จะสิ้นปีกันแล้ว… สำรวจพอร์ตการลงทุนกันบ้างหรือเปล่า … ว่าผลการดำเนินงานเป็นอย่างไรกันบ้าง… มีจำนวนพอที่จะไปลดหย่อนภาษีกันหรือเปล่า… หรือว่า ลงทุนเท่าไรก็ไม่ได้เงิน … เงินหายหมด... เรามาดูข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในกองทุนรวม เพื่อที่ปีหน้าฟ้าใหม่เราจะได้วางแผนกันแต่เนิ่นๆ ดีกว่า
ไม่วางแผนการลงทุน
เหมือนกับเป็นคนมั่นใจเกินไป เช่น คิดว่าตลาดหุ้นไทยต้องขึ้นตลอด ก็เลยซื้อแต่กองทุนที่ลงทุนหุ้นเพียงอย่างเดียว โดยไม่เคยดูเลยว่าทรัพย์สินในพอร์ตของเรามีอะไรอยู่บ้าง เป็นกองทุนที่ลงทุนในอุตสาหกรรมอะไรบ้าง แล้วจะมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นทางที่ดีสิ่งที่เราต้องทำก่อนเริ่มลงทุน คือ การวางแผนพอร์ตการลงทุนของเราว่าจะแบ่งเงินลงทุนเป็นเท่าไร จัดสรรไปลงทุนในกองทุนประเภทต่างๆ เท่าไร เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุนออกไป
อ่านเพิ่มเติม >> check list 3 ข้อ เชคให้ครบ ก่อนลงทุน <<
ไม่ติดตามและวัดการลงทุน
ก็คือ เมื่อลงทุนไปแล้วไม่เคยมาดูพอร์ตการลงทุนของตัวเองเลยว่า ผลการดำเนินงานของกองทุนเป็นยังไงบ้าง เป็นบวกหรือเป็นลบ ได้ผลตอบแทนตามที่เราตั้งเป้าหมายหรือเปล่า ได้เงินปันผลตามที่กองทุนบอกไว้ในหนังสือชี้ชวนหรือเปล่า เพราะฉะนั้นเราก็ควรที่จะติดตามพอร์ตเราอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้ข้อมูลต่างๆ ที่ บลจ. ต้องเปิดเผยไว้อยู่แล้วในเว็บไซต์ หรือจากข้อมูลที่ บลจ.ส่งให้เราตามเงื่อนไขของกองทุน เช่น ส่งรายงานผลการดำเนินงานทุกไตรมาส หรือ 6 เดือน หรือ 1 ปี ก็ได้
ไม่ปรับพอร์ตการลงทุน
ข้อนี้ก็เหมือนกับเป็นคนมั่นใจในตัวเองเกินไป โดยคิดว่าตัวเองมาถูกทาง ซื้อของดีมาอยู่ในมือแล้ว ยังไงเสียก็ไม่มีวันขาดทุน ซึ่งเป็นอันตรายต่อการลงทุนเหมือนกัน ทางที่ดีเราเมื่อเราพบว่ากองทุนที่เราซื้อมานั้นมีผลขาดทุน มีผลการดำเนินงานที่เป็นลบแล้ว ส่งผลให้พอร์ตการลงทุนของเราเริ่มมีผลตอบแทนลดลง ดังนั้นเราก็ควรที่เริ่มมองหากองทุนกองใหม่ที่น่าจะเพิ่มผลตอบแทนของเราให้เป็นบวกและเป็นไปตามเป้าหมายที่เราวางไว้ได้
ไม่กำหนดจุดตัดขาดทุน
ข้อนี้น่าจะเหมาะกับกองทุนหุ้นซะเป็นส่วนใหญ่ เพราะผลการดำเนินงานขึ้นอยู่กับ SET Index หลักการก็จะเหมือนๆ กับเวลาเราลงทุนในหุ้น นั่นก็คือ ถ้าเมื่อไรก็ตามที่มีเหตุการณ์ที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นมีแนวโน้มตกลง เราก็จะต้องคอยดูว่ากองทุนที่เราถืออยู่มีผลขาดทุนตาม SET Index หรือเปล่า และเมื่อถึงจุดขาดทุนที่เราตั้งไว้ เราก็ตัดใจขายทันที อย่าเสียดายหรือคิดว่ามันจะต้องกลับมา….
เสี่ยงน้อยเกินไป
ก็คือ มีเงินเท่าไรก็นำไปลงทุนแต่กองทุนตราสารหนี้หรือกองทุนตลาดเงิน ซึ่งเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งอาจจะช่วยให้เราได้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ย แต่อาจจะไม่เพียงพอกับอัตราเงินเฟ้อหรือค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้นทางที่ดีเราควรจะแบ่งเงินบางส่วนไปลงทุนในกองทุนหุ้นดูบ้าง เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนที่มากขึ้น
ลงทุนเฉพาะในประเทศ
ซึ่งก็จะคล้ายๆ กับคนที่ไม่กล้าลงทุนในทางเลือกอื่นๆ ทำให้เมื่อมีภาวะที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลง ก็จะมีผลกระทบต่อกองทุนหุ้นที่เราซื้อไปด้วย ดังนั้นเพื่อเพิ่มโอกาสให้ตัวเองมีผลตอบแทนมากขึ้น เราก็น่าที่จะศึกษากองทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศดูบ้าง เพราะบางครั้งก็มีบางกองทุนไปลงทุนในตลาดที่เกิดใหม่ (emerging market) เช่น บราซิล ชิลี ก็ให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจเลยทีเดียว
ลงทุนใน Trigger Fund ผิดจังหวะ
ก็เหมือนกับที่เราลงทุนซื้อของผิดจังหวะ หรือลงทุนตามคนอื่น โดยไม่ดูภาวะการณ์ของตลาดกันเลย เพราะฉะนั้นการจะลงทุนใน Trigger Fund ให้ได้กำไร ก็ต้องซื้อในจังหวะที่ตลาดตกลงมาแรงๆ และก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าหากตลาดหุ้นไม่ขึ้นอย่างที่คาดการณ์ก็ต้องทำการ Cut Loss ทันที
ซื้อกองทุนตอนออกใหม่เป็นประจำ
แบบนี้จะเป็นเหมือนพวกเห่อของใหม่ เห็นกองทุนหุ้นหรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ออกมาใหม่ ก็รีบจองซื้อโดยไม่ดูสภาวะตลาด พอได้มาอยู่ในมือแล้วมูลค่าของกองทุนกลับลดลงอย่างน่าใจหาย ดังนั้นก่อนที่จะซื้อกองทุนอะไรก็ควรศึกษาให้เข้าใจ ดูผลตอบแทนที่จะได้รับ เพราะบางครั้งราคาอาจจะถูกกว่าตอนเสนอขายครั้งแรกก็เป็นได้
มาซื้อกองทุน LTF/RMF ตอนปลายปี
สำหรับข้อนี้นี่เป็นเรื่องที่หลายคนจะเน้นย้ำมาตลอด เพราะการซื้อ LTF/RMF ครั้งเดียวปลายปีนั้น จะทำให้เราต้องซื้อของแพงโดยใช่เหตุ ทางที่ดีควรจะทยอยซื้อ คือ ควรจะซื้อทุกเดือนด้วยจำนวนเงินที่เท่ากัน เพื่อกระจายต้นทุนในการซื้อกองทุน
ขาดความรู้ ความเข้าใจในการลงทุน
เป็นข้อที่ร้ายแรงอยู่เหมือนกัน เพราะเราไม่ศึกษาเรื่องการลงทุนในการกองทุนให้ดีก่อน เป็นการซื้อเพราะตัดความรำคาญ หรือซื้อเพราะเกรงใจกัน ทำให้เราต้องมานั่งเสียใจทีหลัง เพราะฉะนั้นก่อนลงทุนทุกครั้งต้องศึกษากองทุนที่เราจะซื้อให้เข้าใจก่อนซื้อทุกครั้ง
อ่านเพิ่มเติม >> อยากลงทุนในกองทุนรวม แต่เริ่ม ซื้อกองทุนตอนไหนดี ? <<
จากข้อผิดพลาดทั้งหมดที่กล่าวมา น่าจะเป็นแนวทางให้หลายๆ คนได้ทบทวนพอร์ตการลงทุนของตัวและมีการวางแผนแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะได้ให้เงินทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้ผลตอบแทนอย่างที่เราต้องการ