ในสมัยก่อนนั้นการประสบความสำเร็จในชีวิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าที่การงานหรือชีวิตครอบครัว มักไม่เกิดกับวัยหนุ่มสาว เพราะส่วนใหญ่คนประสบความสำเร็จได้มักต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมีประสบการณ์ล้มลุกคลุกคลาน ผ่านมาแล้วทั้งดีและร้าย ประสบการณ์เหล่านั้นจะหล่อหลอมให้คน ๆ หนึ่งประสบความสำเร็จได้ในที่สุด ตัวอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จระดับโลกเมื่ออายุเยอะ ๆ ได้แก่
- ผู้พันแซนเดอร์ผู้ทอดไก่สูตรเฉพาะที่ใครกินก็ต้องบอกว่าอร่อย Kentucky Fried Chicken : KFC นั่นเอง เขาเป็นผู้ที่อเมริกันเรียกว่าเป็น Loserอย่างแท้จริง เพราะไม่ว่าเขาจะทำอะไรก็ล้มเหลวไปเสียทั้งหมดทั้งชีวิต แต่เมื่ออายุเข้า 70 ปี เขาก็สามารถประสบความสำเร็จได้จากสิ่งที่เขาชอบและรักนั่นก็คือการทำอาหาร ซึ่งก็คือไก่ทอดนั่นเอง
- ส่วนตัวอย่างคนไทยที่เป็นที่รู้จักกันดีว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงหลังจากที่ผ่านความล้มเหลวมานับไม่ถ้วนคือเจ้าของชาเขียวที่เมื่อมีแคมเปญ Marketingแต่ละครั้งก็เป็นที่กล่าวขานกันทั้งเมือง นั่นก็คือคุณตัน ภาสกรนที กว่าจะมีทุกวันนี้ได้นั้น ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว
จากสองตัวอย่างข้างต้นเป็นตัวอย่างของผู้ประสบความสำเร็จเมื่ออายุเลยวัยกลางคนไปแล้ว และทั้งคู่ต่างเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่บนพื้นฐานของการขายที่เรียกว่า Classic Marketing คือเป็นของที่จับต้องได้ ต้องบริโภค ต้องใช้ มีการสร้าง Demand มีการใช้หลัก Marketing ทำ Promotion ที่จูงใจและต่อเนื่อง แต่มีธุรกิจอีกประเภทหนึ่งที่หมุนโลกของธุรกิจให้เร็วกว่าเดิมแบบก้าวกระโดดนั่นก็คือธุรกิจประเภท Start up ที่สามารถดึงฐานอายุเฉลี่ยของมหาเศรษฐีโลกให้น้อยลงอย่างมีนัยยะ และดูเหมือนจะเป็นเทรนด์ของผู้ ประสบความสำเร็จในชีวิต ตั้งแต่อายุยังน้อยเลยทีเดียว
ธุรกิจประเภท Start up คือธุรกิจที่เกิดใหม่ ส่วนใหญ่แล้วจะมีนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเป็นแกนธุรกิจก่อนเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ โดยมีการสร้างรายได้จากการทำซ้ำต้นฉบับที่มีต้นทุน (ในการทำซ้ำ) ต่ำมาก ๆ นั่นเอง ตัวอย่างที่เห็นและเป็นที่รู้จักกันดี คือ Facebook หรือ Google เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า Model ธุรกิจประเภท Start up นั้นสามารถทำซ้ำและขยายได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ที่สำคัญตลาดมีขนาดเป็น Global คือ ทั่วโลก จึงไม่แปลกที่ธุรกิจสาย Start up มักเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ Application หรือ Website ที่แก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ หรือแม้กระทั่งเกมก็ถือเป็นธุรกิจ Start up ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น Angry Bird ที่ยอดดาวน์โหลดหลักร้อยล้านครั้ง และสามารถต่อยอดธุรกิจไปได้เป็นอาณาจักร หรือ Application Line ที่เข้าจดทะเบียนในแนสแดกเมื่อปี 2015 ด้วยมูลค่าที่มากกว่าบริษัท ปตท.เสียด้วยซ้ำไป
ตัวอย่างผู้ที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักกันดีกับธุรกิจ Start up ได้แก่
Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Facebook เกิดจากการสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ในมหาวิทยาลัยในขณะที่มาร์คยังเป็นนักศึกษาอยู่ Harvard ด้วยการที่ Facebook มีคุณลักษณะที่แตกต่างจากโปรแกรมสังคมออนไลน์ที่ผ่านมา จึงทำให้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเมื่อมาร์คเห็นโอกาส เขาจึงออกจากมหาวิทยาลัยและตั้งบริษัททำเงินกับ Facebook และเป็นมหาเศรษฐีที่อายุน้อยที่สุดในโลกภายในระยะเวลาไม่ถึงสิบปี ข้อคิดที่ได้จากมาร์คคือเขามองเห็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ทุกคนมองข้าม นั่นคือระบบ Social Network ที่เป็นเครือข่ายจริง ๆ ซึ่งในขณะนั้น ลักษณะของ Social Network มักใช้เพื่อการแชทเป็นคู่ ๆ หนึ่งต่อหนึ่ง หรือเป็นกลุ่มสนทนาออนไลน์กลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น เมื่อมาร์คมองเห็นโอกาส เขาก็ไม่ละเลยทิ้งมันไปเป็นเหมือนแค่ความคิดชั่วแล่นที่หลายคนอาจได้แต่คิด แต่กลับทำให้มันเป็นจริง และมาร์คก็ได้ทำให้มันเป็นจริงได้ เพราะเขามีความเป็นอัจฉริยะด้านคอมพิวเตอร์ด้วยนั่นเอง
อีกตัวอย่างหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน คือ Blood Test Company ที่มีชื่อว่า Theranos เป็นบริษัทที่สร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจของเด็กสาวที่ชื่อ Elizabeth Holmes ตอนเธออายุได้ 9 ขวบ เธอได้เขียนจดหมายถึงพ่อของเธอไว้ว่า “สิ่งที่เธออยากจะทำในชีวิตคือการค้นพบอะไรบางอย่างที่ใหม่ บางอย่างที่มนุษยชาติไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันเป็นไปได้” ด้วยความที่เธอมีความสนใจในวิทยาศาสตร์และการแพทย์เป็นอย่างมาก แต่เธอรู้ตัวดีว่าเธอไม่สามารถเรียนแพทย์ได้เพราะว่าเธอกลัวเข็มและเลือดนั่นเอง ในที่สุดเธอจึงตัดสินใจเรียนที่ Stanford และจบปริญญามาในสาขาวิศวกรรมเคมี ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของเธอรวมกับสิ่งที่เธอกลัวคือเข็มและเลือด เธอได้สร้างนวัตกรรมที่ไม่มีใครทำได้ในโลกจริง ๆ ให้เกิดขึ้น นั่นก็คือการตรวจเลือดโดยการใช้เลือดเพียง 2-3 หยด ที่สามารถเอาออกจากปลายนิ้วผู้รับการตรวจโดยไม่รู้สึกเจ็บนั่นเอง ในขณะที่ปัจจุบันการตรวจเลือดจะต้องเจาะเลือดจากผู้ทดสอบปริมาณมากกว่า 10 cc หรือปริมาณเท่ากับหลอดแก้ว เพื่อนำเลือดที่ได้ไปแบ่งทดสอบผลเลือด แต่ Theranos (เป็นคำร่วมระหว่าง Therapy และ Diagnosis) ใช้เครื่องมือเล็ก ๆ มาจิ้มที่ปลายนิ้ว เอาเลือดไปเพียงไม่กี่หยดก็ได้ผลทดสอบที่เหมือนกันกับวิธีดั้งเดิม
ความสำเร็จของ Elizabeth ด้วยวัยไม่ถึง 30 ปี ในฐานะเจ้าของบริษัทนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่นี้ เป็นที่สนใจไปทั่วโลก ไม่น่าแปลกใจเลยที่ Elizabeth จะประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย นั่นเพราะเธอมีความมุ่งมั่นต้องการ (Passion) ตั้งแต่อายุยังน้อย เธอจึงมุ่งหน้าเก็บเกี่ยวความรู้เพื่อทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำคือเข้าเรียนในสาขาที่เกี่ยวข้องและลงทุน R&D ด้วยเงินของครอบครัวที่เตรียมไว้ให้เธอไปศึกษาต่อ จนประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรม Theranos นั่นเอง