หลายคนที่มีปัญหาเรื่องการเงิน อันดับแรกที่คงจะนึกถึงก็คงจะเป็นการหากู้ยืมเงิน ไม่ว่าจะเป็นแบบในระบบ อย่างสถาบันการเงิน หรือธนาคารต่างๆ หรือกู้หนี้นอกระบบ ซึ่งเชื่อได้ว่า ณ เวลานั้น ผู้ที่ต้องการใช้เงินคงจะไม่ทันได้คิดถึงเรื่องดอกเบี้ยมหาโหดที่อาจจะตามมาด้วยซ้ำ คงคิดแต่เพียงว่า เวลาแย่ๆ แบบนี้เงินจากที่ไหนก็ได้ที่จะสามารถต่อยอดชีวิตให้มีโอกาสหายใจคล่องขึ้นมาก่อนที่จะหมดลมหายไปซะ ส่วนเรื่องอื่นคงค่อยๆ คิดหาทางแก้ไข หากคุณทำการกู้เงินในแบบที่คิดว่า ตัวเองสามารถนำมาจ่ายคืนได้แบบไม่ติดขัด ก็อาจจะไม่ส่งผลเสียมากนัก แต่หากใครใช้เงินกู้ผิดประเภท หรือกู้เงินไปใช้ในทางที่ผิด แน่นอนว่าจะต้องมีผลเสียตามมาแบบที่คุณอาจคาดไม่ถึงก็ได้
ระวังการใช้เงินกู้ผิดประเภท !
หลายคนที่ทำธุรกิจส่วนใหญ่มักจะคุ้นเคยกับคำว่าวงเงินกู้ (Loan) เป็นอย่างดี โดยการที่จะทำการกู้เงินจากธนาคารได้นั้นกิจการจะต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และยังต้องระบุ วงเงินที่ต้องการใช้ รวมถึงระยะเวลาจ่ายชำระคืน และที่สำคัญคือจะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเมื่อทำเรื่องขอวงเงินกู้กับธนาคาร อย่าง ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร หากนำเงินที่กู้ไปใช้ได้กับธุรกิจ และสามารถจัดการวางแผนเงินให้หมุนเวียน กลับมาเพื่อใช้หนี้ให้เร็วได้ ก็อาจจะทำให้คุณไม่เดือดร้อน แต่สำหรับบางคนที่นำเงินกู้ไปใช้ผิดประเภท มาดูกันว่าจะเกิดผลร้ายอย่างไร แล้วจะสามารถป้องกัน แก้ไขได้หรือไม่ ??
ซึ่งหลายคนที่ยังใช้เงินกู้ผิดวัตถุประสงค์ ระวังจะจนและอาจทำให้ธุรกิจเสียหาย ซึ่งการใช้เงินกู้ผิดวัตถุประสงค์หรือผิดประเภท อาจทำให้สูญเสียธุรกิจจนทำให้หมดตัว และยังอาจถูกบันทึกประวัติการชำระเงินที่ไม่ดี ส่งผลทำให้ไม่ได้วงเงินกู้ในครั้งต่อไป อย่างการนำเงินกู้ระยะสั้นไปทำการลงทุนในธุรกิจที่ต้องรอผลตอบแทนในระยะยาว หรือเป็นการนำเงินที่ได้จากเงินกู้ระยะยาว แบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัวไปทำหรือต่อยอดธุรกิจที่คาดว่าจะได้ผลตอบแทนคงที่
1.การนำเงินกู้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
การใช้เงินกู้ผิดวัตถุประสงค์ อย่างเงินกู้ที่ธนาคารให้มาเพื่อใช้สำหรับวัตถุประสงค์หนึ่ง อย่างการนำไปใช้ซื้อเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ ที่ใช้ในการดำเนินงาน แต่คุณกลับนำเงินกู้ที่ได้มาไปใช้ในอีกวัตถุประสงค์หนึ่ง หรือการนำไปซื้อรถประจำตำแหน่ง การจ่ายเป็นโบนัสให้กับผู้บริหาร ฯลฯ การใช้เงินผิดวัตถุประสงค์แบบนี้มักมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ และส่วนใหญ่พบในกิจการที่ไม่ได้มีการควบคุมภายในที่ดีพอ แทนที่จะนำเงินกู้ซึ่งมีต้นทุนสูง เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนในสินทรัพย์ของคุณ เพื่อที่จะก่อให้เกิดรายได้ (Performing Assets) แต่กลับนำไปใช้ลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่มีประโยชน์ หรือไม่สำคัญมากนัก (Non Performing Assets) ทำให้นอกจากจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับกิจการแล้ว ยังอาจส่งผลทำให้กิจการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ได้อีกด้วย
2.การนำเงินกู้ไปใช้โดยไม่ได้คำนึงถึงอายุของสินทรัพย์
การนำเงินกู้ไปใช้โดยไม่ได้คำนึงถึงอายุของสินทรัพย์ และ อายุของเงินกู้ ซึ่งคุณจะต้องทำความเข้าใจว่าเงินกู้ แบ่งเป็นประเภทระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี) ส่วนเงินกู้แบบระยะกลาง ( 1-5 ปี) และการกู้แบบระยะยาว ( 5 ปีขึ้นไป) ซึ่งรูปแบบการให้เงินกู้นั้นมีทั้งแบบ วงเงินกู้ธรรมดามีกำหนดชำระคืน หรือเป็นวงเงินกู้หมุนเวียน แต่สำหรับวงเงินกู้ระยะสั้นมีอีกรูปแบบที่คุณรู้จักกันดีคือ วงกู้เบิกเงินเกินบัญชี (OD) ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นกว่าวงเงินกู้ธรรมดาตรงวิธีการคิดดอกเบี้ย หากกิจการของคุณยังใช้เงินกู้ผิดประเภท ให้จัดการและรีบเจรจากับธนาคารเพื่อขอทำการปรับโครงสร้างเงินกู้ใหม่ให้เหมาะสมกับความต้องการสำหรับลงทุนในสินทรัพย์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งหากทำเช่นนี้จะเป็นการช่วยลดต้นทุน และลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้อีกด้วย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หากปกติที่เป็นการเงินกู้ระยะสั้น ก็ควรนำไปลงทุนระยะสั้นเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน อย่างค่าวัตถุดิบ หรือ ค่าแรง ซึ่งเมื่อจ่าย ก็จะสามารถสร้างรายได้กลับคืนมาในระยะสั้น ส่วนเงินกู้ระยะยาวให้นำไปใช้กับสินทรัพย์ประเภทเครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นปัจจัยการผลิตและการสร้างรายได้ในระยะยาว
ภายหลังการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ทำให้ต้นทุนกู้เงินสำหรับธุรกิจอาจจะถูกลง และจะเป็นตัวผลักดันทำให้ตลาดมีความต้องการที่จะใช้สินเชื่อธุรกิจเพิ่มขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่ธนาคารพาณิชย์น่าจะต้องพิจารณาการปล่อยสินเชื่อสำหรับธุรกิจต่างๆ ให้มีการรัดกุมมากขึ้น เพื่อป้องกันการนำสินเชื่อไปใช้ผิดประเภท หรือกู้ไปใช้นอกเหนือจากธุรกิจหลักของตนเอง การลดดอกเบี้ยลง อาจทำให้บางธุรกิจอาจจะสนใจลงทุนเพิ่มเติม ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการพัฒนาหรือเพิ่มประสิทธิ ภาพธุรกิจ หรือเพื่อขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งแบงก์เองก็พร้อมจะสนับสนุนสินเชื่อ เพียงแต่ห่วงเรื่องนำเงินกู้ไปใช้ผิดประเภท ซึ่งธนาคารค่อนข้างเป็นห่วง จึงต้องกำหนดประเภทของสินเชื่อและวงเงินให้เหมาะสมกับขนาดธุรกิจ