สำหรับคนบางคนที่ยังคงก้มหน้าก้มตาทำงานหาเงิน แต่ก็มีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายอยู่เหมือนเดิม แล้วก็ไปนั่งปลอบตัวเองว่า เงินไม่สำคัญหรอก เงินซื้อความสุขไม่ได้นะ นับเป็นคำสอนเชิงพุทธศาสนาที่ให้เราพึงพอใจต่อสิ่งที่มีอยู่ การมีเงินทองมากมายไม่ได้หมายความว่าชีวิตคุณจะมีความสุขมากกว่าคนอื่น ๆ ในโลก มีคนรวยหลาย ๆ คนที่ต้องมีชีวิตบนกองทองแบบโดดเดี่ยว ไม่มีคนรู้ใจนั่งห้อมล้อมทานอาหารอย่างจริงใจ แต่ในอีกด้านของโลกที่เราใช้ชีวิตกันอยู่ เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายต่อหลายสิ่งที่เราจำเป็นต้องใช้เพื่อดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ต้องใช้เงินซื้อหามาทั้งนั้น หากคุณไม่มีเงินออมบ้างเลย แล้วบอกว่าที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะคุณเล็งเห็นว่า เงินไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต ก็คงไม่จริงไปทั้งหมดนะคะ
แล้วคุณเองอยากรู้บ้างหรือเปล่าว่าคนรวยเขามีคติสอนใจ หรือ มีมุมมองต่อการใช้เงินอย่างไรกันบ้าง
ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ของ CNBC คุณ Warren Buffett มหาเศรษฐีและนักธุรกิจที่ร่ำรวยเป็นอันดับสองของโลกได้แบ่งปันมุมมองของเขาเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจค่ะ เขาเล่าว่าเขาเริ่มซื้อหุ้นครั้งแรกตั้งแต่ตัวเขาอายุ 11 ขวบ และเขาคิดว่าเขาน่าจะเริ่มเล่นหุ้นให้เร็วกว่านี้ เขาจึงมองว่า เราควรส่งเสริมให้ลูกหลานของเราเรียนรู้การลงทุนตั้งแต่เล็ก ๆ ค่ะ คุณวาร์เรนยังได้เล่าให้ฟังอีกด้วยว่า เมื่ออายุ 14 ปีเขาก็สามารถซื้อฟาร์มขนาดเล็กของตัวเองได้แล้ว โดยนำเงินออมที่ได้จากการส่งหนังสือพิมพ์มาซื้อ ดังนั้น ไม่ว่าคุณหรือใครก็สามารถเป็นเจ้าของสิ่งที่ต้องการได้ถ้ารู้จักออมเงิน และเราควรสอนให้ลูกหลานของเราหัดทำธุรกิจเล็ก ๆ ตามกำลังของเขาค่ะ แม้ว่าขณะนี้คุณวาร์เรนจะร่ำรวยมหาศาล แต่เขาก็ยังคงยึดบ้านที่เขาซื้อเอาไว้เมื่อ 50 ปีที่แล้วเป็นที่อยู่อาศัย เพราะเขามองว่าคนเราไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าสิ่งของจำเป็นที่เราใช้อยู่ทุกวัน จึงไม่จำเป็นต้องหมดเงินกับสิ่งที่เราไม่ได้ต้องการจริง ๆ ค่ะ และเมื่อคุณคิดได้อย่างนี้ ก็จงสอนและเป็นแบบอย่างให้ลูกหลานของคุณ ๆ ด้วย
เป็นที่ทราบกันดีว่า คุณวาร์เรน นั้นเป็นเศรษฐีจากการทำธุรกิจเครื่องบินเจ็ทส่วนบุคคล แต่คงไม่มีใครรู้ว่าเขาไม่คิดจะมีเครื่องบินส่วนตัวไว้ใช้เองเลยสักลำ ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ที่ว่า เขาคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะทำงานอย่างไรให้สำเร็จและใช้เงินให้คุ้มค่ามากที่สุด และแม้ว่าวันนี้บริษัทและกิจการที่เขาเป็นเจ้าของจะมีมากถึง 63 บริษัท แต่เขาเลือกที่จะเขียนจดหมายบอกถึงเป้าประสงค์ที่เขาต้องการในแต่ละปี และส่งตรงให้กับประธานบริษัทฯแต่ละแห่งเพียงปีละครั้ง ต่อจากนั้น เขาก็ไม่เคยคิดจะไปร่วมประชุม หรือ โทรศัพท์สอบถามความคืบหน้าใด ๆ จากประธานบริษัทฯเหล่านั้นอีกเลย เพราะเขามองว่า เมื่อเรามอบหมายงานที่ชัดเจนให้กับคนที่เหมาะสมเรียบร้อยแล้ว ก็เหมือนกับ วางคนได้ตรงกับงาน ดังนั้นก็ไม่มีอะไรต้องกังวลอีกค่ะ เริ่ดมาก ๆ ค่ะ พูดเลย แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งคือกฎเหล็กที่คุณวาร์เรนวางไว้เป็นหลักให้กับประธานบริษัทฯของเขาก็คือ กฎเหล็กข้อที่หนึ่ง อย่าทำเงินของผู้ถือหุ้นสูญสลาย และกฎเหล็กข้อที่สองคือ อย่าลืมทำตามกฎข้อที่หนึ่ง ค่ะ ซึ่งหมายความว่า เราต้องชี้เป้าหมายให้ชัดเจน ตรงประเด็น แล้วก็เน้นย้ำให้ทุกคนมองไปที่เป้าเดียวกันกับเรา โดยปกติแล้ว คุณวาร์เรนไม่ค่อยชื่นชอบงานสังคมที่มีคนมากมายจอแจ เขาจึงมักจะเลือกที่จะตรงกลับบ้านและลงมือทำป็อบคอร์นกินพร้อมกับนอนดูทีวีเพลิน ๆ มากกว่าค่ะ ดังนั้น คุณเองก็เช่นกัน เราไม่ต้องไปโอ่อวดหรือเป็นในแบบของใคร เป็นตัวของตัวเองและให้ความสุขในสิ่งที่เราชอบตามแบบฉบับของเรานั้นดีที่สุดค่ะ
อีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนบุคลิกนี้ของวาร์เรนได้เด่นชัดก็คือ วาร์เรนยังคงขับรถคันเก่าของเขาไปตามสถานที่ต่าง ๆ และเขาไม่เคยจ้างพนักงานขับรถ หรือ พนักงานรักษาความปลอดภัยมาคอยติดตาม เพราะนี่คือชีวิตในสไตล์ของเขา และ เขาคิดว่าการเป็นตัวของตัวเองนั้นดีที่สุดค่ะ
เมื่อถูกถามว่าเขาอยากจะสอนหรือฝากแง่คิดอะไรให้กับคนรุ่นใหม่บ้างหรือเปล่า วาร์เรนก็ให้คำแนะนำที่ดีและควรค่าแก่การนำไปใช้ไปต่อยอดว่า “อยู่ให้ไกลจากบัตรเครดิต หรือ การเป็นหนี้ธนาคารเด็ดขาด” อย่างที่เรารู้กัน การใช้บัตรเครดิตก็คือการนำเงินในอนาคตมาใช้ แล้วถ้าคุณเพลินกับการรูดบัตรไปเรื่อย ๆ เงินที่หามาได้น้อยกว่าเงินที่ใช้จ่ายออกไป หนี้สินก็จะพอกติดขา คุณจะลงทุนทำอะไรได้หล่ะคะ และสิ่งที่วาร์เรนสอนอีกอย่างก็คือ “นำเงินมาลงทุนกับตัวเอง” เพราะเมื่อคุณมีความรู้ไม่ว่าทางใดก็ตาม คุณก็จะมีอาชีพพอเลี้ยงดูตัวเอง และการลงทุนกับตัวเองไม่มีคำว่าขาดทุนหรอกค่ะ “อย่าใช้สิ่งของแบรนด์เนม แต่ให้เลือกใช้ของที่เป็นตัวคุณเอง” การนำเงินที่หามาได้ไปจมกับสินค้าแฟชั่นก็เหมือนจุดไฟเผาเงินของคุณ ยิ่งถ้าเป็นสิ่งของที่เป็นกระแสแฟชั่น เมื่อหมดเทรนด์คุณก็ต้องไล่ตามใหม่ จะดีกว่าหรือเปล่า ถ้าสวมใส่เสื้อที่เป็นเราและใส่สบาย ๆ ไม่ต้องไล่ตามใครเขา