จากกระทู้ >> http://pantip.com/topic/34490665 << ที่เจ้าของกระทู้เล่าถึงการไปสมัครงานและไปสัมภาษณ์เรียบร้อย หลังจากนั้นโทรมาตามให้ไปทำงานโดยบอกแค่ว่า รายละเอียดบอกแต่เพียงว่า ทดลองงาน 3 วัน ไม่ได้เงิน ตำแหน่ง Pc ขายเสื้อผ้า เข้า 11:00 เลิก 23:00 ซึ่งเจ้าของกระทู้นั้นอยากทราบว่าผิด หรือ ไม่ผิดกฎหมาย กับการให้ ทดลองงาน 3 วันโดยไม่ได้ค่าแรง และดูจากการประกาศรับสมัครงานแล้ว น่าจะเป็นบริษัทนายหน้าหางานมากกว่าเจ้าของสินค้า หรือร้านค้ารับสมัครโดยตรงเพราะมีการประกาศผ่านโลกอินเตอร์เน็ตในเว็บไซด์หางาน
ซึ่งจริงๆแล้วนั้นเรื่องของการ ทดลองงาน นั้นตามกฎหมายแรงงานมีระบุไว้เหมือนกัน เกี่ยวกับเรื่องการทดลองงาน ซึ่งต้องมีการเซ็นยินยอมทั้งผู้จ้างและผู้ถูกว่าจ้าง ซึ่งจากข้อกฎหมายเรื่องของการ ทดลองงาน สรุปคร่าวๆคือ
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ไม่ได้บัญญัติเรื่องการทดลองงานไว้ดังเช่นประกาศของกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 46. ซึ่งประกาศดังกล่าวได้ยกเลิกไปนานแล้ว (ประกาศที่ยกเลิกไปแล้วนั้นได้วางหลักเกณฑ์การทดลองงานไว้ว่า ข้อตกลงทดลองงานต้องทำเป็นหนังสือ ทดลองงานได้คราวเดียวไม่เกิน 180 วัน และหากจะเลิกจ้างเพราะไม่ผ่านทดลองงานต้องกระทำในระหว่าง 180 วันนั้น) ดังนั้นจึงเป็นอำนาจจัดการทั่วไปของนายจ้าง (Management Right) ที่จะสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ของการทดลองงานได้ตามที่เห็นสมควร อย่างไรก็ตามการวางหลักเกณฑ์นั้นต้องไม่ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และเป็นไปตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลาซึ่งนายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงกันด้วย
จากตัวอย่างข้อกฎหมายที่สรุปมาคร่าวๆนั้น เห็นได้ชัดว่าบริษัทที่เจ้าของกระทู้ไปสมัครงานกับบริษัทที่ใช้ช่องโหว่ของข้อกฎหมายในการรับพนักงานเข้าทำงานโดยมีการแจ้งว่า ทดลองงาน 3 วันไม่ได้ค่าแรง และไม่มีรายละเอียดอะไรนอกเหนือจากนี้นั่นหมายถึง เจตนาไม่บริสุทธิ์ เช่น หลังจาก ทดลองงาน แล้วอาจไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงาน หรือจ้างงานรายวันต่อเนื่องทั้งแบบพาร์ทไทม์และฟูลไทม์ เพราะบริษัทจะแจ้งผลว่าประเมินแล้วไม่ผ่านการทดลองงาน เท่ากับว่าไปทำงานให้เขาฟรีๆ แต่บริษัทนายหน้าก็ไปเรียกเก็บเงินจากผู้ว่าจ้างอีกทอดหนึ่งได้เงินเข้าบริษัทฟรีๆโดยไม่ต้องจ่ายค่าแรงให้พนักงาน และบริษัทเหล่านี้จะใช้กลยุทธ์นี้หลอกคนที่อยากได้งานทำ ด้วยช่องโหว่ของกฎหมายที่เปิดให้นายจ้างสามารถทดลองงานลูกจ้างได้ โดยมีระยะเวลาตามกฎหมายกำหนด ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎระเบียบของบริษัทในการร่างข้อสัญญาการจ้างงาน
ซึ่งช่องโหว่นี้ทำให้มีบริษัทนายหน้าจัดหางาน หรือบริษัทห้างร้านและโรงงานบางแห่งรับพนักงานทำงานโดยใช้คำว่า ทดลองงาน ให้เป็นประโยชน์กับตัวเองมากกว่าลูกจ้าง เช่น บางแห่งมีระยะทดลองงานตามกฎหมาย มีการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ แต่ไม่ให้สวัสดิการ เช่น ประกันสังคม เพราะ อ้างว่าอยู่ระหว่างทดลองงาน และเมื่อครบระยะเวลา ทดลองงาน ก็แจ้งว่าไม่ผ่านงานเพราะไม่อยากบรรจุพนักงานเข้าเป็นพนักงานประจำซึ่งต้องเสียสวัสดิการอื่นๆ โดยจะเปิดรับพนักงานแบบนี้เรื่อยๆ ซึ่งมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นจริง บางแห่งจ้างเป็นพาร์ทไทม์แต่ทำงานแบบประจำให้ค่าแรงเป็นรายวันเพื่อเลี่ยงภาระการจ่ายเงินสมทบเข้าระบบประกันสังคม ซึ่งปัจจุบันโรงงานที่จ้างแบบนี้มีอยู่จริงโดยจะให้ค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำนิดหน่อยเพื่อดึงดูดให้คนมาสมัครงาน
ซึ่งจากที่นำตัวอย่างกระทู้มาให้อ่านกันนี้ หากผู้อ่านไปเจอลักษณะการรับสมัครงานที่ต้อง ทดลองงาน ก่อนแต่ไม่ได้ค่าแรง บอกเลยว่าอย่าไปทำโดยเด็ดขาด เพราะเราจะไม่ได้อะไรเลยและไม่มีความแน่นอนในการได้งานทำแบบมีรายได้ประจำด้วย ซึ่งบริษัทนายหน้าแบบนี้มีเยอะมากซึ่ง แม้ว่าหลายๆคนที่เจอการรับสมัครงานในลักษณะแบบนี้จะยอมไปทำเพื่อหวังว่า ทดลองงานแล้วน่าจะได้งานประจำจากที่นี่เลยขอบอกเลยว่าโอกาสได้งานมีแค่ 50-50 เท่านั้นเพราะมันเป็นไปได้สองกรณีคือ
1. บริษัทต้องการค่าหัวคิวจากการส่งพนักงานไปทำงาน
ซึ่งระยะเวลาจากตัวอย่าง คือ ทำงานฟรี 3 วันค่าแรงคิดง่ายสมมุติว่า 300 บาท 3 วันเท่ากับ 900 บาทหากมีคนหลงเชื่อสัก 10 คนบริษัทนายหน้าได้เงินฟรีๆ9,000 บาทจากการส่งพนักงานไปให้ผู้ว่าจ้าง และหากมีการจ้างงานต่อบริษัทนายหน้าเหล่านี้จะมีการเรียกเก็บเงินจากคนที่มาสมัครเช่นค่าประกันการทำงาน ค่าชุดฟร์อมและอื่นๆ
2. บริษัทหลอกให้ทำงานให้ฟรีๆอย่างที่กล่าวข้างต้น
ซึ่งบริษัทเหล่านี้ปัจจุบันมีเยอะมาก ดังนั้นการหางานทำหรือสมัครงานควรตรวจสอบสักนิดว่าเป็นบริษัทนานหน้าหรือไม่ และโดยเฉพาะการสมัครงานผ่านเว็บรับสมัครงานนั้นจะเจอบริษัทแบบนี้เยอะมาก ซึ่งบางแห่งนั้นมีการทำถูกต้องตามกฎหมายส่งคนสมัครไปทำงานจริงๆไม่มีการฉ้อโกง แต่บางแห่งก็เป็นแบบที่เจ้าของกระทู้เจอดังนั้นควรหารายละเอียดของบริษัทให้ชัดเจนและมั่นใจว่าสมัครแล้วจะได้งานทำจริงๆ หรืออาจเลี่ยงสมัครงานกับบริษัทนายหน้าเพื่อลดความเสี่ยงจากการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมเพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง
อ่านเพิ่มเติม >> รู้ทันกลโกง กลยุทธ์หลอกลวง งานออนไลน์ <<