หากคุณ ๆ สนใจจะทำธุรกิจ สิ่งที่คุณไม่ควรมองข้ามนั้นก็คือเรื่องของ Cash Flow หรือ กระแสเงินสด นั่นเองค่ะ เพราะต่อให้ธุรกิจของคุณจะโดนใจตลาด, จับถูกทาง หรือ ขายดิบขายดีมากขนาดไหนก็ตาม ถ้าคุณ ๆ ไม่รู้จักวิธีเก็บเงินเหล่านั้นเอาไว้ให้ดี ๆ หรือ ไม่ได้ศึกษาดูแลการไหลเข้าออกของเงินในแต่ละช่วงระยะเวลาหล่ะก็ คุณอาจจะพลาดล้มไม่เป็นท่าก็ได้นะคะ
เจ้าของกิจการหลาย ๆ ท่านอาจจะเริ่มต้นมาจากงานขาย จึงมักมุ่งไปทางการเพิ่มยอดขายให้ได้มาก ๆ จนบางครั้งอาจละเลยที่จะหันมาดูแลกับเงินที่หาได้จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นเหล่านั้น เพราะเงินที่ปรากฏอยู่ในใบเรียกเก็บเงินนั้น ยังไม่เป็นรายได้ของเรา ตราบเท่าที่ลูกค้ายังไม่ได้จ่ายเงินให้เรานะคะ ถ้าคุณ ๆ ตั้งหน้าตั้งตาขาย แต่ลูกค้าผิดนัดชำระเงินบ่อย ๆ กระแสเงินสดก็ไม่ได้ไหลเข้ามา ในที่สุด คุณ ๆ ก็อาจจะเจอกับปัญหาขาดสภาพคล่อง เพราะเงินสดขาดมือก็ได้ค่ะ
ถ้าคุณไม่ได้อยากดีงามเพียงแค่ยอดตัวเลขเรียกเก็บเงินในใบแจ้งหนี้ของลูกค้าหล่ะก็
คุณต้องสร้างเกราะป้องกันปัญหา Cash Flow หรือ ปัญหาขาดสภาพคล่อง ด้วยกลเม็ดเคล็ดวิชาทั้ง 6 ข้อนี้ค่ะ
เริ่มจาก ข้อแรก “เงินมัดจำมา งานเดิน” นั่นก็คือ ก่อนที่จะเริ่มงานใหม่ ๆ หรือ โครงการใหม่อะไรก็ตาม ต้องไม่ลืมที่จะทำสัญญาข้อตกลงการทำงานกันให้เรียบร้อยซะก่อน และควรให้ลูกค้าทำการวางเงินมัดจำล่วงหน้าก่อนเริ่มงานด้วยค่ะ เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องตกเป็นฝ่ายควักเงินออกไปให้เขาก่อน อย่างเช่น ถ้าลูกค้าสั่งพรีอเดอร์ขนมเค้กมาให้คุณทำให้สำหรับจัดเลี้ยง คุณก็ต้องเรียกค่ามัดจำล่วงหน้าอย่างน้อย 50% ของมูลค่าสินค้าทั้งหมด นั่นก็เพราะว่า ค่าวัตถุดิบต่าง ๆ, ค่าแรง และ ค่าจัดส่ง คุณก็ต้องใช้จ่ายออกไปนะคะ ไม่อย่างนั้น คุณก็ต้องควักเนื้อออกไปก่อน แล้วถ้าเขายกเลิกขึ้นมาคุณจะยิ่งช้ำใจช้ำในนะคะ การให้ลูกค้าวางเงินมัดจำ ก็เท่ากับเป็นการลดความเสี่ยงการยกเลิกงานไปในตัวด้วยค่ะ
ข้อที่ 2 ก็คือ “กำหนดเวลาชำระเงินเมื่องานเรียบร้อย” จำไว้ว่า ไม่มีความจำเป็นใด ๆ เลยที่คุณ ๆ จะต้องขยายเวลาการชำระเงินออกไปเป็นภายใน 30 วัน หรือ ภายใน 60 วัน นับจากได้รับใบแจ้งหนี้ค่ะ เงินสดจะไม่ไหลเข้ามาหาคุณ ถ้าลูกค้ายังไม่ชำระเข้ามา ดังนั้น ยิ่งเรียกเก็บเร็วขึ้นยิ่งดีค่ะ ถ้าลูกค้าต่อรองเรื่องเครดิตขอให้ขยายเวลามากขึ้น คุณให้เป็นส่วนลด 1 % ถ้าลูกค้าชำระภายใน 15 วันหลังจากงานเสร็จสิ้น น่าจะดีกว่านะคะ ลองพิจารณาดูอีกทีค่ะ
ถัดมาที่เคล็ดลับข้อที่ 3 “ต่อรองขอเครดิตอย่างน้อย 30 วันจาก supplier ของคุณ” เป็นธรรมดาค่ะ ใคร ๆ ก็อยากจะให้ธุรกิจของตัวเองมีปริมาณเงินสดอยู่ในบัญชีนาน ๆ ดังนั้น คุณก็ต้องดึงเอาอำนาจการต่อรอง หรือ ยอดการซื้อวัตถุดิบเหล่านั้น มาขอยืดเวลาการชำระเงินออกไปให้ได้นานที่สุดค่ะ เพื่อที่ว่าคุณจะได้มีเวลารอเงินที่ลูกค้าของคุณจ่ายเข้ามา แล้วค่อยนำไปจ่ายให้กับ supplier ต่ออีกทีค่ะ
เคล็ดดี ๆ ข้อที่ 4 ก็คือ “จัดทำระบบการเรียกเก็บเงินให้ดี ๆ” อย่างที่บอกไปตั้งแต่แรกนั่นแหละค่ะว่า การที่ลูกค้าซื้อของและเรามียอดการซื้อเยอะ ๆ มันไม่ได้หมายความว่า เรามีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีนะคะ ธุรกิจจะดำเนินไปได้ด้วยดีก็ต่อเมื่อเราเรียกเก็บเงินจากลูกค้าได้ การที่เราเผลอปล่อยเครดิตให้ลูกค้านาน ๆ ก็เท่ากับว่าเราให้ลูกค้านำเงินสดส่วนของเราไปหมุนใช้จ่ายในธุรกิจของเขาค่ะ ดังนั้น คุณ ๆ เจ้าของกิจการต้องแน่ใจว่าคุณมีระบบเตือนการเรียกเก็บเงินที่ดีและคุณได้มีการติดตามการชำระเงินจากลูกค้าให้ตรงกับกำหนดเวลาเสมอค่ะ ไม่อย่างนั้น กิจการของคุณอาจจะกลืนไม่เข้า คายไม่ออกซะเองนะคะ
ถัดมาที่เคล็ดดี ๆ ข้อที่ 5 “กันเงินกู้ของธนาคารไว้เป็นทุนเผื่อฉุกเฉินเร่งด่วน” ไม่มีใครคาดเดาได้ทุกสถานการณ์หรอกค่ะ วันนี้เครื่องจักรของคุณอาจใช้งานได้ตามปกติ แต่อีก 2 วันมันอาจจะเสียต้องเร่งเปลี่ยนอะไหล่ก็ได้ค่ะ และเพราะเรื่องเร่งด่วนนี้ ถ้าไม่ดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขทันที ก็อาจจะทำให้การผลิตสินค้าหยุดชะงักได้ค่ะ การที่เรากันวงเงินกู้จากธนาคารเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน นอกจากจะทำให้งานเดินต่อได้อย่างราบรื่นแล้ว ดอกเบี้ยเงินกู้อาจจะต่ำกว่าเบี้ยปรับกรณีส่งสินค้าไม่ทันก็ได้นะคะ
มาต่อกันที่เคล็ดดี ๆ ข้อที่ 6 นั่นก็คือ “รู้จักทำแฟคเตอริ่งไว้บ้าง” Factoring หรือ การทำแฟคเตอริ่งนั้นก็คือ การที่คุณได้ทำการเทรด หรือ ขายบัญชีลูกหนี้ที่ค้างชำระให้กับทางบริษัทที่ทำเรื่องแฟคเตอร์ โดยคุณ ๆ จะได้รับเงินมาก่อนกำหนด ไม่ต้องรอให้ครบ 30 วัน หรือ 60 วันตามที่เรียกเก็บไป แต่เพราะคุณได้เงินก้อนมาเร็วกว่ากำหนดก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมไปบ้างค่ะ ดังนั้น ถ้าจะเลือกทำแฟคเตอริ่งก็ต้องวิเคราะห์ให้แน่ใจก่อนว่าการได้เงินหมุนเวียนเร็วขึ้น ณ เวลานั้น คุ้มค่ามากกว่าที่คุณต้องโดนหักค่าธรรมเนียมไปค่ะ ทีนี้ จะนำเคล็ดวิชาข้อไหนไปใช้เพื่อสร้าง กระแสเงินสด ดี ๆ ก็เชิญเลยนะคะ ก็ กระแสเงินสด นั้นสำคัญขนาดนี้ ยังไงก็คงต้องจัดไปสักข้อค่ะ