“Pinterest คือเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่คุณปรารถนาและอยากจะทำในอนาคต”
เป็นคำตอบของซีอีโอแห่งดาราหน้าใหม่ของสื่อโซเชียลมีเดีย Pinterest ที่กำลังร้อนแรงมากในขณะนี้ ทำไม Pinterest ถึงเป็นที่ต้องตาและจุดสนใจของนักการตลาด, กลุ่มธุรกิจและนักลงทุนกันเป็นอย่างมาก นั่นก็เพราะ ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ตอนที่ Pinterest เปิดตัวจนกลายมาเป็นกระแสดังในปี 2011 นั้น เขาสามารถสร้าง ปรากฎการณ์ การตลาดโซเชียลมีเดีย ด้วยการสร้างสถิติใหม่จากการมีผู้เข้าชมสูงกว่าสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คที่มีความนิยมสูงในขณะนั้นอย่าง Linked In, Youtube และ Google+ ด้วยสถิติผู้ใช้งานมากถึง 11.7 ล้านคนต่อเดือน
นับเป็นการสร้างฐานลูกค้าที่เข้าชมได้เร็วที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ ทำให้ยอดมูลค่าทางการตลาดของเขาสูงกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้ง ๆ ที่ ณ เวลานั้นยังมีทีมงานอยู่เพียงแค่ 16 คนเท่านั้น ความสำเร็จในครั้งนั้นได้รับการการันตรีจาก Time Magazine เมื่อ Pinterest ขึ้นแท่นเป็น 1 ใน 50 lสุดยอดเว็บไซด์แห่งปี 2011 (50 Best Websites of the Year 2011) ค่ะ จนมาถึงวันนี้ ข้อมูลล่าสุดบอกว่าผู้ใช้งานผ่าน Pinterest ได้ทำการสร้างบอร์ดมาแล้วกว่า 750 ล้านบอร์ด หรือก็คือ มีการปักหมุดไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านครั้ง และถ้าจะลงลึกในรายละเอียดอีกนิดก็คือ เฉลี่ยในแต่ละวันมีการปักหมุดมากถึง 54 ล้านครั้งกันเลยทีเดียวค่ะ ความนิยมและความสดใหม่ของ Pinterest นำหน้าทิ้งห่างสื่อโซเชียลรุ่นแรกอย่าง Twitter ไปอย่างเหนือชั้นด้วยมูลค่าทางตลาดในปัจจุบันที่มากกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญ และยังได้รับการคาดประเมินว่าเฉพาะผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกาน่าจะมีมากกว่า 40 ล้านคนไปแล้ว เรียกได้ว่าวิ่งจี้มาติด ๆ ปิดรัศมีสื่อเดิมในตลาดอย่าง Instragram และ Twitter ไปได้แบบสวยใส ๆ จนตอนนี้ได้มีการเปิดสำนักงานเพิ่มขึ้นทั้งที่กรุงลอนดอน, กรุงปารีส, กรุงเบอร์ลิน และ กรุงโตเกียว สำหรับการทำตลาดเจาะในแต่ละโซนค่ะ
จุดเด่นของไอเดีย Pinterest ได้รับการอธิบายโดย Joanne Bradford ผู้อำนวยการฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ว่า
“การปักหมุดแต่ละครั้งล้วนมีความหมาย มันบอกว่า ฉันกำลังมองหาโอกาสที่จะเอาสิ่งนี้เข้ามาอยู่ในชีวิตของฉัน เหมือนเวลาที่คนเราฉีกหน้านิตยสารที่ชอบมาเก็บไว้”
ความน่าสนใจของ Pinterest กับแคมเปญการตลาดล่าสุดก็คือ การที่แบรนด์ดัง Topshop ร้านค้าปลีกรายใหญ่แห่งประเทศอังกฤษ ลงมาเล่นในสื่อ Pinterest เพื่อกระตุ้นยอดขายด้วยการให้ผู้ใช้งานติดแฮชแท็ก #DearTopshop กับ Pin ของ Topshop การปักหมุดสินค้าที่ผู้ใช้งานต้องการซื้อในอนาคตนั้น เท่ากับเป็นแนะแนวทางให้นักช้อปปิ้งคนอื่น ๆ มาเลือกชมสินค้าของทางร้านต่อไป หรือในกรณีตัวอย่างการใช้สื่อ Pinterest ของแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำ GAP ที่เปิดบอร์ดที่โชว์ภาพสินค้าของทางร้านไว้มากมาย แล้วก็ให้ผู้ใช้งาน Pinterest มาปักหมุดพร้อมแสดงความคิดเห็นลงบนการปักหมุดในแต่ละครั้ง โดยที่ทางร้านจะมาประกาศรายชื่อผู้ชนะประจำสัปดาห์แลกกับของรางวัล
ไม่เพียงแค่นั้น แต่ผู้ใช้งานยังสามารถโพสต์ Holiday Wish List ลงไปในหน้าบอร์ดของทางร้านได้อีกด้วย โดยระบบจะลิงค์ไปยัง GAP Facebook Page อัตโนมัติ นับเป็นก้าวแรกที่มีการโปรโมทแคมเปญการตลาดข้ามโซเชียล แพลตฟอร์มค่ะ ถ้าการวาง positioning ของ Facebook และ Twitter เหมือนกันคือการเป็นสื่อสังคมโซเชียลที่ช่วยเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน โดย
- Facebook นั้นใช้อดีตเป็นตัวขับเคลื่อน “อดีตของวันนี้ในความทรงจำ”
- ในขณะที่ Twitter นั้นเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่เลือกใช้การบอกเล่าเหตุการณ์ในปัจจุบันทันใจเป็นกลยุทธ์
- ส่วน Instragram ก็เน้นไปในด้านการชื่นชมผู้อื่น หรือ การบอกเล่าเรื่องราวใหม่ ๆ ผ่านรูปถ่าย
แต่ Pinterest คือปัจจุบันของการช้อปปิ้งรูปแบบใหม่ที่ให้ความเสมือนจริงในการเลือกซื้อสินค้า, ปักหมุดไว้รอเปรียบเทียบ หรือ รวบรวมไว้ก่อนเพื่อรอการตัดสินใจอีกครั้งในอนาคต และคอยดำเนินการกดปุ่มซื้อ จึงคล้ายกับว่าสื่อแต่ละรายมีจุดเด่นและจุดขายที่ต่างกัน แต่เป็นสื่อที่มีอยู่บนโลกสังคมออนไลน์เหมือนกันเท่านั้น
แต่คู่ปรับคู่แข่งที่แท้จริงของ Pinterest นั้นน่าจะเป็น Google ซะมากกว่า เพราะรายได้หลักรายได้เดียวที่ Pinterest หามาได้อย่างมหาศาลก็คือ โฆษณา
ด้วยรูปแบบของการใช้งานผ่าน Pinterest นั้นคือการที่ผู้ใช้มักจะโพสต์ลิงค์เชื่อมต่อไปยังหน้าสินค้า หรือ ร้านค้าที่ตนสนใจ และทำการซื้อผ่านระบบออนไลน์ ถ้า Pinterest ต้องการเป็นเจ้าตลาดด้านนี้ในอนาคต ก็จำเป็นต้องหาวิธีเบียดเจ้าใหญ่ยักษ์อย่าง Google ออกจากตลาดให้ได้เสียก่อน เพราะมีรูปแบบทางธุรกิจใกล้เคียงกันที่สุด ซึ่งก็คือการรวบรวมข้อมูลความต้องการและพฤติกรรมการเลือกหาสินค้าของผู้ใช้งานผ่านระบบ และนำข้อมูลที่ได้มาขายต่อให้กับนักการตลาดค่ะ Ben Silbermann ซีอีโอของ Pinterest นั้น อดีตเคยทำงานในตำแหน่งผู้เชี่ยงชาญด้านผลิตภัณฑ์ในส่วนงานโฆษณาของ Google เขาจึงค่อนข้างรู้และเข้าใจดีว่า ภายภาคหน้าเขาต้องพบกับอะไรบ้างถ้าคิดจะงัดกับ Google เพราะ Google นั้นก็เหมือนกับ อัลบั๊มเล่มใหญ่ที่รวบรวมรายการต่าง ๆ ไว้มากมาย
แต่นั่นเป็นเพียงเทคโนโลยีที่หมดสมัยไปแล้ว เพราะเทคโนโลยีของ Google จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ก็ต่อเมื่อผู้ใช้งานรู้แล้วว่าเขาต้องการมองหาอะไรในตอนนั้น ในทางตรงกันข้าม ช่างแตกต่างจากรูปแบบการทำงานของ Pinterest ที่จะเน้นไปที่ “เรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่คุณปรารถนาและอยากจะทำในอนาคต” คือคำกล่าวของ Ben Silbermann ต่อมุมมองของเขาที่มีต่อความหมายของ Pinterest ค่ะ