สำหรับบรรดาแฟนพันธุ์แท้แห่งแวดวงแฟชั่นเสื้อผ้าระดับโลกอาจจะคุ้นหูกับแบรนด์ดังหลาย ๆ แบรนด์และรวมไปถึงรู้จักชื่อผู้ออกแบบแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำเหล่านั้นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น Calvin Klein, Jean-Paul Gautier, Tommy Hilfiger และ Dolce & Gabbana แต่มีใครบ้างที่จะรู้จัก Amancio Ortega แห่งแบรนด์เสื้อผ้าสุดฮิตอย่าง ZARA เขาคนนี้คือเจ้าของและผู้บุกเบิกบริษัท Inditex ที่ดูแลเสื้อผ้าในเครือหลายอย่างเช่น Massimo Dutti, Pull & Bear และ ZARA ค่ะ
รู้จักเขามากขึ้น : Amancio Ortega ผู้สร้างนิยามใหม่แห่ง แบรนด์เสื้อผ้า ZARA
แต่สิ่งที่ทำให้คนหันมาสนใจเรื่องราวของเขากันมากขึ้นก็เพราะตอนนี้เขาเพิ่งได้รับตำแหน่งมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยเป็นอันดับสองแห่งวงการแฟชั่น รองจากเบอร์หนึ่งอย่าง Bernard Arnault เจ้าของแบรนด์หรูอมตะอย่าง Louis Vuitton และ Ortega ยังติดอันดับมหาเศรษฐีระดับโลกที่จัดโดยนิตยสารชั้นนำอย่าง Forbes ด้วยมูลค่าทรัพย์สินที่มากกว่า 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภาพลักษณ์ของ Ortega นั้นออกจะเป็นคนที่มีนิสัยเก็บตัว จึงไม่ค่อยชอบออกสื่อ ให้สัมภาษณ์ หรือขึ้นปกนิตยสารอะไรมากมายเหมือนเจ้าของแบรนด์คนอื่น ๆ ซึ่งจะว่าไปแบรนด์ ZARA ก็สื่อถึงตัวตนของเขาออกมาได้อย่างชัดเจนเลยทีเดียว
ความที่เป็นแบรนด์เสื้อผ้าน้องใหม่จากประเทศสเปน แล้วต้องลงมาฟาดฟันกับแบรนด์ในระดับเดียวกัน ซึ่งในขณะนั้นมีทั้ง H&M และ Gap ที่ครองส่วนแบ่งอยู่ ถ้าไม่มีของดีจริงอาจจะไปไม่รอด กลเม็ดที่ Ortega วางไว้ก็คือ การช่วงชิงลูกค้าด้วยความฉับไว และเสนอสินค้าทางเลือกด้วยราคาที่ไม่แพงจนเกินไป เพราะ Ortega เชื่อว่า ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะมีรายได้มากหรือน้อยเพียงใด ย่อมต้องการเลือกใส่เสื้อผ้าที่ทำให้ตัวเองดูดีด้วยกันทั้งนั้น แล้วทำไมเสื้อผ้าที่ตัดเย็บดี ๆ แบบสวย ๆ จะต้องมีราคาแพงเว่อร์ด้วย เขาจึงตัดสินใจเจาะกลุ่มลูกค้านี้ โดยลดต้นทุนการผลิตด้วยการเลือกที่จะตัดเย็บเสื้อผ้าในโรงงานของตนเอง ควบคู่ไปกับการวางทำเลที่ตั้งโรงงานของ ZARA ในประเทศสเปน โดยไม่คิดจะย้ายฐานการผลิตไปสู่ต่างประเทศเพื่อให้ได้ค่าแรงต่ำ แต่อยู่ห่างไกล ทำให้สำนักงานและโรงงานของ Inditex นั้นมีอยู่ที่ Arteixo La Coruna ในเมืองท่าของสเปนเท่านั้น
นอกจากนี้ เขายังคิดต่างมุมในเรื่องของการประชาสัมพันธ์อีกด้วย อย่างที่เราเห็นกันว่าสินค้าแฟชั่นส่วนใหญ่ยิ่งถ้าเป็นเสื้อผ้าด้วยแล้ว ต้องออกสื่อโฆษณา เปิดตัวบนรันเวย์ หรือ ขึ้นปกนิตยสารเพื่อให้ผู้คนรู้จักสินค้าของตน แต่ Ortega นั้นกลับเลือกที่จะขายของแบบเงียบๆใช้กลยุทธ์แบบปากต่อปาก โดยให้ลูกค้าเป็นคนพูดต่อ ๆ กันไปเอง ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านโฆษณาของ ZARA ต่ำมาก เรียกได้ว่าต่ำกว่า 1% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในบริษัท แปลกที่กลวิธีนี้กลับทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักไปทั่ว อีกทั้งยังได้รับความนิยมสูง ว่ากันว่า สำหรับสินค้าแบรนด์หรู ๆ อย่าง Rolex หรือ Gucci มักจะใช้กลยุทธ์ในเรื่องของ Limited Edition มากระตุ้นยอดซื้อของลูกค้า ในตรงกันข้ามแบรนด์สบายกระเป๋าอย่าง ZARA เลือกออกคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าใหม่ ๆ ตลอดเวลา ทำให้ ZARA มีแบบเสื้อผ้าใหม่ ๆ มากกว่า 11,000 แบบ วางจำหน่ายตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องใช้ ไม่ต้องง้อสื่อโฆษณาที่มีค่าใช้จ่ายมหาศาล แต่ใช้เสียงของลูกค้าเป็นกระบอกลำโพงที่ดังกว่า และตรงเข้ากลุ่มเป้าหมายแบบเต็ม ๆ ค่ะ
ข้อได้เปรียบของแบรนด์ ZARA ยังอยู่ที่การออกแบบเสื้อได้ว่องไวราวกับหลุดออกมาจากรันเวย์ของแบรนด์ดัง โดย ZARA จะนำแบบเสื้อหรู ๆ ของ Prada หรือ Christian Dior มาเป็น Inspiration แล้วดัดแปลงนิดหน่อย จากนั้นจึงส่งแบบให้โรงงานผลิตในทันที ในเมื่อฐานยุทธศาสตร์ หรือโรงงานอยู่ใกล้แค่นี้ การนำสินค้าออกวางจำหน่ายจึงใช้เวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็มีคอลเลคชั่นใหม่ ๆ ออกมาให้ลูกค้าเลือกซื้อในราคาเบาๆแล้ว ผิดกับแบรนด์คู่แข่งที่อาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน การผลิตได้เร็ว วางขายได้ไว ก็กวาดรายได้นำไปได้ก่อน
นอกจากความไวที่เหมือนฉกเสื้อมาจากรันเวย์แล้ว กลยุทธ์ที่ Ortega จัดการกับระบบคลังสินค้า และกระตุ้นลูกค้าให้ตามกระแสของ ZARA เสมอ ๆ ก็คือ เทคนิค 48 ชั่วโมงซึ่งเป็นที่รู้กันว่าสินค้าของ ZARA จะเปลี่ยนแบบและอัพเดทกันภายใน 2 – 3 วันเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าลูกค้าถูกใจเสื้อแบบไหนต้องรีบมาซื้อ ไม่อย่างนั้น เผลอปุ๊บหมดปั๊บ ไม่มีขายแล้ว เสื้อผ้าแบบใดที่ไม่ได้รับความนิยม ก็จะถูกถอดทิ้งในไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ กลยุทธ์เรื่องความไวของ ZARA นี้ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย วัดได้จากการที่มีลูกค้าวิ่งเข้าหาร้านเป็นประจำเฉลี่ยคนละประมาณ 17 ครั้งต่อปี ถ้าเปรียบเทียบกับแบรนด์เสื้อผ้าคู่แข่งที่มีลูกค้าแวะเวียนมาเฉลี่ยแค่ปีละ 3 ครั้ง เท่ากับว่า ZARA นั้นชนะขาดลอย ทีเด็ดยังอยู่ที่ ZARA ไม่ต้องเสียเวลาระบายสต๊อกสินค้า หรือปวดหัวกับการจัดการกับสินค้าคงคลังเลยแม้แต่น้อย ความไวเป็นต่อ ชนะทุกแบรนด์จริง