หยุดจ่ายหนี้ ในระบบ 1 ปี จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?
เพราะความจนมันน่ากลัว ต้นเหตุที่ทำให้เราต้องจำยอมกลายเป็นหนี้ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ที่ติดขัด หลายคนจึงเกิดคำถามว่า หากหยิบยืมเงินก้อนมาจากธนาคารแล้ว หยุดจ่ายหนี้ ในระบบ 1 ปี จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะสภาพคล่องทางการเงินตอนนี้กำลังย่ำแย่ ต้องใช้เวลาสักพักใหญ่ในการฟื้นตัว ถ้าเราหยุดจ่ายไปเลยจะดีไหม จะเป็นอะไรหรือเปล่า เราเลยจะพาทุกคนไปดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่อคุณตัดสินใจหยุดจ่ายหนี้กัน ว่าคุ้มค่าหรือไม่หากเลือกทางนี้
หยุดจ่ายหนี้ในระบบ 1 ปี จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ถือเป็นคำถามคาใจสำหรับคนที่ไม่มีเงินชำระหนี้ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตทางการเงินที่เราอยากจะทิ้งทุกอย่างไปเลยแล้วเริ่มต้นใหม่สักที แต่ในความเป็นจริงแล้วเราไม่สามารถทำแบบนั้นได้ การที่อยู่ดีๆ เราก็หยุดจ่ายหนี้ในระบบไปเลย 1 ปีจะส่งผลกระทบตามมามากมาย ดังนี้
มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
- ค่าเบี้ยปรับ เป็นค่าใช้จ่ายที่ทางธนาคารคิดในการทวงถาม และติดตามการจ่ายหนี้ของเรา ซึ่งในแต่ละธนาคารก็จะมีอัตราเบี้ยปรับที่แตกต่างกันออกไป แล้วก็จะถูกทบไปเรื่อยๆ ในบิลแต่ละเดือน พอเรากลับไปจ่ายใหม่อีกครั้ง เบี้ยปรับตัวนี้ก็จะกลายเป็นหนึ่งในหนี้สินของเราด้วย
- ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เป็นดอกเบี้ยที่ธนาคารคิดสำหรับการปรับเมื่อเราชำระหนี้สินล่าช้า หรือผิดนัดชำระหนี้ โดยจะคิดตามยอดเงินต้นค่างวดในแต่ละเดือนที่เราผิดนัดชำระ อย่างเช่น เรามีค่างวดต้องชำระเดือนละ 10,000 บาท เป็นเงินต้น 8,000 บาท และดอกเบี้ยอีก 2,000 บาท ธนาคารจะนำเอายอดเงินต้น 8,000 บาทมาคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ที่น่ากลัวคือเป็นการคิดตามจำนวนวันที่เราผิดนัด ไม่ใช่การคิดแบบรายเดือน
วิธีคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีแนวปฏิบัติในการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เพื่อลดภาระให้กับลูกหนี้ และช่วยลดโอกาสเกิดหนี้เสียให้กับเจ้าหนี้ โดยอัตราดอกเบี้ยจะต้องเป็นอัตราตามสัญญา และบวกเพิ่มได้ไม่เกิน 3% เท่านั้น คำนวณจากยอดเงินต้นตามงวดที่เราผิดนัดชำระ
ตัวอย่าง: อัตราดอกเบี้ย 16% ต่อปี ธนาคารบวกเพิ่มไปอีก 3% เป็น 19% ต่อปี ค่างวดของเรามีเงินต้นเดือนละ 8,000 บาท ก็จะกลายเป็นเบี้ยปรับประมาณวันละ 4 บาท หรือเดือนละประมาณ 126 บาทนั่นเอง ใช้สูตร 8,000 x 19% / 12 / 30 ก็จะได้ออกมาเป็นค่าเบี้ยปรับรายวัน
เสียเครดิต อาจกู้ไม่ผ่านในอนาคต
เมื่อเรามีการหยุดชำระหนี้ สิ่งที่จะตามมาก็คือการเสียประวัติบนเครดิตบูโร ซึ่งประวัติตรงนี้จะมีอายุนานประมาณ 3 ปีเลยทีเดียว เวลาที่เราไปขอกู้เงินในอนาคต แม้ว่าเราจะจัดการหนี้สินก้อนนี้ได้เป็นปีแล้ว แต่ถ้ายังมีข้อมูลผิดนัดชำระหนี้ปรากฏอยู่บนเครดิตบูโร ก็มีโอกาสส่งที่สถาบันการเงินแห่งใหม่จะตัดสินใจไม่อนุมัติเงินกู้ให้กับเราได้เหมือนกัน
เพราะเป็นการชี้ให้เห็นว่าในอดีตเราเคยไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ไม่มีวินัยในการชำระหนี้อย่างตรงต่อเวลา ซึ่งประวัติตรงนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเรามีการผิดนัดชำระหนี้เกิน 90 วัน เราจะกลายเป็นผู้มีปัญหาการชำระหนี้ และทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินในอนาคตของเรายากขึ้นกว่าเดิมเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว
ถูกฟ้องร้องหรือยึดทรัพย์
สุดท้ายแล้วถ้าเรามีหนี้สินค้างชำระเป็นจำนวนมาก มีประวัติผิดนัดชำระหนี้ ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดที่จะเกิดขึ้นก็คือธนาคารอาจจะมีการฟ้องร้องคดีแพ่งเพื่อให้เราชำระหนี้คืน หากคุณไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ไม่มีทรัพย์สินอะไรเลย แย่ที่สุดศาลอาจตัดสินให้คุณกลายเป็นบุคคลล้มละลาย อนาคตทางการเงินของคุณจะจบลงแทบจะสมบูรณ์แบบเลยทีเดียว
แต่ในกรณีที่คุณมีงานทำ มีทรัพย์สินอยู่บ้าง สุดท้ายแล้วหากแพ้คดีก็จะไปจบลงที่การบังคับคดี บังคับคดีจะเข้ามาจัดการทรัพย์สินของคุณเพื่อนำเอาไปชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ ของมีค่าจะถูกนำเอาไปขายทอดตลาดเพื่อหาเงินคืน อาจโดนอายัดรายได้บางส่วนในแต่ละเดือนเพื่อคืนให้กับเจ้าหนี้ด้วย ที่สำคัญการขึ้นโรงขึ้นศาลยังมีความสลับซับซ้อน เสียเวลา และค่าใช้จ่ายสูงอีกต่างหาก
หนี้สินเยอะ แถมขาดสภาพคล่อง รับมือยังไงดี
เราเชื่อว่าในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครอยากเป็นหนี้แน่นอน และเมื่อเป็นหนี้แล้วทุกคนก็อยากจะใช้ให้หมดไปเร็วๆ แต่บางทีสภาพคล่องทางการเงินของเราก็ไม่ได้เอื้ออำนวยให้เราสามารถจ่ายหนี้ได้ตามที่ระบุไว้ในสัญญา ถ้าไม่อยากโดนผลกระทบแบบด้านบน แต่ก็ยังไม่มีเงินสำหรับชำระหนี้เหมือนกัน เราจะพาทุกคนมาดูกันว่ามีวิธีการรับมือกับหนี้สินยังไงบ้างในช่วงที่กำลังมีปัญหาทางการเงิน
อ่านสัญญา และเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญา
เมื่อเกิดปัญหาทางการเงิน สิ่งแรกที่เราอยากให้ทุกคนทำก็คือการอ่านสัญญา และพิจารณาเงื่อนไข เพราะจะบอกหมดเลยว่าเราต้องชำระเงินเป็นจำนวนเท่าไหร่ เวลาไหน และอัตราดอกเบี้ยเป็นยังไง การอ่านสัญญาให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้จะช่วยให้เราสามารถจัดการหนี้สินก้อนนั้นได้ดีขึ้นกว่าเดิม
ติดต่อเจ้าหนี้เพื่อขอปะนีประนอม
เมื่อเราพบว่าเราไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนดเอาไว้ในสัญญา สิ่งที่ควรทำต่อมาเลยก็คือการไปติดต่อกับธนาคารเพื่อเจรจาขอประนอมหนี้ ธนาคารจะพิจารณาว่าจะหาทางออกร่วมกันอย่างไรทั้งสองฝ่ายโดยที่เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ไม่ต้องกังวลว่าจะส่งผลกระทบกับชีวิตเราถึงขนาดนั้น เพราะการเข้าไปพูดคุยอย่างจริงจังจะทำให้เจ้าหนี้เห็นว่าเรามีความซื่อสัตย์ และกระตือรือร้นที่จะชำระหนี้ เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มีเงินเท่านั้น
ธนาคารอาจมีการพิจารณาให้เราหยุดพักชำระหนี้ไปเป็นเวลา 3 เดือนถึง 6 เดือน บางคนอาจได้รับสิทธิ์ให้ผ่อนจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยไปก่อน ไม่ต้องจ่ายเงินต้นเป็นระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้ ในขณะที่บางคนก็อาจจะได้จ่ายทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยเหมือนเดิม แต่เมื่อรวมกันแล้วเป็นจำนวนที่น้อยกว่าค่างวดตามปกติ
รีไฟแนนซ์หนี้
สำหรับคนที่เป็นหนี้บัตรกดเงินสด หรือหนี้บัตรเครดิต มีหลายใบที่เจ้าหนี้เริ่มทวงถาม วิธีการที่จะช่วยคุณสามารถเอาตัวรอดได้ดีที่สุดในช่วงเวลานี้ก็คือการรีไฟแนนซ์หนี้นั่นเอง ในยุคนี้มีธนาคารมากมายที่ออกสินเชื่อให้ทุกคนสามารถรวมหนี้บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสดที่ดอกเบี้ยสูงมาไว้ในที่เดียวได้ ช่วยให้เราบริหารหนี้ได้ง่ายขึ้น เพราะดอกเบี้ยต่ำลง สามารถยืดระยะเวลาการผ่อนชำระให้ยาวนานมากขึ้น เงินที่ต้องจ่ายในแต่ละงวดก็จะน้อยลงไปด้วย
สรุปแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหากหยุดจ่ายหนี้ คำตอบก็คือ มีแต่ความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติม ทั้งค่าเบี้ยปรับ และดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ต้องเสียประวัติบนเครดิตบูโร ทำให้สูญเสียโอกาสในการยื่นขอสินเชื่อครั้งต่อไป และบางคนอาจถูกฟ้องร้องจนถึงขั้นล้มละลายได้เลยทีเดียว เพราะฉะนั้น หากคุณเกิดปัญหาทางการเงิน เราขอแนะนำให้หาทางออกด้วยวิธีการที่เราแนะนำไปข้างล่างจะดีกว่า เพราะบอกเลยว่าการหยุดชำระหนี้เฉยๆ จะไม่ส่งผลดีอย่างแน่นอน