หลายคนคงเคยได้ยินว่าลูกสาวจะพูดเร็วกว่าลูกชาย ส่วนตัวของผู้เขียนเองนั้นมีลูกชายก็มีความกังวลเช่นกัน ปัจจุบันลูกชายอายุได้ 1 ขวบ 3 เดือน สามารถจดจำบุคคลได้ว่าคนนี้คือแม่ พ่อ อาม่า (คุณยาย) คุณตา และชี้ได้ถูกคน จะมีเพียงคำพูดสั้น ๆ ที่พูดได้คือ ปะป๊า (ส่วนคำว่าหม่าม๊านั้นจะพูดตอนที่เขาโมโหเท่านั้น) ส่วนคำยาก ๆ ยังพูดไม่ได้
สังเกตได้ว่าอย่างคำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เขาพอจะเข้าใจ เช่นทิ้งขยะ เมื่อบอกเขา เขาสามารถถือผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่ใช้แล้วไปโยนลงถังขยะได้ถูกต้อง เด็ก ๆ จะชอบใช้และจดจำคำสั้น ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่นเวลาขับรถบนท้องถนน เมื่อเห็นรถบัส เขาจะพูดว่า บั๊ด ๆ ถึงแม้ว่าจะยังพูดไม่ชัด แต่สามารถเข้าใจว่านี่คือรถบัสขนาดใหญ่นะ หรือรู้คำศัพท์ง่าย ๆ ดังต่อไปนี้ ขับรถ อาบน้ำ กินข้าว กินน้ำ ไปเที่ยว ซักผ้า เช็ดโต๊ะ เขาสามาถจดจำคำเหล่านี้ได้อย่างน่าแปลกใจ
เทคนิคง่าย ๆ ที่ไม่ต้องเสียเงินไปเรียนพิเศษให้เปลืองเงิน ซึ่งมีพ่อแม่หลายคนยอมเสียเงินให้ลูกไปเรียนฝึกพัฒนาสมอง จัดระบบการพูด แต่ความจริงแล้วคุณพ่อคุณแม่หรือปู่ย่าตายายมีส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกพูดได้ มีดังนี้
-
พูดกับลูกบ่อย ๆ
การปฏิสัมพันธ์กับลูกเป็นสิ่งที่จำเป็น พูดและมองตาเขา ให้เขาเข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสารไป นอกจากนี้อาจจะสัมผัสมือร่างกายเพื่อให้เขาเห็นว่าเรารักเขา การพูดบ่อย ๆ เป็นการเน้นย้ำคำศัพท์ไปในตัว ทำให้จดจำคำพูดได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ควรใช้ร่างกายของเราให้เป็นประโยชน์ เช่นนับนิ้วมือ ยกนิ้วชี้ขึ้นมา ว่าหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า พอถึง ห้าก็ให้แปะมือเราและลูก สร้างความสนุกสนาน นอกจากจะได้ฝึกนับเลขแล้ว ยังได้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีอีกด้วย ส่วนใหญ่เด็ก ๆ จะชอบเล่นแปะมือแบบ Hi 5
-
เน้นคำสั้น เข้าใจง่าย
เด็กเล็กเมื่อเริ่มต้น ควรฝึกให้รู้คำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สั้น ๆ เช่น กินข้าว อาบน้ำ ไปเที่ยว เพราะคำที่ยาวเกินไปเขาจะจำไม่ได้ และพูดยากอีกด้วย เด็ก ๆ จะเริ่มพูดเป็นคำ ๆ มากกว่า จะเห็นว่าส่วนใหญ่จะพูดป๊า ม๊า (หรือแปลว่าพ่อกับแม่ได้) เพราะเป็นคำสั้น ๆ หรืออย่างลูกชายจะพูดคำว่า ไป ๆ ซึ่งแสดงถึงว่าเราไปเที่ยวกันเถอะ เขาพูดคำว่า ไป ๆ ได้ เพราะเป็นคำง่ายพอพูดคำนี้บ่อย ๆ แล้วได้ออกไปเที่ยวนอกบ้านเขาจึงจดจำได้และชื่นชอบเป็นอย่างมาก
-
อ่านนิทานให้ลูกฟังก่อนนอน
เป็นการเพิ่มคลังคำศัพท์ในสมอง และได้ดูภาพประกอบที่สวยงาม ควรอ่านทุกคืน อย่างต่ำ 30 นาที ถึงแม้ลูกจะมีสมาธิหลุดบ้าง แต่ว่าไม่เป็นไรขอให้คุณแม่อ่านต่อไปอย่าหมดกำลังใจ เด็กบางคนอาจจะตั้งใจฟังมาก แต่เด็กบางคน (อย่างลูกชายผู้เขียน) ไม่เคยหยุดอยู่นิ่ง อาจจะมีบ้างที่สนใจแต่ 70% วิ่งเล่นรอบห้อง อย่างน้อยเขาก็ได้รับฟังเสียงที่เราอ่านให้เขาฟังทุกวัน วันหนึ่งเขาก็จะฝึกพูดได้เอง ยกตัวอย่างเข่น นิทานมีตัวการ์ตูนนกอยู่ เราก็พยายามชี้ใช้เขาดูว่า อันนี้นกนะ นกกำลังบิน นก ๆ เน้นคำศัพท์สั้น ๆ กันไป เมื่อเห็นรูปที่คล้าย ๆ นก เขาก็จะจดจำได้
-
กระตุ้นให้ลูกพูดโต้ตอบ
ยกตัวอย่างเช่น ให้พูดอา หลังกินข้าวว่าข้าวหมดปากรึยังครับ เขาจะพูดว่า อา หรือถามเขาว่า ป่ะป๊าอยู่ไหน เขาจะตอบว่าป่ะป๊า และเอามือยกชี้ไปทางพ่อ เป็นการกระตุ้นให้พูดและการมองอีกด้วย เมื่อฝึกบ่อย ๆ จะเริ่มพูดเป็นคำ และเมื่อโตขึ้นจะเริ่มเป็นประโยค การกระตุ้นอาจจะได้ในแง่ฝึกให้เข้าสังคมได้ เช่น สวัสดีครับ เขาจะยกมือขึ้น การกระตุ้นเหล่านี้ จะเป็นการเน้นย้ำ เมื่อยิ่งย้ำหรือฝึกบ่อย ๆ ก็จะทำได้เอง
ขอให้คุณแม่อย่ากดดัน หรือเปรียบเทียบว่าทำไมลูกคนอื่นพูดได้แล้วลูกเรายังพูดไม่ได้นะ อย่าลืมว่าเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานไม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายขอให้เรามีการสื่อสารกับลูกบ่อย ๆ ในที่สุดลูกก็จะทำได้เอง ยิ้มและพูดกับลูกเยอะ ๆ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเขาอย่างสม่ำเสมอ เขาก็จะพูดได้อย่างแน่นอน อย่ากังวลไปเพราะอัลเบิร์ต ไอสไตน์ ยังเริ่มพูดเมื่ออายุ 3 ขวบ
สำหรับบ้านที่มีคุณพ่อหรือคุณแม่เป็นคนต่างชาติอาจจะพูดภาษาที่ 2 ควบคู่กันไป แต่ศัพท์พื้นฐานควรเลือกภาษาหลักก่อน การแทรกภาษาที่ 2 ควรเป็นคำศัพท์ง่าย ๆ ให้คนที่พูดภาษานั้นชัด ๆ เป็นคนพูดเด็กเล็กจะได้เรียนรู้วิธีการออกเสียงได้ถูกต้อง อย่ากังวลเพราะเด็ก ๆ เหมือนฟองน้ำเขาจะซึมซับภาษาได้เป็นอย่างดีเพียงแค่เน้นพูดกับเขาบ่อย ๆ และเป็นคำสั้น เพียงแค่นี้ลูกของเราก็จะเริ่มพูดได้แล้วค่ะ
ผู้เขียน: