ขึ้นชื่อว่าพนักงานกินเงินเดือนประจำแล้ว ความคาดหวังของการทำงานที่เป็นรูปเป็นร่างจับต้องได้คงหนีไม่พ้น การประเมินรายปี ซึ่งมีผลต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของเราโดยตรง รวมถึงโบนัสและเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนด้วย การจะคาดหวังให้โบนัสเยอะตามเกรดประเมิน หรือเงินเดือนขึ้นมากมายนั้นอาจเทียบไม่ได้กับโอกาสความก้าวหน้าใน การทำงาน ซึ่งหลาย ๆ เรื่อง KPI อาจไม่ดีพอวัดได้ในเชิงคุณภาพ แต่เป็นความต่อเนื่องของหลาย ๆ ปัจจัยทำให้หัวหน้างานโดยตรง รู้ได้ถึงความสามารถของเราและอยากช่วยส่งเสริม KPI นั้น สำคัญและต้องทำให้ถึงเป้าก่อน ส่วนปัจจัยนอกเหนือ จากนั้น ก็มีความจำเป็นต้องแสดงให้หัวหน้างานเห็นและมีความมั่นใจในตัวเราด้วย เราจึงจะได้โอกาสนั้น ๆ มาเมื่อเวลาที่สมควร
ความก้าวหน้าของมนุษย์เงินเดือนนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น KPI ซึ่งควรจะต้องเข้าเป้าก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเป็นตัวเลขวัดความสามารถเชิงคุณภาพเดียว ที่ทำให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องในการประเมินที่อาจไม่รู้จักเราเป็นการส่วนตัว ได้รู้ถึงความสามารถของเราได้ หากตัวเลข KPI ไม่ดี แต่หัวหน้าผลักดันก็ไม่อาจสำเร็จได้โดยง่าย เพราะบริษัทอาจคิดไปได้ว่าหัวหน้างานโดยตรงของเรามีอคติ (bias) หรือความลำเอียงส่วนตัว ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เวลาเรารู้สึกนิยมชมชอบใครสักคน ในหลาย ๆ บริษัทหรือหัวหน้างานหลายคนเปิดโอกาสให้เราเข้าช่วยในการทำ KPI ด้วย และเป็นหน้าที่ของหัวหน้างานโดยตรงต้องทำการชี้แจง KPI ให้พนักงานรายบุคคลให้ทราบและเข้าใจด้วยตัวเอง เพื่อได้ให้พนักงานทราบเป้าประสงค์ของบริษัทว่าต้องการให้เราทำงานอะไรและอย่างไร เราในฐานะพนักงานก็ต้องทำความเข้าใจ KPI ทุก ๆ ข้อ รวมถึงประเมินความเป็นไปได้ และปรึกษากับหัวหน้างานเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลง บางหน่วยงาน เช่น ฝ่ายขาย อาจต้องปรับปรุง KPI กันเดือนต่อเดือน เนื่องจากตัวเลขการขาย มักเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ การไม่ปรับตัวเลข KPI เลยอาจเป็นการไม่ยุติธรรมกับพนักงานนัก
เห็นได้ว่า KPI นั้นมีความสำคัญในระดับหนึ่ง ยิ่งถ้าเป็นลักษณะองค์กรที่เป็นตะวันตกมาก ๆ ยิ่งสำคัญแทบจะเรียกว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม ซึ่งค่อนข้างมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกับบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทคนไทย ที่มักมอง KPI สำคัญอยู่ในระดับ 70-80% ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า KPI ยังมีความสำคัญในระดับสูงมากอยู่ดี ส่วนที่เหลือคือเรื่อง Seniority และความสัมพันธ์ส่วนตัวเชิงลึก เรื่อง Seniority หรืออาวุโสยังมีบทบาทสำคัญอยู่บ้างในบางบริษัทที่ค่อนข้างบริหารงานแบบโบราณ เกือบจะไม่เหลือความสำคัญในบริษัทใหม่ ๆ เท่าใดนัก แต่การเป็นคนเอเชีย ย่อมให้ความสำคัญกับคำว่าอาวุโสเป็นทุนเดิม จึงทำให้เรื่องอาวุโสเป็นปัจจัยในการพิจารณาในหลาย ๆ เรื่องเช่นกัน
เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้อื่น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจและไม่มีกฎตายตัวว่าต้องทำอย่างไร เท่าไหร่ และแค่ไหน แต่ทุกอย่างขึ้นกับความเหมาะสม เป็นศิลปะและเป็นความสามารถส่วนบุคคลที่หลาย ๆ อย่างไม่สามารถกำหนดคอร์สสอนกันได้ เพราะเป็นเรื่องของความเข้าใจคนของตัวเรา และความเข้าใจเราของคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในสังคมไทย หรือจะเรียกว่าสังคมของคนเอเชียเกือบทั้งหมดจะมีลักษณะคล้ายกัน เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า High Context ซึ่งไม่มีคำบัญญัติไทยตรงตัว แต่สามารถอธิบายได้ว่า สังคมคนไทยและสังคมคนเอเชียนั้น มีความเป็นส่วนตัว ไม่เปิดใจง่าย ๆ ต้องรู้จักกันดีพอในระดับหนึ่งจึงจะเปิดใจ ต้องเข้าใจกันลึกพอจึงจะเริ่มเข้าหากัน และพูดคุยทำงานกันได้อย่างสนิทใจ ซึ่งต่างกับสังคมตะวันตก ที่เรียกว่า Low Context คือ ค่อนข้างยึดความเป็นเหตุเป็นผล การควบคุมได้ ถ้าใครมีหน้าที่ต้อง ทำอะไร ก็ต้องทำตามนั้น อาจไม่มีความยืดหยุ่น
สังคมทั้งสองแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกัน บริษัทที่เป็นลักษณะ Global ต้องเรียนรู้และเผชิญเรื่องความ High และ Low Context ของผู้ร่วมงาน และจัดการ Diversity หรือความหลากหลายของผู้ร่วมงานทุก ๆ คนให้ทำงานร่วมกันได้ การไม่สามารถปรับตัวได้ของบริษัทที่มี Diversity สูง ก็จะไม่สามารถทำงานบริษัทนั้น ๆ ได้เลย
เมื่อทราบถึงธรรมชาติขององค์กรแล้วว่าเป็นลักษณะ High หรือ Low Context แล้ว ให้พิจารณาลึกไปอีกขั้น เช่น ถ้าเป็นบริษัทฝรั่ง ที่มีนายใหญ่เป็นฝรั่ง แต่นายรอง ๆ ลงมารวมถึงหัวหน้างานของเราเป็นคนไทย เราก็ควรทำงานแบบฝรั่ง คือยึดและต่อสู้เพื่อ KPI เป็นหลัก แต่ก็ควรฉลาดพอเข้าหาเจ้านายอย่างถูกต้อง ไม่ต้องถึงกับเลียเจ้านาย เพราะเจ้านายเรา ที่ทำงานใหญ่โตขึ้นได้ในบริษัทฝรั่ง ย่อมมีความเป็นฝรั่งอยู่ในตัวอยู่แล้ว การแสดงความสามารถให้เจ้านายเห็น และ แสดงทัศนคติที่ดีในเชิงสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหา ก็ได้ใจเจ้านายไปแล้วเกินครึ่ง แบบนี้สิคือ ทํางานให้เจ้านายรัก
แต่หากเป็นองค์กรที่มีเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นหรือไทย ความสำคัญของ KPI ก็ให้ยึดไว้ แต่ก็ควรแสดงความสามารถด้านมนุษยสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน รวมถึงเจ้านายด้วย เพราะการเป็นเจ้านายบริษัทเอเชีย จะค่อนข้างมีความเห็นใจลึกซึ้งมากกว่าบริษัทฝรั่งอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งถ้าเป็นบริษัทเล็ก ๆ ก็จะเห็นได้ชัดมาก ทั้งนี้ ถ้าเราในฐานะพนักงานสามารถเข้าถึง และสนิทสนมหรือที่เรียกว่ามี Interpersonal Skill ที่ดีแล้ว การประเมินของเราอาจได้เปรียบและได้รับการส่งเสริมเมื่อมีโอกาสเสมอ
องค์กรสัญชาติหนึ่งที่ไม่อาจละเลยไปได้ เพราะเข้ามามีบทบาทความสำคัญในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือบริษัทจากเกาหลี ขึ้นชื่อว่าทำงานหนักและกดดันสูง แต่ก็เป็นองค์กรที่กินเที่ยวกันหนักด้วย ถ้าเป็นผู้ชายก็ต้องคอแข็งระดับทองแดง ถ้าเป็นผู้หญิงก็ต้องกินให้เป็นและอยู่ให้รอด ไม่อย่างนั้นอาจแพ้ผู้ชาย การทำงานที่หนักในสภาวะที่กดดันสูงจากหัวหน้างานในองค์กรเกาหลีได้นั้น สามารถนำมาซึ่งความสำเร็จในหน้าที่การงาน โดยที่อาจไม่ต้องสนใจ KPI เพราะวัฒนธรรมองค์กรได้สั่งสมมาเป็นเช่นนั้นเอง ใครทำงานได้ ไม่ได้หัวหน้างานรู้อยู่แล้ว ไม่ต้องพึ่งตัวเลขให้เสียเวลา
เห็นได้ว่าองค์กรแต่ละสัญชาติมีลักษณะไม่เหมือนกัน แต่สิ่งสำคัญทำให้พนักงานคนหนึ่งจะก้าวหน้าได้หรือ ไม่ได้ ก็คือการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนั้น ๆ ได้มีคุณภาพมากน้อยเพียงใด ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนรอบข้างเป็นอย่างไร ความใส่ใจในการทำงานมักสะท้อนมาอยู่แล้วในคุณภาพของงานที่ต้องรับผิดชอบ หากทำได้อย่างนี้แล้ว เรื่องความก้าวหน้าของงานย่อมพุ่งมาที่เราแน่นอนเมื่อโอกาสมาถึง