หลายคนเคยคิดอยากไปทำงานต่างประเทศเพราะเห็นว่ารายได้ดี ถึงแม้ค่าใช้จ่ายในการกินอยู่ใช้ชีวิตจะสูงกว่าอยู่เมืองไทยหลายเท่าตัวแต่รายได้อัตราค่าจ้างนั้นสูง เมื่อหักลบกับรายได้แล้วก็ยังมีเงินเหลือในกระเป๋ามากกว่าทำงานในประเทศอยู่ดี ด้วยเหตุผลสุดท้ายนี้เอง หลายคนจึงมีความคิดอยากย้ายตัวเองไปทำงานที่ต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นทำงานชั่วคราว เน้นเก็บเงินให้ได้เป็นเงินก้อนในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หรือตั้งใจหาลู่ทางอยู่ถาวรเลยก็มีมากเพราะเห็นแก่สวัสดิการและคุณภาพชีวิต ที่ดีกว่ากับตัวเองและครอบครัวในระยะยาว
อ่านเพิ่มเติม : เรื่องต้องรู้ก่อนไป ทำงานต่างประเทศ
การคิดและเปิดโอกาสให้ตัวเองได้รู้โลกที่กว้างขึ้นโดยการทำงานต่างประเทศนั้นเป็นสิ่งที่ดี และควรทำเมื่อมีโอกาส แต่การไปทำงานอย่างระมัดระวังและเตรียมตัวกับสิ่งที่จะเผชิญเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า เพราะต้องไม่ลืมว่าอยู่ต่างประเทศนั้นเราเหมือนตัวคนเดียว นอกจากจะไม่รู้จักใครที่จะพร้อมให้การช่วยเหลือหากมีเหตุจำเป็นฉุกเฉินแล้วและยิ่งเรามีกำแพงภาษาเป็น ตัวกีดกั้นอีกด้วยล่ะก็ อาจเป็นเหมือนฝันร้ายของใครหลาย ๆ คนเลยทีเดียว อย่าลืมว่าไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนชาติไหน ๆ มักจะมีคนชั่วพร้อมที่เอาเปรียบและกอบโกยผลประโยชน์ให้ตัวเองเมื่อมีโอกาสเสมอ ดังนั้น การศึกษาหาความรู้ด้านภาษาของประเทศที่จะไปและความชัดเจนในตัวงานที่จะทำย่อมมีความจำเป็นจะต้องเตรียมตัวก่อนเสมอ
ในบทความนี้ขอยกเฉพาะกรณีการทำงานต่างประเทศที่ไม่ใช่ลักษณะขายแรงงาน เช่น งานก่อสร้าง ช่างต่าง ๆ หรือเก็บผลไม้ รวมถึงงานที่ไม่ใช่ลักษณะใช้ฝีมือเฉพาะทาง เช่น พนักงานนวดไทยและสปาแต่จะเป็นงานทั่ว ๆ ไปที่ฝรั่งต่างชาติทำหรือ งานบริษัทเป็นหลัก
หากมีเป้าหมายในเบื้องต้นตามที่เขียนมาด้านบนแล้ว เรื่องมีเงินหรือไม่มีเงินอาจเป็นเรื่องรอง เพราะเราสามารถหาได้ มี 3 แนวทางใหญ่ที่นิยมกันเพื่อที่จะปูแนวทางเป้าหมายไปสู่การทำงานต่างประเทศนั่นคือ
- เรียนจบที่ต่างประเทศ แล้วหางานทำที่ต่างประเทศเลย
เป็นวิธีที่ถือว่าค่อยเป็นค่อยไป เพราะได้มีโอกาส ใช้ชีวิตที่เมืองนอกก่อนแล้ว อุปสรรคภาษาไม่มี อุปสรรคแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ จะไปเรียนอย่างไรเอาทุนเรียนจากไหน ถ้าประเทศที่คุณไปเรียนเป็นประเทศแถบยุโรปที่ไม่ใช่อังกฤษแล้วล่ะก็ หาทุนเรียนได้ง่ายมาก การเรียนเฉพาะทางหลาย ๆ ด้านแทบจะเสนอให้เรียนกันฟรี ๆ โดยไม่มีภาระผูกพันเลยทีเดียว แต่ถ้าคุณไปอยู่ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ บางประเทศหากไม่มีทุนเลยอาจอยู่ลำบาก เช่น ประเทศอังกฤษ งานที่ทำอาจหนี ไม่พ้นพนักงานร้านอาหาร ซึ่งก็พอได้เงินเป็นค่ากินอยู่ต้องจัดสรรเวลาดี ๆ เพราะอย่าลืมว่าอย่างไรก็ต้องเรียนด้วย การหาทุนในประเทศเหล่านี้มักยากและคัดแต่หัวกะทิ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีงานอื่น หากเป็นที่อเมริกา งานที่สามารถทำได้และได้เงินถือว่าค่อนข้างดีคือการเป็น TA หรือผู้ช่วยสอน ผู้ช่วยในแลปหรือแม้แต่ผู้ช่วย ในห้องสมุด งานเหล่านี้เมื่อเรียนจบแล้ว สามารถต่อยอดจากประสบการณ์ทำงานต่อได้เลยหรือออกไปทำงานข้างนอกโดยมีหนังสือ Recommendation จากโปรเฟสเซอร์ใช้อ้างอิงได้ทันที
ส่วนที่สอง คือ เมื่อเรียนจบแล้ว หางานได้แล้วหลายบริษัทจะติดปัญหาเรื่องวีซ่า หลายบริษัทโดยเฉพาะบริษัทเล็ก ๆ มักไม่ยุ่งเรื่องการขอวีซ่าหรือการขอซิติเซ่นชิปให้เรา สิ่งเหล่านี้ให้ปรึกษากับสถานกงศุลไทย ณ ประเทศนั้น ๆ ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างมากต้องวางแผนให้อย่างรัดกุม มิฉะนั้นแล้วจะต้องเสียเวลาเสียเงินจำนวนมาก บินไปกลับเมืองไทย นอกจากนั้นแล้ว อาจจะผิดกฎหมายและไม่สามารถกลับไปทำงานได้อีกเลยด้วยซ้ำ
- การสมัครงานผ่านการ Recruitment ของบริษัทต่างชาติในเมืองไทย
มีบริษัทชั้นนำของโลกหลายบริษัท ทำการ Recruitment นักศึกษากำลังจบไปทำงาน งานเหล่านี้มักเป็นงานเฉพาะด้าน เช่น น้ำมัน งานสำรวจหรืองานวิจัยยา หลายคนมักกลัวเพราะคิดว่าบริษัทเหล่านี้ต้องเอาแต่พวกหัวกะทิไปแต่ไม่ใช่ ส่วนใหญ่บริษัทเหล่านี้มองหาคนที่ปรับตัวเก่งเอาตัวรอดได้ที่มีความรู้ในศาสตร์ที่ต้องการต่างหากให้ค้นหาว่ามีบริษัทใดบ้างและ เขียนอีเมล์ยื่นความจำนงได้ทันที
- การตะลุยหางานเอง
เป็นสิ่งที่ยากที่สุด ก่อนอื่นต้องประเมินตนเองก่อนว่าเรามีความรู้ความสามารถใด ที่จะแข่งขันแย่งชิงตำแหน่งงานจากฝรั่งได้ หากปัญหาเรื่องการสื่อสารได้ถูกฝึกปรือมาพอที่จะสื่อสารและเอาตัวรอดได้แล้ว การมีดีกรีและประสบการณ์จะเป็นหนทางเดียวที่เราจะสามารถได้หรือไม่ได้ตำแหน่งงาน เช่น หากเคยทำงานตำแหน่ง Buyer ในห้างค้าปลีกในเมืองไทยก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับตำแหน่งงานเดียวกันนี้ ในบริษัท ค้าปลีกที่เมืองนอก ซึ่งเราอาจเลือกห้างที่ขนาดเล็กลงมาหน่อยที่การแข่งขันแย่งงานไม่สูงนัก เช่น ห้างค้าปลีก Local เพื่อทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ก่อนสักพัก ค่อยหาทางขยับขยาย
ประสบการณ์ยิ่งเฉพาะทางยิ่งมีโอกาสได้งานที่ต่างประเทศ หากไม่นับอาชีพหมอหรือเภสัชกรที่สามารถหางานได้เกือบจะทันทีที่แจ้งความประสงค์ อาชีพอย่างนักบัญชี เจ้าหน้าที่วิจัย หรืออย่าง Buyer ตามตัวอย่าง ก็มีโอกาสในการหางานได้ง่ายกว่าเช่นกัน
อยากไปทํางานต่างประเทศ แต่ไม่มีเงิน เลยคงเป็นไปไม่ได้ เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพียงพอที่จะพาตัวเองไปอยู่ต่างประเทศ รวมถึงใช้ชีวิตได้ในช่วงระหว่างปรับตัวและรอทำงาน แต่หากประเมินตัวเองว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะทำได้ การทำงานที่ต่างประเทศก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย
เรื่องที่ยากกว่า คือ การปรับตัวและปรับใจให้อยู่ที่ต่างประเทศมากกว่า เพราะถ้าหากไม่สามารถปรับส่วนนี้ได้แล้ว การอยู่ที่เมืองนอกอาจเป็นแหล่งบ่มความเศร้าซึมให้กับชีวิตของคุณได้อย่างดีเลยทีเดียว หลายคนที่ใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกมาครึ่งค่อนชีวิตก็กลับมาขอตายที่เมืองไทย อีกหลายคนมุ่งหน้าหาเงินเก็บสตางค์จนได้เงิน ก้อนใหญ่เพื่อกลับมาเมืองไทยแล้วจะได้เอามาลงทุนตั้งตัวมีอาชีพอิสระ แต่แล้วก็อาจหมดตัวกับทุนที่หามานั้น เพราะความ ที่ไม่ได้อยู่เมืองไทย มองตลาดเมืองไทยไม่ออกจึงเกิดการลงทุนผิดพลาด เมื่อทุนหมดไม่รู้จะทำอะไรก็ต้องกลับไปผจญชีวิตเมืองนอกและเริ่มต้นใหม่เมื่อตอนอายุเยอะขึ้น ถือเป็นความผิดพลาดและเสียโอกาสในการใช้ชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้นเมื่อตั้งใจและมีความคิดที่จะไปทำงานต่างประเทศ ก็ควรคิดเผื่อแนวทางอนาคตยาว ๆ ไว้ด้วยเป็นการป้องกันและระมัดระวัง ไม่ใช้การใช้ชีวิตเกิดความผิดพลาดขึ้นได้