หลายๆ คนคงเคยประสบปัญหาอย่างผู้เขียนว่าเด็กน้อย ลูกของเราติดเล่นไม่ยอมเลิก ถ้าต้องให้หยุด เขาจะมีพฤติกรรมร้องไห้เสียงดังมาก บางทีก็ไม่มั่นใจว่าเป็นเพราะวัยใกล้ 2 ขวบอย่างที่เขาว่ากันมั้ย แต่เหตุการณ์ที่มักประสบเป็นประจำตัวอย่างเช่น
- อาบน้ำไม่ยอมเลิก ถ้าต้องให้เลิก จะร้องไห้หนักมาก จนกว่าจะแต่งตัวเสร็จ
- ไปโซนของเล่น แล้วเล่นไม่ยอมเลิก ไม่ยอมกลับบ้าน หรือไปกินข้าว
บางครั้งคุณพ่อคุณแม่มือใหม่อย่างเราก็หัวเสียไม่น้อย แต่วิธีที่ผู้เขียนใช้เป็นประจำคือ พยายามหายใจลึก ๆ ก่อน ควบคุมสติ ไม่ให้วี้ดแตกใส่ลูก (ถึงแม้ว่าจะมีบางครั้งโมโหบ้าง และก็จะรู้สึกผิดทุกครั้ง) ถ้ารู้สึกว่าเอาไม่ไหวขอให้กอดเขาไว้ แสดงความรักกับเขา
วิธีที่พอจะช่วยให้เราควบคุมอารมณ์กับการเล่นไม่ยอมเลิก และเขางอแงมีดังนี้
(ที่มา http://www.dumex.co.th)
1.ต้องทำความเข้าใจกับธรรมชาติของลูกให้มาก
ว่าลูกในวัยนี้ (ช่วง 6 ขวบแรก) นั้น หากพ่อแม่สอนและฝึกไม่ตามใจลูกทุกครั้งที่ร้องไห้งอแง ลูกจะโตขึ้นมาโดยไม่ติดนิสัยเหล่านี้
2.ให้ลูกหัดเรียนรู้การช่วยเหลือตัวเอง
เช่น พ่อแม่อาจจะเริ่มฝึกลูก (เริ่มตอน 2 ขวบ) ให้เริ่มใส่เสื้อผ้าเอง, กินข้าวเอง, ดื่มน้ำจากแก้วเอง ฯลฯ และควรพาลูกไปเล่นกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน เมื่อลูกไปเจอกับเพื่อนในวัยเดียวกัน ลูกจะเรียนรู้การแบ่งปัน การได้รับและการให้
3.เวลาที่ลูกร้องไห้เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ
(ประเภทลงไปนั่งดิ้นชักกระตุกๆ ที่พื้น) สิ่งแรกที่พ่อแม่ต้องทำคือ การเข้าไปอุ้มลูก กอดลูกไว้ โดยไม่ต้องไปโวยวาย ไปดุด่าว่าลูก แค่กอดลูกไว้เฉยๆ แล้วพาลูกออกมาจากสิ่งที่เขาต้องการ เช่น ร้านขนม ร้านของเล่น การกอดลูกเอาไว้เฉยๆ โดยที่พ่อแม่ไม่ดุ ไม่ด่า ไม่ว่าอะไรลูก เมื่อลูกร้องไห้จนเหนื่อยและไม่เห็นสิ่งเร้า (สิ่งที่ตัวเองอยากได้ เช่น ขนม ของเล่น ฯลฯ) สักพักลูกก็จะลืมไปเอง ซึ่งเมื่อลูกอารมณ์เริ่มดีขึ้น พ่อแม่ควรสอนลูกว่าเหตุใดพ่อแม่จึงไม่ซื้อหรือทำสิ่งนั้นให้ลูก แต่ไม่ควรไปดุด่าลูกอีก แค่บอกเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ทำหรือซื้อสิ่งนั้นให้ก็พอค่ะ”
โปรด จำไว้ว่า แม้ว่าลูกจะยังเล็ก จะไม่เข้าใจเหตุผลที่พ่อแม่อธิบายไปทั้งหมด แต่ถ้าพ่อแม่ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ลูกจะซึมซับถึงการใช้เหตุผล ไม่ใช่การใช้อารมณ์ของพ่อแม่โต้ตอบ พ่อแม่หลายคนมักจะด่าว่าลูกว่า “ร้องทำไม หยุดร้องเดี๋ยวนี้” ซึ่งทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความรัก พ่อแม่ไม่รักเขา ลูกจึงต้องเรียกร้อง (ด้วยการร้องไห้งอแง และดิ้นๆ เพิ่มขึ้นนั้นเอง)
4.หัดตั้งคำถามกับลูกบ่อยๆ
ถามลูกว่าลูกรู้สึกยังไงบ้าง และลูกคิดยังไงกับสิ่งที่ตัวเองอยากได้ ทำไมถึงอยากได้สิ่งๆ นั้น และทำไมจะต้องเอาสิ่งๆ นั้นให้ได้
5.เปิดโอกาสให้ลูกได้หัดตัดสินใจเองบ้าง
จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวของลูกเอง เช่น จะเลือกเสื้อผ้าตัวไหนดี (ลูกจะได้อารมณ์ดี เพราะบางครั้งลูกอาจจะไม่อยากใส่ชุดที่พ่อแม่เลือกให้ก็ได้), มื้อเย็นนี้จะกินอาหารอะไรดี (มีเมนูอาหารให้เลือกหลากหลาย แล้วลูกเป็นคนตัดสินใจ) ฯลฯ เป็นต้น
6.พูดคุยกับลูกให้บ่อยเด็กในช่วงปฐมวัยนั้น
พ่อแม่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวและเป็น “ของเล่น” ที่ดีที่สุดสำหรับเขา หากพ่อแม่พูดคุยกับลูกสม่ำเสมอ เล่นกับลูก ให้ความรัก กอดลูกให้มาก ลูกจะไม่ใช้ความก้าวร้าวเป็นตัวต่อรองกับพ่อแม่
คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงความรักและให้เวลากับลูก กอดหอม เขาให้มากที่สุด เพื่อให้เราใจเย็น การที่เราได้หยุดมองดูพฤติกรรมของลูกในแต่ละวันเฝ้ามองการเจริญเติบโตของเขา ถึงแม้ว่าเขาจะดื้อ จะซน เล่นไม่ยอมเลิกบ้าง แต่อย่างไรก็ตามเขาก็จะแสดงความน่ารักให้เราเห็นเสมอ เวลาเดินเร็วเสมอ ขอให้เก็บเกี่ยวช่วงเวลาเด็ก ๆ ของเขาไว้ให้นานที่สุด เพราะวันนึงเขาก็จะโตและบินออกจากบ้านไปมีชีวิตของตัวเอง