แน่นอนว่าเมื่อเรามีลูกแล้วเราจำเป็นต้องเริ่มวางแผนการเงินและวางแผนอนาคตของทั้งเราที่เป็นแม่และลูกน้อย โดยเฉพาะเมื่อเราเป็น Single mom ซึ่งการเลี้ยงลูกและสร้างอนาคตให้ลูกนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดังนั้นเรายิ่งต้องวางแผนการใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดี ทำประกันให้ลูก เพื่อสร้างรากฐานที่ดีในอนาคตนั่นเอง
หลักการง่ายๆที่เราใช้กันเพื่อสร้างการเงินในปัจจุบันให้ดี นั่นคือ การลดรายจ่ายที่เคยจ่ายและสร้างรายได้เสริม และในวันนี้เราจะมาพูดถึงการเงินสำหรับอนาคตกัน ใครที่อยากวางแผนอนาคตที่ดีให้กับลูกน้อยลองมาดูวิธีที่เราแนะนำกันดูนะคะ
เพราะอะไรเราถึงต้องสร้างการเงินในอนาคตให้ลูกกัน
เหตุผลข้อแรกคือ เราต้องใช้เงินในการดำรงชีวิต แน่นอนอยู่แล้วว่าปัจจัยพื้นฐานทั้ง 4 ข้ออย่าง ที่อยู่อาศัย อาหาร ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม นั้นต้องใช้เงินไปแลกมาทั้งสิ้น ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ และเหตุผลที่สองคือ เราไม่ได้อยู่กับลูกตลอดไป ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าเราจะสามารถอยู่กับลูกได้จนถึงวันที่ลูกสามารถดูแลตัวเองได้ ดังนั้นการวางแผนทางการเงินในอนาคตให้ลูกน้อยจึงเป็นสิ่งสำคัญนั่นเอง และการลงทุนทางการเงินในอนาคตเพื่อลูกนั้นมีวิธีการลงทุนมากมาย ยกตัวอย่างเช่น
การสร้างบัญชีเงินฝากเป็นชื่อลูก
การสร้างบัญชีเงินฝากให้เป็นชื่อลูกนั้น เป็นวิธีการที่หลายคนชอบทำ โดยคนที่จำเงินออกมาใช้ได้นั่นก็คือลูกของเรานั่นเอง ซึ่งเราอาจจะฝากให้ลูกด้วยและฝึกให้ลูกอดออมเงินค่าขนมเพื่อนำมาฝากในบัญชีนี้ เมื่อลูกโตจนพอรู้ความก็ได้เช่นกัน ซึ่งการฝากเงินไว้ในบัญชีแบบนี้เรายังได้รับดอกเบี้ยเงินฝากอีกด้วย
ซึ่งดอกเบี้ยพวกนี้ก็จะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของการเปิดบัญชี เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์จะมีดอกเบี้ยน้อยกว่าบัญชีเงินฝากแบบประจำ ซึ่งบัญชีเงินฝากแบบประจำที่มีระยะเวลากำหนดมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีดอกเบี้ยมากขึ้นเท่านั้น โดยคุณจะต้องฝากเงินเข้าในบัญชีของลูกเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วทางธนาคารจะกำหนดให้เขาสามารถถอนเงินออกมาใช้เองได้ก็เมื่อมีอายุครบ 20 ปี ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นคุณก็คงจะมีเงินเก็บไว้ให้กับลูกน้อยของคุณมากพอสมควรแล้วล่ะ
การทำประกันชีวิตของเราและของลูก
การทำประกันชีวิตเป็นเหมือนกับการเปิดบัญชีเงินฝากแบบประจำซึ่งเราได้รับการคุ้มครองทางสุขภาพแถมมาด้วย ซึ่งในกรณีของการทำประกันชีวิตนั้นจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไปตามชนิดของประกันชีวิตนั่นเอง ดังนั้นก่อนจะเลือกชนิดของประกันชีวิต เราต้องศึกษาความเสี่ยงและข้อมูลต่างๆให้ดีด้วย ตัวอย่างรูปแบบของประกันชีวิต
1. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
เหมาะกับผู้ที่ต้องการสะสมทรัพย์และการคุ้มครองในชีวิตและทรัพย์สินไปพร้อมกันๆ ซึ่งเราจะได้รับเงินเอาประกันคืนเมื่อส่งเงินประกันครบและมีชีวิตอยู่จนครบตามอายุสัญญาของประกันชีวิตนั่นเอง หรืออาจจะจ่ายเงินเอาประกันแก่ผู้ที่ได้รับระบุว่าเป็นผู้รับผลประโยชน์(ในที่นี้คือลูกของเรา)เมื่อเจ้าของสัญญาประกันชีวิตนั้นเสียชีวิตลง
2.ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
เหมาะกับผู้ที่การคุ้มครองในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งตัวประกันจะทำการคุ้มครองตลอดชีวิตของผู้ถือประกัน โดยจ่ายเบี้ยประกันต่ำ และจะจ่ายเงินเอาประกันให้แก่ผู้ที่ได้รับระบุว่าเป็นผู้รับผลประโยชน์เมื่อเราหรือผู้ถือสัญญาประกันชีวิตนั้นเสียชีวิตลง
3.ประกันชีวิตแบบชั่วคราว
เหมาะกับผู้ที่ต้องการสะสมทรัพย์และการคุ้มครองในชีวิตและทรัพย์สิน โดยจ่ายเบี้ยประกันต่ำ โดยอายุของการคุ้มครองนั้นจะมีระยะเวลาสั้นๆ และจ่ายเงินเอาประกันเมื่อครบอายุประกันเท่านั้น
การเล่นหุ้น
การเล่นหุ้นอาจจะเป็นทางเลือกสำหรับคนที่มีทุนอยู่สักก้อนหนึ่ง และมีเวลามากพอที่จะติดตามการเคลื่อนไหวของหุ้น ซึ่งการเล่นหุ้นอาจจะเป็นการลงทุนที่ความเสี่ยงสูงกว่าการสร้างบัญชีเงินฝากและการทำประกันชีวิตอยู่บ้าง ดังนั้นใครที่ไม่เคยลงทุนในหุ้นมาก่อน อาจจะต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างมากทีเดียว แต่หุ้นบางประเภทเราอาจจะถือไว้เพื่อรอปันผลก็ได้เช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตามหากคิดจะลงทุนกับการเล่นหุ้นล่ะก็ จะต้องเรียนรู้และวิเคราะห์หุ้นให้เป็น พร้อมกับเตรียมตัวรับมือกับความเสี่ยงของการเล่นหุ้นเสมอ และที่สำคัญไม่ควรลงทุนมากเกินไปหากยังไม่มั่นใจว่าราคาหุ้นจะพุ่งสูงขึ้นหรือพุ่งต่ำลงนั่นเอง
การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ
การลงทุนในหลักทรัพย์อื่นๆ ยกตัวอย่าง เช่น บ้าน ทองคำ แชร์ เป็นต้น ซึ่งการลงทุนเหล่านี้อาจจะมีความแตกต่างกันออกไปทั้งวิธีการลงทุนและผลตอบแทนนั่นเอง แต่ไม่ว่าจะลงทุนอะไร ขึ้นว่าลงทุนแล้วก็ย่มมีความเสี่ยงเสมอ ดังนั้นอย่าลืมเตรียมตัวที่จะรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยนะ
หากคุณอยากให้อนาคตของลูกน้อยเป็นไปด้วยดีและเป็นไปอย่างมีความสุขแล้วล่ะก็ อย่าลืมประกันอนาคตให้กับเขาด้วยนะคะ โดยเฉพาะคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว การประกันอนาคตให้ลูกน้อยตั้งแต่ยังเล็กจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เขามีชีวิตที่สุขสบายเมื่อโตขึ้นได้ อีกทั้งการทำประกันยังเป็นสิ่งที่สำคัญอีกด้วยนะ ซึ่งไม่เพียงแต่ลูกน้อยของคุณเท่านั้นแต่ตัวคุณแม่เองก็ควรที่จะทำประกันด้วยนะคะ