ช่วงตลาดหุ้นขาขึ้นยกตัวอย่างเช่นช่วงต้นปี 2009 มาเรื่อยๆจนถึงปลายปี 2014 เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นเดินหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประมาณ 400 จุดขึ้นมาสูงถึงระดับ 1600 จุดต้นโดยใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีนักลงทุนหน้าใหม่กระโจนเข้าสู่ตลาดแห่งนี้เพิ่มขึ้นมากมายเพราะได้ยินมาว่าการทำกำไรในตลาดหุ้นสามารถทำได้โดยง่ายและได้รับผลตอบแทนที่สูงลิ่ว โดยนักลงทุนหน้าใหม่ส่วนใหญ่มักจะชอบเล่นหุ้นเก็งกำไรที่ได้ชื่อว่าเก็งกำไรเพราะผลตอบแทนที่ได้รับนั้นสูงมาก แต่ก็มักมากับอาการที่เกร็งเพราะกว่าจะกำไรนั้นก็เครียดพอสมควร พอนานๆเข้ากลุ่มคนที่ตอนแรกชื่นชอบหุ้นเก็งกำไรก็อาจกลายเป็นเสพย์ติดเลยก็ว่าได้เพราะทำกำไรได้มากมาย แต่แล้วความสุขนั้นมักจะมีไม่นาน พอตลาดเริ่มเป็นขาปรับพักฐานจาก SET Index ที่ 1600 กว่าจุดมีการถดถอยอย่างมีขั้นตอนและกินระยะเวลามาเหลือ 1200 จุดต้นๆ ภายในเวลาเพียงปีเศษทำให้ นักลงทุนที่นิยมหุ้นเก็งกำไรถึงกับเจ็บหนักเพราะขาดทุนเสียหายกันเป็นอย่างมาก หุ้นเก็งกำไรบางตัวราคาลดลงมากกว่า 70 เปอร์เซนต์ด้วยซ้ำไป
สิ่งที่นักลงทุนไม่ว่าหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ชอบมองข้ามก็คือเรื่องของประเภทของนักลงทุนว่าตัวเรานั้นเป็นนักลงทุนประเภทไหนซึ่งเราต้องรู้ตัวเราเองว่าเดินเข้ามาในตลาดหุ้นเพื่ออะไร มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนแบบไหนเพราะมันจะมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงไปถึงหุ้นในพอร์ตที่เราเลือกที่จะลงทุนด้วย โดยตามตำราของต่างประเทศจะแบ่งกลุ่มนักลงทุนเป็น 4 กลุ่มหลักๆดังนี้
1.นักลงทุนระยะยาว
คือนักลงทุนที่ถือหุ้นเกิน 3 ปีขึ้นไปอาจยาวนานไปปจนถึง 5-10 ปีก็เป็นได้ซึ่งการลงทุนถือหุ้นแบบนี้แน่นอนจะแตกต่างกว่านักลงทุนประเภทอื่นๆเพราะนโยบายการลงทุนจะเน้นลงทุนในหุ้นเหมือนเป็นการลงทุนซื้อธุรกิจซึ่งคล้ายกับว่าเราเข้าไปเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นๆ การถือหุ้นในลักษณะนี้ถ้าได้หุ้นที่เป็น Growth Stock แล้วถือ(กอด)หุ้นเป็นระยะเวลานานๆ ผู้ลงทุนจะได้กำไรเยอะมาก รวมถึงเงินปันผล(ถ้ามี) ซึ่งการลงทุนแบบนี้ต้องมีความอดทนสูงมากเพราะระหว่างทางนั้นจะต้องทนกับราคาการแกว่งขึ้น-ลงของหุ้นตามรอบให้ได้ แต่ผลตอบแทนที่ได้นั้นคุ้มค่าแน่นอน ซึ่งถามว่าไอเดียการลงทุนแบบนี้จะคิดว่าจะเป็นการออมเงินระยะยาวเหมือนการฝากประจำหรือซื้อพันธบัตรก็ได้น่ะเพราะส่วนใหญ่ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร จนบางคนชอบแซวนักลงทุนระยะยาวว่าเป็นพวกซื้อหุ้นถือเพื่อให้ลูกให้หลานกันเลยทีเดียว
2.นักลงทุนระยะกลาง
คือนักลงทุนที่ถือหุ้นระหว่าง 6 เดือนไปจนถึง 3 ปี โดยนักลงทุนประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเน้นทำกำไรจากราคาหุ้นเป็นรอบๆ และหวังเงินปันผลจากหุ้นกรณีที่หุ้นนั้นๆจ่ายเงินปันผล ซึ่งไอเดียของนักลงทุนระยะกลางส่วนใหญ่ชอบที่จะลงทุนในหุ้นที่อยู่ใน SET 50 โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคาร กลุ่มพลังงาน และกลุ่มสื่อสารเนื่องจากราคาหุ้นกลุ่มดังกล่าวสามารถทำกำไรเล่นเป็นรอบๆได้ไม่ยากเย็นนัก และรอบนึงถ้าในสภาวะเศรษฐกิจดีสามารถทำได้ 15-20% ต่อรอบเลยทีเดียวอีกทั้งยังได้รับเงินปันผลอีกด้วยเรียกได้ว่ากำไรดี 2 เด้ง แต่ปัญหานอกเหนือจากการคัดเลือกหุ้นดีมีปันผลของนักลงทุนกลุ่มนี้แล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่เจอจะเป็นเรื่องของการชอบขายหมูตามรอบ(ขายหุ้นแล้วหุ้นวิ่งไปต่อ)หรืออีกกรณีหนึ่งคือ ขายหุ้นเสร็จแล้วหุ้นลงตามรอบจริงแต่แล้วไม่ได้ซื้อหุ้นตัวนั้นๆกลับเข้าพอร์ตมาอีกรอบ ทำให้หุ้นวิ่งไปอีกไกลโดยเราไม่มีของ ซึ่งสองกรณีนี้สร้างความทุกข์ให้นักลงทุนประเภทนี้เป็นอย่างมาก
3.นักลงทุนระยะสั้น
ตามนิยามของตำราต่างประเทศคือ นักลงทุนที่ถือหุ้นช่วงระหว่าง 1 สัปดาห์ขึ้นไปจนถึง ส่วนใหญ่ 3เดือน แต่ไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งนักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นบ้านเราเป็นนักลงทุนประเภทนี้ ซึ่งบางรายอาจจะเป็นด้วยภาวะจำยอมเพราะเล่นหุ้นตามเพื่อนฝูงซึ่งแน่นอนหุ้นที่นักลงทุนระยะสั้นเลือกเทรดนั้นจะค่อนข้างหวือหวา อาจเป็นคล้ายๆทำนองว่าเป็นหุ้นเก็งกำไรกึ่งเทรดเล่นรอบ แต่ที่น่าลำบากคือคนทำงานออฟฟิศส่วนใหญ่ชอบที่จะเป็นนักลงทุนประเภทนี้ซึ่งบางทีอาจมีอุปสรรคทางด้านเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นติดประชุมทำให้พอร์ตการลงทุนที่มักมีหุ้นเล่นระยะสั้นอยู่นั้นเสียหายขาดทุนได้
4.นักเก็งกำไรหรือ Day trader
ซึ่งเรามักได้ยินคำว่า “เข้าเร็ว ออกเร็ว เล่นสั้น” อยู่บ่อยๆซึ่งเดย์เทรดเดอร์โดยทั่วไปเรามักจะเข้าใจว่าเค้าเหล่านี้มักจะซื้อขายภายในวัน(ซื้อเช้า-ขายเย็น) แต่ไม่เสมอไปบางทีนักลงทุนกลุ่มนี้ก็ซื้อหุ้นก่อนตลาดปิดเพื่อไปลุ้นขายราคาเปิดในเช้าวันถัดมาก็เป็นได้หรือ ซื้อหุ้นถูกๆตอนเย็นวันศุกร์เพื่อเก็งข่าวดีเสาร์-อาทิตย์ แล้วมาขายช่วงเช้าวันจันทร์ก็เป็นได้ซึ่งหุ้นประเภทนี้หนีไม่พ้นหุ้นเก็งกำไร(ปั่น) ซึ่งต้องอาศัยทักษะความชำนาญและประสบการร์มากเป็นพิเศษครับ
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือประเภทของนักลงทุนซึ่งตัวผู้ลงทุนเองต้องสำรวจตัวเราเองว่าเรามีความพร้อมในด้านต่างๆมากขนาดไหน แล้วเราจะเป็นนักลงทุนประเภทไหน จึงจะเหมาะสมกับตัวเราและสภาพการดำเนินชีวิตของเราครับ
ผู้เขียน: อาจารย์ ธัญญพัฒน์ ธัญญศิริ
Facebook Fan page: @AjBraveTanjasiri