ผู้ที่ทำงานเป็นพนักงานมีรายได้ประจำจากเงินเดือนหลายคนที่สงสัยว่าทำไมตัวเองถึงไม่มีประกันสังคม พอไปถามนายจ้างก็บอกว่าไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม เลยอดคิดไม่ได้ว่าแบบนี้ทำให้เราเสียสิทธิประโยชน์อะไรไปหรือไม่ หรือถือว่าเราทำผิดกฎหมายหรือเปล่ามาดูกัน
ข้อกำหนดของประกันสังคมได้กำหนดไว้ว่านายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป จะต้องขึ้นทะเบียนนายจ้าง พร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนด้วยกับทางประกันสังคม โดยต้องขึ้นทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่มีการจ้างงาน เมื่อมีการจ้างลูกจ้างใหม่ก็จะต้องแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ภายในกำหนด 30 วัน เช่นเดียวกันและเมื่อมีลูกจ้างลาออกไปนายจ้างก็มีหน้าที่ต้องแจ้งเอาชื่อลูกจ้างออกจากประกันสังคมด้วยเช่นเดียวกัน โดยต้องระบุสาเหตุของการออกจากงาน และต้องแจ้งภายใน 15 วันของเดือนถัดไป
อ่านเพิ่มเติม : รวบรวมคำถาม-คำตอบ ไขข้อข้องใจประกันสังคม
หลังจากขึ้นทะเบียนเป็นนายจ้างและลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนแล้ว นายจ้างจะมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินสมทบทุกเดือนให้กับประกันสังคม โดยเงินสมทบที่ต้องนำส่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเงินสมทบที่หักจากเงินเดือนของลูกจ้างและอีกส่วนเป็นเงินสมทบที่บริษัทต้องจ่ายสมทบเพิ่มไป การนำส่งเงินสมทบนี้นายจ้างสามารถส่งเงินสมทบได้ 2 วิธี คือ
- นำส่งเงินสมทบด้วยแบบ สปส.1-10 โดยจะต้องกรอกข้อมูลในเอกสารให้ครบถ้วน ยื่นที่ประกันสังคมส่วนเงินสมทบจะเป็นเงินสดหรือเช็คก็ได้ ต้องยื่นและส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
- นำส่งเงินสมทบด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยนายจ้างต้องดาวน์โหลดโปรแกรม format ข้อมูลจาก sso.go.th กรอกข้อมูลให้ครบถ้วนในเอกสาร สปส.1-10 ทั้งสองส่วน นำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป เช่นเดียวกัน
หากนายจ้างส่งเงินสมทบไม่ทันหรือส่งเงินสมทบไม่ครบ นายจ้างจะต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ขาดส่ง และกรณีที่ส่งเงินสมทบไม่ทันหรือไม่ครบนี้ นายจ้างจะต้องไปยื่นเรื่องเพื่อชำระที่สำนักงานประกันสังคมเท่านั้น
สำหรับนายจ้างที่กรอกข้อมูลในเอกสาร สปส.1-10 ไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่ของประกันสังคมจะให้นายจ้างทำการกรอกข้อมูลให้ครบและถูกต้อง ถ้านายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ ถือว่ามีความผิดมีโทษจำคุก 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มีข้อยกเว้นสำหรับบุคคลหรือกิจการที่ไม่ได้ใช้บังคับโดยกฎหมายประกันสังคม เช่น
- ข้าราชการหรือลูกจ้างประจำของหน่วยงานราชการ
- ลูกจ้างของสภากาชาดไทย
- ลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
- ลูกจ้างของผู้ประกอบกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้และเลี้ยงสัตว์ ที่ไม่ได้จ้างประจำตลอดทั้งปี
- ลูกจ้างของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
- ลูกจ้างของนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดาที่งานที่ทำไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ
- ลูกจ้างของนายจ้างที่ประกอบกิจการหาบเร่ แผงลอย
ทีนี้ย้อนมาเรื่องหากนายจ้างไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมและลูกจ้างเลยไม่ได้เป็นผู้ประกันตน และไม่ได้รับสิทธิจากประกันสังคมนั้น ตามกฎหมายประกันสังคมนายจ้างจะถือว่ามีความผิด แต่หากไม่มีใครไปแจ้งกับสำนักงานประกันสังคมก็คงจะไม่เกิดอะไรขึ้น หากมีผู้ไปแจ้งกับประกันสังคมทางประกันสังคมจะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบที่สถานที่ประกอบการของบริษัทนั้น ๆ
ผู้ประกอบการบางรายยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง โดยคิดว่าการจ้างลูกจ้างแบบเป็นพนักงานรายวันไม่ใช่รายเดือนแล้วจะไม่ต้องขึ้นทะเบียนเข้าระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดเพราะไม่ว่าลูกจ้างจะเป็นพนักงานรายวันหรือรายเดือนก็ตาม หากมีการจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปก็ถือว่าต้องขึ้นทะเบียนเป็นนายจ้างและลูกจ้างก็ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนด้วยเช่นกัน ยกเว้นกิจการที่เป็นข้อยกเว้นเท่านั้น
แม้แต่นายจ้างที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลเป็นเจ้าของคนเดียว หากเข้าเงื่อนไขว่ามีการจ้างลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป และไม่ได้เป็นกิจการที่เป็นข้อยกเว้นก็ต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมายประกันสังคมด้วยเช่นกัน
สำหรับโทษที่กำหนดไว้หากนายจ้างที่เข้าข่ายต้องขึ้นทะเบียนเป็นนายจ้างและลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนตามประกันสังคมแต่ไม่ได้ทำ หรือมีการจ้างลูกจ้างเข้าทำงานแต่ไม่ได้แจ้งประกันสังคมภายใน 30 วัน มีบทลงโทษที่กำหนดไว้ คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
มีคำถามว่าการจ้างลูกจ้างทำงานบ้านเข้าข่ายต้องทำประกันสังคมด้วยไหมนั้น ตามกฎหมายประกันสังคมได้กำหนดขอบเขตของการบังคับใช้กฎหมายไว้ชัดเจนเลยว่า นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมนั้น คำว่า ลูกจ้าง ในที่นี้ให้หมายถึง ผู้ที่ทำงานให้นายจ้างโดยได้รับจ้างค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่อลูกจ้างว่าอย่างไรก็ตาม แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับงานบ้านที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจรวมอยู่ด้วย ชัดเจนว่าการจ้างลูกจ้างทำงานในบ้านนายจ้างไม่ต้องขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม