การชม นับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง และเป็นสิ่งที่ต้องฝึกชมคนให้เป็นนิสัย แต่ไม่ใช่ว่า นึกจะชื่นจะชมอะไรก็ชมไปงั้นๆ จริงๆแล้วการชมที่ถูกที่ควรมีหลักการของการชมอยู่ คำชมคืออาวุธสำคัญในการกระตุ้นพฤติกรรมด้านบวกของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ลูก ลูกศิษย์ ลูกน้อง ล้วนต้องพูดชมให้กำลังใจกันบ่อยๆ เคล็ดลับของการชมคือ ชมให้พอดี เหมาะกับกาลเทศะ ชมให้สมน้ำสมเนื้อ ชมแบบไม่เหลือเชื่อเกินจริง
ยกตัวอย่าง ถ้าลูกหรือหลานของเราทำอะไรที่ดูธรรมดา แล้วเราไปเอ่ยปากชมเสียเลอค่า ชมว่าดีที่สุด แล้ววันหนึ่งพอลูกๆหลานๆทำอะไรที่วิเศษขึ้นมาจริง เราจะสรรหาคำชมที่วิเศาเลอค่ายิ่งกว่าได้ที่ไหน ดังนั้น จงชมแต่พอดี หรือถ้าเกิดพ่อแม่ ชมลูกมากจนเกินเลย ชมหยุมหยิม จะทำให้เด็กไม่กล้าที่จะทำอะไรผิด หรือจะรู้สึกแย่ถ้าไม่ได้ทำดี เด็กจะกล้วที่จะทำอะไรต่อมิอะไร เพราะรู้สึกได้ว่า พ่อแม่ ผู้ใหญ่จะคาดหวังแต่สิ่งดีๆเท่านั้น วึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ใครจะไม่เคยทำผิด ทีนี้พอลูกทำผิด ไม่รู้ว่าความคิดและความกลัวของลูกจะเตลิดไปถึงไหน เด็กๆ ไม่ควรที่จะต้องมาแบกรับความกดดันขนาดนั้น สรุปคืออย่าชมไปซะทุกเรื่อง
มีพ่อแม่หรือผู้ใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นลูกเป็นของตาย เรียกว่าคนใกล้ตัวไม่เห็นค่า คำพูดคำจาดีๆไม่เคยมีให้ลูก ทั้งๆที่เขาประพฤติดี ทำตัวน่ารัก ไม่เคยมีคำชมหลุดออกจากปากแม่พ่อเลย แบบนี้ก็เกินไป โปรดเข้าใจไว้ด้วยว่า ลูกๆและเด็กๆทุกคนอยากได้คำชมทั้งนั้น ถ้าชมไม่เป็น ลองดูตัวอย่าง เช่น “ลูกถูบ้านหนักมาก แต่ก็ไม่ปริปากบ่น ลูกเก่งจริงๆ” หรือ “รู้จักกินผัก ไม่เขี่ยทิ้ง ไม่กินเลอะเทอะ ลูกน่ารักจริงๆ” เป็นต้น คำชมง่ายๆเหล่านี้ที่ออกมาจากใจจริง เป็นประโยชน์กับเด็กๆมาก นอกจากคำชมแล้ว พ่อแม่ ผู้ใหญ่สามารถที่จะเติมคำขอบคุณเข้าไปด้วย ก็จะช่วยให้เด็กเห็นคุณค่าของตัวเอง ขอบอกขอบใจเขาด้วย ไม่ใช่ตอนดื้อดุด่า ตอนทำดีกลับทำเอาหูไปนาเอาตาไปไล่ ไม่สนใจสิ่งดีๆที่ลูกทำ ย้ำตัวอย่างกันอีก “ ขอบใจนะลูกที่กินข้าวเสร็จ ก็ช่วยแม่เอาถ้วยเอาชามไปเก็บ”
เคล็ดลับในการชมที่ดีอีกวิธีหนึ่งคือ ให้เจาะลงลงรายละเอียดให้ชัดเจน พร้อมถามไถ่อย่างใส่ใจ เช่น “ โอ้ว! วาดรูปได้เจ๋งจริงๆ พ่อชอบดวงอาทิตย์สีแดงนั่นมาก มันมีพลัง ดูสิ เจ้าหมาตัวนั้นมันดูเหนื่อยและร้อนมาก ลูกทำได้ไงเนี่ย” ไม่ใช่ชมสั้นว่า “วาดรูปเก่งจัง” คำชมที่ใส่ใจอย่างจริงจัง จะช่วยให้เด็กมีพลังความคิดสร้างสรรค์ และกล้าที่จะแสดงออกเต็มที่ ฉายแววอัจริยะออกมาอย่างเต็มประสิทธิภาพ
นอกจากวิธีชมที่ถูกต้องแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญคือ วัตถุประสงค์ในการชม พ่อแม่ ผู้ใหญ่ และเจ้านายทั้งหลาย ต้องชมให้ถูกประเด็น ไม่ใช่ชมแต่เรื่องความเก่ง หรือชมแต่เฉพาะเมื่อเห็นผลงาน หรือชมตอนได้ชัยชนะเท่านั้น ต้องชมเพื่อสร้างค่านิยมที่ดีงามและทัศนคติที่ในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องด้วย การที่เรามุ่งชื่นชมที่ลูกได้ชัยชนะ หรือสอบได้ที่หนึ่ง เป็นการตอกย้ำลูกโดยไม่รู้ตัวให้เขาเชื่อว่า ชีวิตนี้มีแต่เรื่องชัยชนะเท่านั้นที่เขาต้องทำ ความเป็นที่หนึ่งเท่านั้นที่พ่อแม่ต้องการและยอมรับ จริงๆแล้วไม่ถูกต้องทั้งหมด ยังมีเรื่องๆอื่นๆที่สำคัญกว่าชัยชนะ เช่น การมีกิริยามารยาทที่ดีงาม การแบ่งปัน การมีน้ำใจ ความซื้อสัตย์ การทำงานให้สำเร็จ การตรงต่อเวลา และความมีวินัยทางการเงินเป็นต้น ประเด็นเหล่านี้ เมื่อเราเห็นลูกทำ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร เราก็ต้องชมในกระบวนที่เขาได้ลงมือทำด้วย เช่น เราคาดหวังว่า ลูกจะเหลือเงินกลับมาบ้าน 20 บาท แต่ในความเป็นจริง ลูกเหลือเงินแค่ 10 บาท เราก็ต้องชม ว่าทำดีแล้ว “เก่งมากที่มีเงินเก็บ ไม่ใช้จนหมด คราวหน้าพยายามเพิ่มขึ้นอีกนิดเก็บให้ได้ 20 บาทนะลูก”
ทั้งหมดเป็นนี้เป็นเรื่องของคำชม ต้องชมอย่างใส่ใจ ไม่ชมแบบเหลือเชื่อเกินจริง ชมในสิ่งที่ที่ลูกกระทำ ชมในขั้นตอนและกระบวนการ ไม่ใช่ชมที่ผลลัพธ์เพียงอย่างเดียว เราสามารถปลูกฝังค่านิยมและทัศนคติในการดำเนินชีวิตที่ดีงามให้ลูกไปพร้อมๆกับการชมได้ ก่อนนอนทุกคืน อย่าลืมถามตัวเองว่า วันนี้ได้เอ่ยปากชมลูกๆหลานๆแล้วหรือยัง คำชมเป็นของขวัญอันล้ำค่า ไม่ต้องเสียเงินซื้อมาแต่อย่างใด ชมได้ ชมดี ชมให้ถูกวิธี ลูกหลานจะมีชีวิตที่ดีแน่นอน