ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไปหรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกำหนดและมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด ปกติจัดเก็บเป็นรายปี โดยรายได้ที่เกิดขึ้นในปีใดๆ ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตนเองตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนดภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป
สำหรับผู้มีเงินได้บางกรณี กฎหมายกำหนดให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ใช้เสียภาษีตอนครึ่งปีสำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีที่ต้องชำระและเงินได้ และในบางกรณีกฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ที่จ่ายบางส่วน เพื่อให้มีการทยอยชำระภาษีขณะที่มีเงินได้เกิดขึ้นอีกด้วย
ใครบ้างที่มีหน้าที่เสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ผู้มีหน้าที่เสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็คือผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมา โดยอาจจะเป็นบุคคลทั่วไป ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล(ที่ไม่ใช่นิติบุคคล) ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง หรือวิสาหกิจชุมชนก็ได้ค่ะ
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องทำอะไรบ้าง
- ก่อนอื่นการเสียภาษีต้องมีหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอาการก่อน ซึ่งผู้มีเงินได้สามารถใช้หมายเลขประจำตัวประชาชนแทนเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรได้เลย
- ผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร สามารถยื่นคำร้อง ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้ง 30 แห่ง หรือสำนักสรรพากรพื้นที่สาขาในอำเภอทุกแห่ง
- สำหรับในต่างจังหวัด สามารถยื่นคำขอได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ของจังหวัดและสำนักงานสรรพากร พื้นที่สาขาในอำเภอทุกแห่ง
- กรณีเป็นผู้มีเงินได้ที่ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน ได้แก่ เป็นคนต่างด้าว หรือกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ให้ขอหมายเลขและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีเงินได้เกิดขึ้น
- ยื่นแบบแสดงรายการ โดยปกติปีละ 1 ครั้ง เงินได้ของปีใดก็ยื่นแบบฯ ภายในวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป ยกเว้นเว้นแต่เงินได้บางลักษณะที่จะต้องยื่นแบบฯตอนกลางปีสำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นใน 6 เดือนแรก ภายในเดือนกันยายนของทุกปี โดยผู้ยื่นชำระภาษีจะต้องไปชำระภาษีก่อนวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี
เงินได้อะไรบ้างที่ต้องเสียภาษี
ตามกฎหมาย เงินได้ที่ต้องเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เรียกว่า “เงินได้พึงประเมิน” หมายถึง เงินได้ของบุคคลใดๆ หรือหน่วยภาษีใด และเนื่องจากผู้มีเงินได้ประกอบอาชีพแตกต่างกัน เพื่อความเป็นธรรม กฎหมายจึงได้แบ่งลักษณะเงินได้พึงประเมิน ออกเป็นกลุ่มๆ ตามความเหมาะสมเพื่อกำหนดวิธีคำนวณภาษีให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด ดังนี้
- เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง เงินค่าเช่าบ้านที่นายจ้างให้ เงินที่คำนวณได้จากการอยู่บ้านนายจ้างโดยไม่เสียค่าเช่า รวมไปถึงทรัพย์สินที่ได้จากการจ้างแรงงาน ซึ่งหากประเมินแล้วถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ก็ต้องทำการเสียภาษีตามที่เขากำหนด
- เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็น ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินสนับสนุน เบี้ยประชุม เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำจากการรับทำงานให้นั้น ทั้งประจำและชั่วคราว
- ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น หรือเงินได้ที่มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรม หรือคำพิพากษาของศาล
- ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น เป็นต้น
- เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่น ที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน หรือการผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน
- เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป สถาปัตยกรรม ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งมีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้
- เงินได้จากการรับเหมา ที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระที่นอกเหนือจากเครื่องมือ ซึ่งจะต้องเสียภาษีให้กับรัฐด้วย
- เงินได้จากการเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นที่อยู่นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในข้อ 1 ถึงข้อ 7 หากรายได้ทีได้จากเงินได้นั้นๆ ถึงเกณฑ์กำหนดชำระภาษี ก็ต้องจ่ายภาษีด้วยนั่นเอง
แล้วคุณล่ะมีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษีหรือยัง ลองสำรวจตัวเองดูนะคะว่าจากที่เรากล่าวมามีข้อไหนตรงกับคุณบ้าง หากต้องเสียภาษีก็ควรเสียให้ตรงเวลาครบตามจำนวนที่กำหนด ไม่ควรหนีภาษีเป็นอันขาดนะคะ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้
อย่าลืมนะคะเมื่อต้องเสียภาษีควรไปเสียภาษีให้ตรงเวลาตามที่รัฐกำหนด หรือหากไม่อยากเสียภาษีมากเกินไปก็อาจจะลดหย่อนภาษีลงก็ได้ ซึ่งก็มีวิธีการลดหย่อนภาษีอยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น การทำประกัน การเข้าร่วมกองทุน หรืออื่นๆ ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ นอกจากนี้สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งถึงเกณฑ์เสียภาษี อาจจะลองหาข้อมูลเกี่ยวกับภาษีให้มากกว่านี้ก่อนก็ดีนะ ลองศึกษาให้ลึกซึ้งเพราะอาจจะไม่อีกมากมายเลยล่ะที่คุณยังไม่รู้เกี่ยวกับการเสียภาษี
เอาเป็นว่าบทความนี้เราพูดถึงการเสียภาษีและผู้ที่ต้องเสียภาษีกันก่อนเนอะ ใครที่อยากรู้ข้อมูลภาษีมากกว่านี้ก็ลองเจาะลึกถึงเรื่องของภาษีกันดูนะคะ