีเดียว ดังนั้นก่อนที่จะออกรถยนต์สักคันหนึ่งเราจึงต้องวางแผนและพิจารณาเกี่ยวกับการเงินของเราให้ดี เราจึงจะพาทุกคนไปดูกันว่าสิ่งที่ควรพิจารณาก่อนออกรถและค่าใช้จ่ายที่จะตามมามีอะไรกันบ้าง ไปดูกัน
จำนวนเงิน
หลายคนมักพิจารณาเงินเดือนหรือรายได้ที่ได้รับต่อเดือนก่อนจะออกรถ อย่างเช่นในกรณีตัวอย่างมีค่าผ่อนรถอยู่ที่เดือนละ 20,000 บาท หากคุณมีเงินเดือน 25,000 บาทแน่นอนว่าคุณก็สามารถผ่อนชำระด้วยยอดนี้ได้เช่นเดียวกัน แต่เราต้องไม่ลืมว่าการใช้ชีวิตประจำวันของเราก็มีค่าใช้จ่ายจิปาถะมากมาย
ดังนั้น การจะออกรถจึงไม่ได้พิจารณาจากรายได้สุทธิของเราแต่ควรพิจารณาจากเงินที่เราเหลือในแต่ละเดือน อย่างเช่นหากคุณมีเงินเดือน 25,000 บาท ในแต่ละเดือนมีเงินเหลืออยู่ 10,000 บาท หากคุณต้องผ่อนรถยนต์เดือนละ 20,000 บาทมันก็จะทำให้คุณขาดสภาพคล่องในชีวิตประจำวันนั่นเอง
วางแผนทางการเงิน
การวางแผนทางการเงินอย่างรัดกุมไม่ว่าจะเป็นในส่วนของรายได้หรือค่าใช้จ่ายจะช่วยให้เรานั้นไม่ประสบกับปัญหาวิกฤตทางการเงินถึงแม้ว่าจะต้องประสบพบเจอกับสถานการณ์ไม่คาดฝันก็ตาม เราต้องหาทางหนีทีไล่ทางการเงินของตนเองเอาไว้ อย่างเช่นการซื้อประกันสุขภาพ การมีรายได้หลายช่องทางเพื่อช่วยเพิ่มความมั่นคงทางรายได้ การมีเงินเก็บที่สามารถดึงออกมาใช้ได้ในกรณีฉุกเฉิน
รุ่นรถยนต์ที่จะซื้อ
รถยนต์แต่ละรุ่นจากแต่ละแบรนด์ก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป เราต้องพิจารณาว่ารูปแบบการใช้งานรถยนต์ของเราเป็นอย่างไร หากเราใช้งานในเมืองก็อาจจะเลือกรถอีโก้คาร์ที่ประหยัดน้ำมันและราคาไม่สูงมาก หากเราใช้งานสมบุกสมบานอาจจะต้องออกรถยนต์ที่ขับเคลื่อน 4 ล้อซึ่งราคาสูงขึ้นมา ตัวเครื่องก็มี CC มากกว่า ซึ่งอาจจะกินน้ำมันมากกว่า และยังต้องดูอีกด้วยว่ารถยนต์ของเรานั้นเติมน้ำมันดีเซลหรือเบนซิน
ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการมีรถยนต์
การมีรถยนต์ 1 คันค่าใช้จ่ายไม่ได้มีเพียงแค่ค่างวดรถแต่อย่างใด รถยนต์ต้องเติมน้ำมันจึงจะวิ่งได้ดังนั้นเราจึงต้องพิจารณาว่ารถยนต์ของเราเติมน้ำมันดีเซลหรือเบนซิน สามารถเติม e95 หรือ E20 ได้หรือไม่ หรือในปัจจุบันเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือเป็นแบบไฮบริด หากเป็นรถยนต์ไฟฟ้าก็ต้องคำนวณถึงค่าไฟรวมไปถึงการติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จในบ้านของเรา
ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นทางกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการต่อเล่มทะเบียน การพ.ร.บ. ค่าซ่อมบำรุงและเช็คสภาพรายปี ค่าตรวจสภาพรถก่อนต่อเล่มทะเบียน ค่าประกันรถยนต์ เมื่อใช้งานรถยนต์ไปสักพักหนึ่งเราก็ต้องมีการเปลี่ยนยางรถยนต์ เปลี่ยนผ้าเบรก เปลี่ยนแบตเตอรี่ เปลี่ยนน้ำมันเกียร์ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ซึ่งบางอย่างเป็นค่าใช้จ่ายรายปีที่เราต้องจ่ายเป็นประจำเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ยังมีค่าจิปาถะอีกด้วยอย่างเช่นค่าจอดรถ ค่าล้างรถที่เราต้องจ่ายเป็นประจำรายเดือน ต่อให้เราล้างรถเองก็ยังต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนของน้ำยา ค่าน้ำ ค่าอุปกรณ์อีกต่างหาก
ผ่อนรถยนต์อย่างไรไม่ให้ประสบวิกฤตทางการเงิน
สิ่งสำคัญในการออกรถโดยการขอสินเชื่อรถยนต์นั้นเราจะต้องวางแผนทางการเงินให้ดีเพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องประสบวิกฤตทางการเงิน เนื่องจากมันเป็นหนี้สินก้อนใหญ่ที่ใช้ระยะเวลาในการผ่อนชำระยาวนานหลักปี หากเราสามารถวางแผนทางการเงินได้ดี เราก็จะมีเงินผ่อนชำระหนี้สินเป็นประจำทุกเดือนและยังมีสภาพคล่องทางการเงินในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอีกด้วย วิธีการผ่อนรถยนต์ไม่ให้ประสบวิกฤตทางการเงิน ดังนี้
กันค่างวด
ในแต่ละเดือนที่เราได้รับเงินเดือนมาหรือได้รับเงินจากการทำงานเราจะต้องรีบกันเงินส่วนหนึ่งเอาไว้เป็นเงินค่างวดรถยนต์ หากต้องการให้บัญชีการเงินมีความเป็นระบบระเบียบจะเปิดบัญชีเงินฝากขึ้นมาอีก 1 บัญชีเพื่อเอาไว้การเงินสำหรับผ่อนชำระหนี้โดยเฉพาะก็ได้เช่นเดียวกัน วิธีการดังกล่าวจะช่วยให้คุณมีเงินผ่อนชำระค่างวดรถทุกเดือนอย่างแน่นอน
ชำระให้ตรงเวลา
เมื่อถึงกำหนดเวลาการผ่อนชำระหนี้ให้เราชำระเงินให้ตรงเวลาไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดปัญหาตามมาได้ไม่ว่าจะเป็นการเสียเครดิตบูโร การเสียค่าติดตามทวงถามที่ธนาคารอาจเรียกเก็บจากเราได้เมื่อมีการทวงถามหนี้สินที่เราไม่ได้ชำระ เสียค่าปรับ เสียดอกเบี้ยเพิ่มเติม ดังนั้น การชำระให้ตรงเวลาจะช่วยให้เราไม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นนอกจากค่ารถของเราเพียงอย่างเดียว
ไม่สร้างหนี้สินเพิ่ม
ในช่วงที่เรากำลังมีหนี้ก้อนใหญ่อยู่นั้นถึงแม้ว่าในแต่ละเดือนค่างวดอาจจะไม่ได้สูงมาก แต่ถึงอย่างนั้นมันอาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีสำหรับการสร้างหนี้สินเพิ่มเติมแต่อย่างใดเพราะมันอาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของคุณก็ได้เช่นเดียวกัน
สรุปแล้วการผ่อนรถ คำนวณ วางแผนอย่างไร เราต้องเข้าใจองค์รวมของการมีรถยนต์คันหนึ่งว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น การซ่อมบำรุงหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะตามมาก็ตาม หากเราสามารถวางแผนและมีการคำนวณมาเป็นอย่างดีก็จะช่วยให้เรานั้นมีรถยนต์ใช้ได้โดยที่ไม่รบกวนสภาพคล่องทางการเงินแต่อย่างใด เพราะเราสามารถแน่ใจได้แล้วว่าเรามีความพร้อมมากพอในการรับมือกับค่าใช้จ่ายที่จะตามมานั่นเอง